ผลสำรวจของกันตาร์เผยคนเอเชียวิตกเรื่องสุขภาพทางการเงินมากกว่าสุขภาพกาย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วเอเชีย แต่สิ่งที่คนเอเชียวิตกกังวลมากที่สุดไม่ใช่การเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เป็นผลกระทบจากไวรัสที่มีต่อสุขภาพทางการเงินของตนเอง นี่คือสิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาล่าสุดของกันตาร์ (Kantar) บริษัทที่ปรึกษาและจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกชั้นนำระดับโลก โดยในขณะที่ตลาดการเงินทั่วโลกดิ่งลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลก คนเอเชีย 60% รู้สึกกังวลเรื่องความมั่นคงทางการเงิน รองลงมา 46% กังวลเรื่องการติดไวรัส โดยความกลัวว่าจะติดไวรัสมีระดับสูงสุดในญี่ปุ่น (68%) ขณะที่คนเอเชียกว่าหนึ่งในสาม (34%) กลัวว่าไวรัสโควิด-19 อาจฉุดเศรษฐกิจเข้าใกล้ภาวะถดถอย โดยชาวเกาหลีกังวลมากที่สุดเรื่องสุขภาพทางการเงินของตนเอง (77%) และการตกงาน (61%)

ผู้บริโภคชาวเอเชียเกือบครึ่งหนึ่ง (48%) "กังวลอย่างยิ่ง" เกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ในชีวิตประจำวัน และแน่นอนว่าคนที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสมากที่สุดย่อมรู้สึกกังวลมากที่สุด โดยชาวเกาหลี 75% และชาวญี่ปุ่น 60% มีความวิตกกังวลและรู้สึกว่าชีวิตได้รับผลกระทบ ด้านความไว้วางใจในวิธีการที่รัฐบาลใช้รับมือกับวิกฤตอยู่ในระดับต่ำมากในเกาหลี (39%) และญี่ปุ่น (9%) ในทางตรงกันข้าม สิงคโปร์มีผู้ที่วิตกกังวลเพียง 33% และชาวสิงคโปร์ 78% ไว้วางใจวิธีการที่รัฐบาลใช้รับมือกับวิกฤต

การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม 3,000 คนในอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย รวมถึงข้อมูล Panel Data และการวิเคราะห์โซเชียลมีเดียในเชิงลึก เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของไวรัสที่มีต่อทัศนคติและพฤติกรรมของคนทั่วเอเชีย

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ของกันตาร์ยังครอบคลุมการประเมินราคาหุ้นของบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 100 แห่งทั่วเอเชีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีบริษัทเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่สามารถเพิ่มมูลค่าของตนเองนับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มสั่นคลอนเสถียรภาพทั่วภูมิภาค ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคและตลาดต่างตื่นตระหนกกับภัยคุกคามทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากไวรัสโควิด-19 เห็นได้จากการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงเอเชียร่วงลงหนักขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่วันมานี้

เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต

การศึกษาครั้งนี้เผยให้เห็นว่า คนเอเชียกำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงจากไวรัสโควิด-19 สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือการท่องเที่ยว โดยคนเอเชีย 59% ตัดสินใจเดินทางให้น้อยลงเพื่อความปลอดภัย ตามมาด้วย 52% ที่ออกไปกินอาหารนอกบ้านน้อยลง และ 52% ที่หลีกเลี่ยงการเข้าสังคมนอกบ้าน นั่นหมายความว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่บ้านมากขึ้น โดย 42% สตรีมคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ 33% นัดสังสรรค์กันที่บ้าน และ 30% สั่งอาหารมากินที่บ้าน

พฤติกรรมการจับจ่ายของคนเอเชียก็เปลี่ยนไปเพราะภัยคุกคามจากไวรัสเพิ่มมากขึ้น โดยพฤติกรรมที่เด่นชัดที่สุดคือ "การซื้อด้วยความตื่นตระหนก" ในหลายประเทศ โดยราวหนึ่งในสาม (30%) กังวลว่าจะขาดแคลนข้าวของจำเป็น จึงซื้อของมากกว่าปกติ ส่งผลให้ของหลายอย่างขายหมดเกลี้ยง สถานการณ์นี้รุนแรงที่สุดในญี่ปุ่น โดยคนญี่ปุ่น 64% ยอมรับว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว

การศึกษาครั้งนี้ยังเผยให้เห็นถึงพฤติกรรมการช็อปปิงออนไลน์ในเอเชียที่เพิ่มขึ้น 32% ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคต้องการหลีกเลี่ยงฝูงชนและซื้อสินค้าที่หาไม่ได้ตามร้านค้า โดยชาวเกาหลีมีพฤติกรรมการช็อปปิงออนไลน์เพิ่มขึ้นมากที่สุด (41%) ทั้งนี้ ร้านค้าออนไลน์และบริการสั่งอาหารเดลิเวอรีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่งผลให้ผู้ค้าจำนวนมากต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับอุปสงค์ที่เข้ามา ในทางตรงกันข้าม การซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลีกลดลง 35% ในช่วงเวลาดังกล่าว

สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสุขอนามัยมียอดซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดย 48% เผยว่าซื้อสินค้าสุขอนามัยส่วนบุคคลมากขึ้น เช่น หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ขณะที่ 45% ซื้อสินค้าสุขภาพและโภชนาการมากขึ้น เช่น วิตามิน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และ 40% ซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีจำนวนลดลง (30%) ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส นอกจากนั้น ผู้ที่ซื้อสินค้าหรูก็ลดลง (27%) รวมถึงผู้ที่ซื้อเนื้อและอาหารทะเลก็ลดลง (21%)

ผลการศึกษาตอกย้ำว่าไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ "ปลอดภัย" โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมองหาสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและสุขอนามัย เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับไวรัส ด้านผู้ประกอบธุรกิจประกันก็ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ครอบคลุมสุขภาพและสุขอนามัยในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้

เอเดรียน กอนซาเลซ ซีอีโอประจำเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก บริษัทกันตาร์ กล่าวว่า "ในขณะที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นทั่วโลก ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นถึงขอบเขตของผลกระทบที่มีต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งต่างตื่นกลัวและทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย หลายคนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการซื้อสินค้า และบางคนยอมรับว่าซื้อด้วยความตื่นตระหนก แต่สิ่งที่ผู้คนกังวลมากที่สุดก็คือ ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อความมั่นคงทางการเงิน เนื่องจากมีแนวโน้มว่าไวรัสจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพเศรษฐกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอีก นั่นคือ ทางเลือกของหลายคนอาจต้องเปลี่ยนไปอีกหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง สำหรับการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของความไว้วางใจ ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์กำลังตื่นตัวอย่างมากหลังจากที่มีการประกาศเตือนภัยระดับ "สีส้ม" แต่ประชาชนดูเหมือนไม่ค่อยกังวลเพราะไว้วางใจว่ารัฐบาลรับมือได้ เช่นเดียวกับการซื้อสินค้า ประชาชนก็มองหาแบรนด์และแหล่งสินค้าที่ไว้วางใจ เพื่อตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้ออะไร"

สเตฟาน อัลเพิร์น หุ้นส่วนผู้จัดการประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท กันตาร์ คอนซัลติ้ง กล่าวเสริมว่า "ผู้คนไม่ได้หวังว่าทุกแบรนด์จะต้องกอบกู้โลก แต่อย่างน้อยก็ต้องสร้างคุณค่าอย่างแท้จริง มีความรับผิดชอบ และทำสิ่งที่ถูกต้องต่อชุมชนรวมถึงพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารยูโอบี (UOB) ในสิงค์โปร์ ได้จัดสรรเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และ SME ส่วนทางด้านแกร็บ (Grab) ได้ให้บริการ 24 ชั่วโมงเพื่อรับ-ส่งบุคลากรทางการแพทย์ การแก้ปัญหาที่สามารถแก้ได้ทำให้การกระทำของแบรนด์เหล่านี้ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ"

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

เกี่ยวกับการศึกษา

การศึกษาครั้งนี้ [https://go.tnsglobal.com/covid-19-impact-asians-financial-health] อิงข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ผู้บริโภคอายุ 18-60 ปี จำนวน 3,000 คน ใน 6 ประเทศทั่วเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี ญี่ปุ่น และไทย รวมถึงการลงพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2563 นอกจากนั้นยังมีการใช้ข้อมูลแบบ Panel Data และการวิเคราะห์โซเชียลมีเดียระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ทำให้การสำรวจสมบูรณ์ สามารถดาวน์โหลดอินโฟกราฟิกได้ที่ https://www.tnsglobal.com/sites/default/files/COVID-19%20NASEAP%20Infographic%202020_0.pdf

เกี่ยวกับกันตาร์

กันตาร์ คือบริษัทที่ปรึกษาและจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกชั้นนำระดับโลก เรามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและรอบด้านเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้คนคิด รู้สึก และกระทำ ในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ การผนวกความเชี่ยวชาญของบุคลากรของเรา แหล่งข้อมูลและมาตรฐานของเรา รวมถึงการวิเคราะห์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยของเรา ช่วยให้ลูกค้าของเราเข้าใจคนและสามารถผลักดันธุรกิจให้เติบโต


ข่าวผู้ติดเชื้อ+การเดินทางวันนี้

สคร.12 สงขลา แนะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ลดป่วยรุนแรง และเสียชีวิต ยึดหลัก "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด"

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา แนะนำประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ลดการเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิต พร้อม ยึดหลัก "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จากรายงานสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ ของกรมควบคุมโรค พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แนะนำประชาชนควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต พร้อมเน้นย้ำให้ดูแลสุขภาพ ยึดหลัก "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" ป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่ เป็น

นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักก... รร.สังกัด กทม. ส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา-ยอมรับความหลากหลายทางเพศ — นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงการส่งเ...

กทม. เน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล-เฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคไอกรนในสถานศึกษา

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีพบการระบาดของโรคไอกรนในนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตปทุมวันว่า สนอ. ได้รับรายงานผู้ป่วยยืนยันไอกรนจากโรงพยาบาลจำนวน 1 ราย ...

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำน... รพ. สังกัด กทม. เตรียมพร้อมเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง หากพบผู้ต้องสงสัยให้แยกกักตัวทันที — นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าว...

สังเกตไหมว่าช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ คน... Beko แชร์เทคนิคผ้าสะอาดปลอดฝุ่น ปลอดโรคฝ่าภัยสุขภาพในวันที่อากาศแปรปรวน — สังเกตไหมว่าช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ คนรอบตัวทยอยป่วยกันเยอะมาก เพราะสภาพอากาศ...

สภาพอากาศและความชื้นจากฝนที่ตกหนักอย่างต่... ทำไมประชากรกลุ่มเสี่ยงจึงเปราะบาง? เตรียมความพร้อมเพื่อดูแลคนที่คุณรัก — สภาพอากาศและความชื้นจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในฤดูกาลนี้ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคั...