ระวัง...ปวดหลังเรื้อรัง อาจเป็นโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด

09 Sep 2020

หากมีอาการปวดหลังเรื้อรังมาเนิ่นนาน แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป เพราะอาจเป็นการปวดหลังจากข้อรูมาติสซั่ม หรือ “โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด” ซึ่งสัมพันธ์กับการอักเสบของกระดูกสันหลังจนเกิดการติดยึด ทำให้เกิดอาการปวด ส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ในระยะยาว

ระวัง...ปวดหลังเรื้อรัง อาจเป็นโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด

พญ.กัลยกร เชาว์วิศิษฐ แพทย์อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing Spondylitis – AS หรือ Spondyloarthritis-SpA) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของกระดูกสันหลังเรื้อรัง ร่วมกับข้ออักเสบ และอาการนอกระบบข้อร่วมด้วย เมื่อกระดูกสันหลังเกิดการอักเสบเป็นระยะเวลานาน จะเกิดหินปูนจับ ทำให้กระดูกสันหลังเริ่มเชื่อมติดกันจนกระทั่งเคลื่อนไหวไม่ได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการอักเสบของข้ออื่นๆ ร่วมด้วย ทำให้ข้อติดแข็ง เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด แต่มีการศึกษาพบว่าในผู้ป่วยบางรายมีความเกี่ยวข้องกับสารพันธุกรรมบางชนิด ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าคนทั่วไป แต่ก็มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การติดเชื้อ โดยอาการของโรคมักพบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และเป็นได้ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

อาการข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด ได้แก่ 1.ปวดหลังหรือหลังติดขัดเรื้อรังนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป โดยไม่มีประวัติการได้รับอุบัติเหตุหลัง หรือกล้ามเนื้อหลังทำงานมากกว่าปกติ 2.ปวดหลังหรือหลังตึงขัดมากในช่วงกลางคืน ขณะหลับ และหลังตื่นนอนตอนเช้า 3.ปวดหลังหรือมีอาการหลังตึงขัด หลังหยุดเคลื่อนไหวมานาน 4.ปวดข้อและข้ออักเสบร่วมด้วยในบางคน มักพบบริเวณร่างกายส่วนล่าง เช่น สะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ฯลฯ 5.อาการอื่นๆ นอกจากระบบข้อแล้วอาจพบได้ เช่น ตาแดง ปวดตา แผลที่ปาก ผื่นผิวหนัง เบื่ออาหาร ฯลฯ เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดเริ่มต้นจาก แพทย์ซักประวัติถึงรายละเอียดการปวด ระยะเวลา ความรุนแรง จากนั้นตรวจร่างกายด้วยการก้มหรือโน้มตัวเพื่อทดสอบการเคลื่อนไหวกระดูกสันหลัง การขยับขาท่าต่างๆ เพื่อทดสอบระดับความเจ็บปวด ตรวจเลือด เพื่อหาการอักเสบและตรวจหายีนที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรค เอกซเรย์เพื่อดูตำแหน่งการเปลี่ยนแปลงของข้อ รวมถึงการเชื่อมติดกันและการสึกหรอของกระดูกสันหลัง การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) ใช้คลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กพลังงานสูงถ่ายภาพกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนด้วยความคมชัดสูง เพื่อช่วยวินิจฉัย วางแผนรักษา และติดตามผลอย่างละเอียด

ปัจจุบันโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดสามารถรักษาบรรเทาอาการ ลดการอักเสบ ป้องกันความรุนแรงและความพิการที่อาจเกิดขึ้นได้ วิธีการรักษาประกอบด้วย 1.การรักษาด้วยยา ในกลุ่มยาแก้ปวดซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาในกลุ่มต้านรูมาติสซั่มที่ควบคุมอาการของโรค รวมถึงยาอื่นๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควร 2.การทำกายภาพบำบัด ช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่เหมาะสม ได้แก่ การยืด การนวด การดึง การขยับข้อต่อ 3.การผ่าตัด จะใช้ต่อเมื่อข้อถูกทำลายไปมากหรือข้อติดอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม ทำให้ใช้งานข้อได้ไม่เต็มที่ การผ่าตัดจะช่วยให้กลับมาเคลื่อนไหวและใช้งานข้อได้ในชีวิตประจำวัน 4.ปรับพฤติกรรม ได้แก่ เลี่ยงการนอนหนุนหมอนสูง เลี่ยงท่าทำงานก้มตัวตลอดเวลา เดินและนั่งในท่าตรง นอนบนพื้นราบให้หลังตรง เป็นต้น

อาการปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งนอนใจ การปวดหลังจากข้อรูมาติสซั่มหรือโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดเพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็ว หากรักษาช้าเกินไป ข้ออาจถูกทำลายรุนแรงถึงพิการได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม รพ.กรุงเทพ โทร. 02-755-1062

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit