บีโอไอ เดินหน้าเปิดหลักสูตร TOISC รุ่น 18 ชวนนักลงทุนไทยรุกลงทุนต่างประเทศ

10 Jan 2020
บีโอไอ เตรียมเปิดหลักสูตร "สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ (TOISC)" รุ่น 18 เดือนมีนาคมนี้ ดึงนักลงทุนไทยศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMVI และเอเชียใต้ พร้อมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ หนุนสร้างเครือข่ายขยายการลงทุนต่างแดน
บีโอไอ เดินหน้าเปิดหลักสูตร TOISC รุ่น 18 ชวนนักลงทุนไทยรุกลงทุนต่างประเทศ

นายพัลลภ บุญศิริ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยจำนวนมาก ให้ความสนใจในการออกไปศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMVI ซึ่งประกอบด้วยประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย รวมไปถึงกลุ่มประเทศในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกา เป็นต้น เนื่องจากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้มีการขยายตัวมากขึ้น

"อุตสาหกรรมหลักที่นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง รองลงมาคืออุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมพลังงานและพลังงานทดแทนตามลำดับ โดยมีการลงทุนในเวียดนามและกัมพูชามากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือเมียนมา และ สปป.ลาว ตามลำดับ" นายพัลลภกล่าว

ทั้งนี้ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยศูนย์พัฒนาการลงทุนไทยในต่างประเทศ (Thailand Overseas Investment Support Center : TOISC) ได้เปิดอบรมหลักสูตร "สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ" ไปแล้วจำนวน 17 รุ่น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ และสร้างนักลงทุนไทยรุ่นใหม่ให้พร้อมออกไปลงทุนในต่างประเทศ ปัจจุบันมีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้วกว่า 600 ราย

สำหรับการเปิดอบรมหลักสูตร "สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ (TOISC)" รุ่นที่ 18 จะเปิดรับสมัครในเดือนมีนาคม 2563 โดยมีการอบรมไม่น้อยกว่า60 ชั่วโมง โครงสร้างหลักสูตรจะเน้นกลยุทธ์และกระบวนการที่จำเป็นในการลงทุน การบริหารจัดการ รวมถึงการนำผลกำไรกลับมายังประเทศ โดยมีวิทยากร ที่มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจในต่างประเทศ ร่วมบรรยายตอบข้อซักถามและปัญหาต่างๆ

นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักลงทุน และการเดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศอย่างน้อย 1 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เวียดนาม และจีนตอนใต้ ซึ่งผู้เข้าอบรมจะมีโอกาสได้พบปะกับหน่วยงานรัฐและเอกชน และร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้เข้าอบรมกับนักลงทุนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดต่อประสานงานและทำธุรกิจร่วมกับนักลงทุนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น การซื้อวัตถุดิบระหว่างกัน การทำตลาดร่วมกัน เป็นต้น"ในช่วงแรกนักลงทุนที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตร สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศนั้น จะเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากบริษัทขนาดใหญ่เข้าร่วมอบรมได้

โดยธุรกิจของผู้เข้าร่วมอบรมที่ไปลงทุนในประเทศ CLMVI นั้นค่อนข้างหลากหลาย ทั้งในรูปแบบเทรดดิ้งหรือการซื้อมาขายไป ธุรกิจที่ปรึกษาการออกแบบทางวิศวกรรม ธุรกิจดิจิทัล โลจิสติกส์ สิ่งทอ อาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็ง เป็นต้น" นายพัลลภกล่าว