กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัย จ.นครศรีธรรมราชฯ ช่วยลดน้ำท่วม ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล

17 Aug 2020

กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยจังหวัดนครศรีธรรมราชฯ หวังช่วยลดพื้นที่น้ำท่วม ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล สามารถกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้งได้ถึง 5.5 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ถึง 17,400 ไร่

กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัย จ.นครศรีธรรมราชฯ ช่วยลดน้ำท่วม ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการบรรเทาอุทกภัยจังหวัดนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหลวงและอ่าวไทย โดยชุมชนเมืองที่มีราษฎรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และมีลักษณะพื้นที่ทอดยาวขวางทิศทางการไหลของน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราชจะทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยซ้ำซากเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2554 มีปริมาณน้ำจากคลองท่าดี 750 ลบ.ม./วินาที ไหลออกสู่ทะเลที่คลองท่าชักและคลองปากนคร ซึ่งสามารถระบายน้ำได้รวมเพียง 268 ลบ.ม./วินาที ทำให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชและบริเวณใกล้เคียงเกิดอุทกภัย สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 2,300 ล้านบาท และพื้นที่การเกษตรเสียหาย 580,000 ไร่ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานจึงได้ดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโดยการสร้างคลองระบายน้ำอ้อมตัวเมืองนครศรีธรรมราชลงสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งสามารถระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (รอบปีการเกิดซ้ำ 25 ปี)

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า มติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 มีแผนการดำเนินงาน 6 ปี (พ.ศ.2561 - 2566) วงเงินงบประมาณ 9,580 ล้านบาท โดยมีแนวทางในการดำเนินงาน คือ 1) ขุดคลองระบายน้ำ จำนวน 3 สาย ความยาวประมาณ 18.64 กม. 2) ขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองวังวัว ความยาวประมาณ 5.90 กม. 3) ขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองท่าเรือ-หัวตรุดความยาวประมาณ 11.90 กม. และ 4) ก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำ จำนวน 7 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราชและลดพื้นที่น้ำท่วมได้ ประมาณร้อยละ 90 ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง มีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน 126,012 คน อีกทั้งยังสามารถกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้งได้ถึง 5.5 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ถึง 17,400 ไร่

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานยังได้มีแผนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงกำหนดให้มีแผนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 16 แผนงาน มีระยะเวลาดำเนินงาน 10 ปี เพื่อช่วยบรรเทาและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการโครงการฯ อาทิ แผนส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร แผนช่วยเหลือและพัฒนาการประมง และแผนการปลูกป่าชายเลน (1,600 ไร่) เป็นต้น

"ได้กำชับกรมชลประทานต้องทำงานร่วมกันกับผู้นำท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด และจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน โดยจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิดในการดำเนินโครงการต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานราชการมีหน้าที่ต้องเข้าหาพี่น้องประชาชน เข้าไปรับฟังปัญหาอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้มากยิ่งขึ้น" นายเฉลิมชัย กล่าว