โรคเสี่ยงๆ ของต่อมลูกหมาก เรื่องไม่ลับของชายสูงวัย

06 Dec 2019
ผู้ชายเมื่อเข้าช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป มักจะมีแนวโน้มความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม ที่พบได้บ่อยคือ ความผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะ LUTS (lower urinary tract symptoms) อาการปัสสาวะกลั้นไม่ค่อยอยู่หรือโอเอบี อาการกระเพาะปัสสาวะไวเกิน ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ ร้ายแรงไปจนถึงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้น การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ
โรคเสี่ยงๆ ของต่อมลูกหมาก เรื่องไม่ลับของชายสูงวัย

นพ.ดำรงพันธุ์ วัฒนะโชติ ผู้อำนวยการศูนย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ปัญหาความผิดปกติทางด้านสุขภาพเพศชายย่อมมีมากขึ้นตามมา ทั้งนี้ ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) คือ อวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์และระบบปัสสาวะของเพศชาย มีหน้าที่ในการสร้างน้ำหล่อลื่นที่อยู่ในน้ำอสุจิ และช่วยปกป้องสารพันธุกรรม(DNA)ของอสุจิ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะล้อมรอบท่อปัสสาวะที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ ไปบีบท่อปัสสาวะให้แคบลง จนส่งผลถึงระบบปัสสาวะได้ ปัญหานี้พบในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป และในผู้ชายสูงวัยอายุ 80 ปีขึ้นไปจะพบมากถึง 80% คนไข้จะมีอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือต้องใช้แรงเบ่งปัสสาวะนาน หากไม่รักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

ขณะที่โรคของต่อมลูกหมากในผู้ชายที่ถือเป็นอันตรายอีกโรคหนึ่งคือ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก พบในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป(พบได้บ่อยในผู้ชายอายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปี) สาเหตุของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ 1)อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสูงขึ้น 2)พันธุกรรม คนที่มีพ่อหรือพี่น้อง (บุคคลในครอบครัวสายตรง) เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 3 เท่า 3)เชื้อชาติ โรคนี้พบได้มากในกลุ่มชายชาวตะวันตกทั้งในยุโรปและอเมริกา ในขณะที่ชาวเอเชียจะพบได้น้อยกว่า 4)อาหาร คนที่ชอบบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงหรืออาหารประเภทเนื้อแดงต่อเนื่อง บริโภคผักและผลไม้น้อย 5)การสูบบุหรี่ 6)ความอ้วน เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้จะพบได้มากในคนอ้วน และมักจะเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงและรักษาได้ยากกว่าคนที่ไม่อ้วน เป็นต้น อาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมักลุกลามช้า เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มต้น แต่หากมะเร็งขยายตัวมากขึ้นเป็นก้อนใหญ่จนไปกดทับท่อปัสสาวะ อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นได้ เช่น ถ่ายปัสสาวะลำบาก รู้สึกเหมือนถ่ายปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะบ่อยๆ หากเป็นมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายไม่ออก บางรายอาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด โดยระยะของโรคแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้น ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ตรวจไม่พบก้อนเนื้อจากการคลำผ่านทางทวารหนัก ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อย และคลำพบผ่านทางทวารหนัก ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งมีการลุกลามออกนอกต่อมลูกหมากไปยังอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งลุกลามเข้ากระเพาะปัสสาวะ และ/หรือลำไส้ตรง และ/หรือเนื้อเยื่อในช่องท้องน้อย และ/หรือต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่นๆ

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากทำได้โดย 1)การซักประวัติอาการและการตรวจร่างกาย 2)การตรวจทางทวารหนักเพื่อคลำหาก้อนมะเร็ง (Digital rectal examinarion - DRE) เนื่องจากต่อมลูกหมากอยู่ติดกับทวารหนัก แพทย์จึงสามารถสวมถุงมือแล้วใช้นิ้วสอดเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่างและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก ซึ่งในรายที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะพบต่อมลูกหมากเป็นก้อนแข็งหรือขรุขระ 3)การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง PSA (Prostate specific antigen (PSA)test) 4)การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Transrectal ultrasound - TRUS) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียง ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือสำหรับตรวจสอดเข้าทางทวารหนักไปยังตำแหน่งของต่อมลูกหมากเพื่อช่วยในการหาตำแหน่งของก้อนเนื้อ ในรายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจากการตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่าง แพทย์จะตรวจวิเคราะห์ต่อไปว่าเซลล์มะเร็งดังกล่าวน่าจะมีการแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด 5)การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการตรวจที่ช่วยประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งออกนอกต่อมลูกหมาก 6)การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการตรวจที่ช่วยประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองได้ เป็นต้น

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากประกอบไปด้วย 1)การผ่าตัด 2)การใช้รังสีรักษา 3)การให้ยาเคมีบำบัด และ4)การรักษาด้วยฮอร์โมน ทั้งนี้ แนวทางในการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคว่าเป็นมะเร็งที่มีการลุกลามช้าหรือเร็ว รวมถึงระยะของโรคเป็นสำคัญ ขณะที่ผลการรักษาก็ขึ้นอยู่กับระยะของโรคเช่นกัน และปริมาณของสารบ่งชี้มะเร็ง (PSA) การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง รวมถึงอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ดังนั้น การดูแลตนเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ และเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว ควรติดตามการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากมักลุกลามช้า การรีบเข้ารับการบำบัดรักษาจะทำให้สามารถควบคุมโรคได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาว ผู้ป่วยสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติและควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี ไม่ว่าจะเป็น 1)รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ 2)ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเองอย่างน้อยสัปดาห์ละ5 วัน 3)พักผ่อนให้เพียงพอ 4)ควรหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำเพื่อช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด

โรคเสี่ยงๆ ของต่อมลูกหมาก เรื่องไม่ลับของชายสูงวัย โรคเสี่ยงๆ ของต่อมลูกหมาก เรื่องไม่ลับของชายสูงวัย
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit