จิตเวชโคราช ห่วงโรคโควิด-19 กระทบใจผู้ป่วยซึมเศร้า ! แนะอย่าขาดยา!! ส่วนญาติให้ใช้ยาชูใจด้วย “ 3 ควร 3ไม่” ดูแล!

24 Apr 2020

จิตเวชโคราช ห่วงโรคโควิด-19  กระทบใจผู้ป่วยซึมเศร้า ! แนะอย่าขาดยา!! ส่วนญาติให้ใช้ยาชูใจด้วย “ 3 ควร 3ไม่” ดูแล!

รพ.จิตเวชนครราชสีมา
ห่วงสุขภาพใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้าใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่างที่อาการดีแล้ว
อาจได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19  แนะให้กินยาต่อเนื่อง อย่าขาดยา  เน้นให้มองปัญหาแยกแยะและเริ่มแก้ที่ส่วนย่อย
ส่วนญาติแนะเพิ่มยาชูใจ ใช้หลัก 3 ควร เช่น
พูดคุยรับฟังให้มาก และหลัก 3 ไม่ เช่น
ไม่กดดันเร่งรัดผู้ป่วย หากมีปัญหาโทรปรึกษาสายด่วนรพ.จิตเวชฯหมายเลข 06
1023 5151 ,0 4423 3999 หรือ1323 ตลอด24 ชั่วโมง

นายแพทย์กิตต์กวี
โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์  จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า
ขณะนี้รพ.จิตเวชฯได้เร่งจัดบริการดูแลสุขภาพจิตประชาชน เพื่อลดผลกระทบทางจิตใจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกันได้เร่งป้องกันปัญหาไม่ให้ซ้ำเติมผู้ที่ป่วยอยู่เดิมตามนโยบายของอธิบดีกรมสุขภาพจิต
กลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษในช่วงนี้คือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคทางอารมณ์ที่พบมาก
สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีจิตใจและความคิดที่เปราะบางอ่อนไหวง่าย
มีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่าย หดหู่ ท้อแท้  ในพื้นที่
4 จังหวัดอีสานตอนล่างคือนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์
และสุรินทร์ ขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ในระบบดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง 100,000 กว่าคน  โรคนี้จำเป็นต้องได้รับยาควบคุมในระยาว
เพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมอง อาการเศร้าจะหายไป   จิตใจแจ่มใสขึ้น  สามารถใช้ชีวิตประจำวัน
ประกอบอาชีพได้ตามปกติ 
แต่หากผู้ป่วยได้รับสิ่งรุมเร้ากดดันทางจิตใจ มีทุกข์ทางใจเพิ่มขึ้น  ก็อาจมีผลให้อาการรุนแรงขึ้นได้ง่ายกว่ากลุ่มคนอื่นๆ
 จึงต้องดูแลทั้งตัวผู้ป่วยเอง และญาติหรือคนรอบข้างไปพร้อมๆ
กัน

ในการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย  มีคำแนะนำ 6 ประการดังนี้ 1. ให้กินยาให้ต่อเนื่อง ครบตามจำนวน และตรงเวลาตามที่แพทย์สั่ง
แม้ว่าอาการจะสบายดีแล้วก็ตาม 
อย่าขาดยาอย่างเด็ดขาด
การกินยาที่มีความต่อเนื่องจะทำให้จิตใจและอารมณ์มีความคงที่ อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยให้เราสามารถทนต่อสิ่งกดดันภายนอกที่รุมเร้าได้ดี
อยากจะสู้ปัญหา ไม่เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง   2.ปรับลดความคาดหวังเป้าหมายให้พอดี
 เพื่อลดความกดดันตนเอง 3.ใช้วิธีแก้ปัญหาโดยมองปัญหาแบบแยกแยะ ให้เป็นส่วนย่อยๆ  และจัดเรียงความสำคัญก่อนหลัง แล้วลงมือปฏิบัติ  จะช่วยให้รู้สึกว่าเรายังมีพลังทำอะไรได้ 4.ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ปรับวิธีการตามความเหมาะสมกับสถานที่
จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจดีขึ้น 5 .
เลือกทำกิจกรรมที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกดี มีความสุข ซึ่งมักจะเป็นที่เราเคยชอบ  และ 6. อย่าเก็บความทุกข์ใจไว้คนเดียว  ขอให้พูดคุย
ปรึกษาปัญหากับผู้ที่เราใกล้ชิดให้ช่วยคิด มีหนทางคลี่คลาย 

สำหรับในกลุ่มญาติและคนรอบข้าง
ขอให้ยึดหลักสำคัญ 2 ประการ  ที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหายป่วย
อาการไม่ทรุด คือ ดูแลให้กินยาอย่างต่อเนื่องตรงตามเวลาที่แพทย์สั่ง   และดูแลเรื่องกำลังใจ
เพื่อให้ผู้ป่วยมองเห็นข้อดี คุณค่าของตัวเอง มีกำลังใจต่อสู้
อยากมีชีวิตอยู่  โดยมีคำแนะนำให้ญาติยึดวิธีการดูแลใจผู้ป่วยด้วยหลัก
3 ควร และ3 ไม่ ดังนี้

หลัก
3 ควร ที่ควรทำประกอบด้วย 1. รับฟังผู้ป่วย
ด้วยความใส่ใจเข้าใจ โดยไม่ตัดสินใจใดๆแทน
เนื่องจากอารมณ์ของผู้ป่วยซึมเศร้าจะอ่อนไหวมาก หลายครั้งเข้าใจยาก
การรับฟังกันจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกดีขึ้นว่ามีคนพร้อมที่จะเข้าใจในตัวเขาอย่างแท้จริง
2. อยู่เคียงข้างและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดีหรือรู้สึกทำให้แย่ออกมา 
จะเป็นวิธีการช่วยให้ผู้ป่วยได้ผ่อนคลายความตึงเครียดในใจลงได้อย่างมาก  3.สร้างพลัง ชวนผู้ป่วยให้ลุกมาทำกิจกรรมเพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหว
เช่น เล่นกีฬาเบาๆ เล่นเกม ทำงานอดิเรกเช่นปลูกต้นไม้ นอกจากจะช่วยลดความฟุ้งซ่าน
ลดความหดหู่แล้ว การได้เคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยให้เกิดการหลั่งสารเอ็นโดรฟีน
หรือสารแห่งความสุข ทำให้จิตใจผู้ป่วยสดชื่น แจ่มใส เบิกบาน

หลัก
3 ไม่ ที่ญาติพึงตระหนักอยู่เสมอ ได้แก่ 1.
อย่าบอกปัดผู้ป่วย 
เนื่องจากจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกทันทีว่าไม่มีที่พึ่งพา
หรือรู้สึกว่าตนเองเป็นที่รำคาญ 2. อย่าทำเป็นไม่ได้ยินสิ่งที่ผู้ป่วยพูด
  จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลง และ3. อย่าใช้คำพูดกดดันหรือเร่งรัดผู้ป่วย เช่นพูดว่าเมื่อไหร่จะหาย  จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกดดัน ผิดหวังว่าตนเองเป็นบุคคลที่น่ารำคาญ
เป็นภาระ

ทั้งนี้ขอให้ญาติสังเกตอาการกำเริบของผู้ป่วย
เช่น มีอารมณ์เศร้า ไม่หลับไม่นอน ไม่รับประทานอาหาร แยกตัว หรือดื่มเหล้า
สูบบุหรี่  ขอให้รีบพาไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน
หรือโทรปรึกษาที่สายด่วนของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ หมายเลข 06 1023 5151 และ 0 4423 3999 หรือสายด่วนกรมสุขภาพจิต หมายเลข 1323
ตลอด24 ชั่วโมง   

จิตเวชโคราช ห่วงโรคโควิด-19  กระทบใจผู้ป่วยซึมเศร้า ! แนะอย่าขาดยา!! ส่วนญาติให้ใช้ยาชูใจด้วย “ 3 ควร 3ไม่” ดูแล!