การเรียนออนไลน์ในสถานการณ์ Covid-19

19 Jun 2020

สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์ Covid-19 จำนวนทั้งสิ้น 505 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพมหานครที่เรียนออนไลน์ หรือมีบุตรหลานที่เรียนออนไลน์ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1–18 มิถุนายน 2563  ที่ผ่านมา พบว่า

ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.1 เป็นชาย และร้อยละ 52.9 เป็นหญิง เมื่อพิจารณาจำแนกเป็นอายุ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 23.8 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 21.6 มีอายุ 25-35 ปี ร้อยละ 33.5 มีอายุ 36-50 ปี และร้อยละ 21.1 มีอายุมากกว่า 50 ปี ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 61.2 มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท ร้อยละ 24.2 มีรายได้ 20,001-30,000 บาท และร้อยละ 14.6 มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท สำหรับอาชีพ 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 27.8 อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน รองลงมาคือร้อยละ 23.3 อาชีพค้าขาย และร้อยละ 20.4 อาชีพนักเรียนนักศึกษา

สำหรับระดับการศึกษาของตัวอย่าง/บุตรหลาน ที่กำลังเรียนออนไลน์ พบว่า ร้อยละ 10.6 ระบุระดับอนุบาล ร้อยละ 47.9 ระบุระดับประถมศึกษา ร้อยละ 36.1 ระบุระดับมัธยมศึกษา และร้อยละ 25.5 ระบุระดับอุดมศึกษา ตามลำดับ

ตัวอย่างกว่าร้อยละ 95 มีเรียนออนไลน์ที่บ้าน และเกือบร้อยละ 70 มีสมาร์ทโฟนที่สามารถใช้เรียนออนไลน์ได้

  • ความพร้อมของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในบ้านที่สามารถใช้ในการเรียนออนไลน์ได้ พบว่า ร้อยละ 69.7 ระบุสมาร์ทโฟน รองลงมาร้อยละ 29.2 ระบุโน๊ตบุ๊ก ร้อยละ 25.0 ระบุสมาร์ททีวี ร้อยละ 23.9 ระบุแท็ปเล็ต และร้อยละ 20.8 ระบุคอมพิวเตอร์พีซี สำหรับสถานที่ใช้เรียนออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 95.8 เรียนที่บ้าน ส่วนสถานที่อื่นๆ พบบ้างเล็กน้อย ได้แก่ บ้านญาติ/คนรู้จัก ที่ทำงานผู้ปกครอง เป็นต้น
    ตัวอย่างเกือบร้อยละ 70 มีเรียนออนไลน์ของโรงเรียน วิธีเรียนส่วนใหญ่เรียนผ่านเทปหรือคลิปวีดีโอที่ทางโรงเรียนบันทึกไว้
  • ตัวอย่างร้อยละ 69.3 มีการเรียนออนไลน์ที่โรงเรียน ในขณะที่ร้อยละ 17.3 มีเรียนออนไลน์ผ่านโรงเรียนกวดวิชา โดยร้อยละ 33.6 เรียนผ่านเทปหรือคลิปวีดีโอที่ทางโรงเรียนบันทึกไว้ โดยที่ผู้เรียนสามารถเข้าไปเรียนในเวลาที่ตนเองสะดวก ร้อยละ 29.8 เรียนสดผ่านวิดีโอ คอล ร้อยละ 18.4 เรียนสดผ่าน Google Classroom ร้อยละ 9.1 เรียนสดผ่าน Zoom และร้อยละ 5.3 เรียนสดผ่าน Microsoft Team ตามลำดับ
  • ตัวอย่างร้อยละ 34.5 มีเรียนการศึกษาทางไกล (DLTV) โดยร้อยละ 19.2 เรียนผ่านเว็บไซต์ www.dltv.ac.th รองลงมาร้อยละ 19.0 เรียนผ่านทีวีดิจิทัล ช่อง 37-51 ร้อยละ 11.5 เรียนผ่าน Mobile application dltv ร้อยละ 9.7 เรียนผ่าน Youtube และร้อยละ 4.1 ผ่านทีวีดาวเทียม Ku-Band และ C-Band ตามลำดับ

ตัวอย่างกว่าร้อยละ 75 รู้สึกเครียดจากการเรียนออนไลน์ สาเหตุที่ทำให้เครียด 3 อันดับแรก คือ 1) การเรียนออนไลน์ทำให้ความตั้งใจและสมาธิต่อการเรียนลดน้อยลง 2) ความไม่เข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียน และ 3) วิชาบางวิชามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะกับการเรียนการสอนออนไลน์

  • ตัวอย่างร้อยละ 75.1 รู้สึกเครียดจากการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์ Covid-19 โดยสาเหตุที่ทำให้เครียด 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 52.8 การเรียนออนไลน์ทำให้ความตั้งใจและสมาธิต่อการเรียนลดน้อยลง รองลงมาร้อยละ 45.7 ความไม่เข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียน และร้อยละ 31.4 วิชาบางวิชามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะกับการเรียนการสอนออนไลน์ ในขณะที่สาเหตุที่ทำให้เครียดอื่นๆ พบว่า ร้อยละ 29.0 การมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.3 ความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เพียงพอ และร้อยละ 22.6 เป็นภาระของผู้ปกครองในการดูแลการเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน ตามลำดับ

การลดค่าเทอม และการให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นสิ่งที่ตัวอย่างต้องการได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด

  • ความต้องการได้รับความช่วยเรียนจากการเรียนออนไลน์ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 33.8 ต้องการให้ลดค่าเทอมมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท รองลงมาร้อยละ 32.1 การช่วยเหลือด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 25.1 การให้คำแนะนำในการเรียนออนไลน์ และร้อยละ 9.0 การสนับสนุนด้านเวลาจากที่ทำงาน ตามลำดับ
  • ปัญหาอุปสรรคที่พบจากการเรียนออนไลน์ พบว่ามีความสอดคล้องกับสาเหตุที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างเกิดความเครียด ซึ่งได้แก่ บุตรหลานไม่เข้าใจเนื้อหา ไม่มีสมาธิในการเรียนออนไลน์ ความตั้งใจและความสนใจลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการเรียนในห้องเรียน รวมถึงการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น การไม่มีอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ในการเรียน และการไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน เป็นต้น