ใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยปิดช่องว่างทักษะด้านดิจิทัลในองค์กร

23 Jun 2021

บทความโดย ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์

ใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยปิดช่องว่างทักษะด้านดิจิทัลในองค์กร

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลจะประสบความสำเร็จ และเป็นไปได้อย่างครอบคลุม องค์กรจำเป็นต้องมีคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลอยู่ในองค์กร แต่ปัญหาการขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัลอย่างรุนแรงก็มีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นับเป็นความท้าทายหนึ่งขององค์กรที่กำลังมุ่งทรานส์ฟอร์มและขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจ

ผลสำรวจการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของประเทศไทย ประจำปี 2020 จากการสำรวจของดีลอยท์ ประเทศไทย พบว่าความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลที่องค์กรไทยพบเป็นอันดับแรก คือ การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ (49%) ตามมาด้วย วัฒนธรรมดิจิทัลที่ยังไม่หยั่งรากลึกเต็มที่ (45%) และกระบวนการทำงานที่แยกส่วนไม่ประสานกัน (silo) ทำให้ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน (37%) 

ความตื่นตัวด้านทักษะด้านดิจิทัลเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในประเทศไทย ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้เปิดตัวสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DISDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับแรงงาน โดยเป็นหน่วยงานกลางในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาระบุว่า ผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 จำแนกตามกลุ่มสาขาวิชาที่รวบรวมจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศจำนวน 154 สถาบันพบว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาสาขา Information and Communication Technologies (ICTs) ในระดับปริญญาตรีเพียง 13,984 คน คิดเป็น 5.09% ของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับนี้ทั้งหมด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เขมะฑัต วิภาตะวนิช รองคณบดีฝ่ายสื่อสารและพัฒนาดิจิทัล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่าความต้องการของตลาดงานในปัจจุบันแยกเป็น 5 ส่วนสำคัญคือ 1) Software Engineering ประกอบด้วยโปรแกรมเมอร์ และ โปรเจคเมเนเจอร์ 2) Networking and Security Engineer และ Networking and Security Manager 3) ด้านดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ รวมถึง เวอร์ชวลไลเซชั่น เน็ตเวิร์ค และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4) กลุ่มบริหารจัดการระบบไอทีเดิมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ต้องมีความรู้ด้าน IT Governance, Data Governance, Security Governance และ 5) กลุ่มที่มีความรู้และเข้าใจในการนำซอฟต์แวร์มาใช้ซึ่งอาจไม่ได้จบสาขาเทคโนโลยีโดยตรง 

ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งห้าข้อนี้มีรายละเอียดที่เหมือนหรือต่างกันบ้าง แต่ในภาพรวมนิสิตนักศึกษาที่จบการศึกษาไป ต้องบูรณาการและสร้างสมดุลของตนเองในการใช้เทคโนโลยี มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายที่มีผลกระทบต่อการทำงานและดำเนินชีวิตของตน ไม่สร้างปัญหา และรู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเอง ผู้อื่น และหน่วยงาน

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปัจจุบันคลาวด์และระบบอัตโนมัติมีความสำคัญมาก เช่น การใช้เวอร์ชวลไลเซชั่นและกระแสการใช้งาน Software-Defined (almost) Everything เครือข่ายการเชื่อมโยงของระบบคอมพิวเตอร์จากดาต้าเซ็นเตอร์ไปยัง edge computing เป็นต้น ระบบนิเวศเหล่านี้ช่วยให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกทักษะได้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็ทำให้ตลาดแรงงานได้บุคลากรที่มี digital mindset และสามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้แบบบูรณาการ

สำหรับภาคธุรกิจ การสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงานให้กับพนักงาน (up-skill) และการยกระดับทักษะเดิมของพนักงานให้ดีขึ้น (re-skill) เป็นเรื่องสำคัญ นายพิเชฐ ศรีวงษ์ญาติดี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST ระบุว่าการที่ภาคการเงินมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แบบก้าวกระโดดนั้น นอกจากการแสวงหาโซลูชั่นที่เหมาะสมแล้ว การปรับตัวของบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญมาก องค์กรต้องกระตุ้นให้บุคลากรมีความพร้อมและปรับตัวให้ทันตามแผนงานด้านไอทีที่วางไว้ เทคโนโลยีจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อบุคลากรเห็นถึงประโยชน์และนำไปใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้งานจริงควบคู่กับกระบวนการทำงานเดิม เพื่อเป็นการเรียนรู้ในระหว่างปฏิบัติงาน (learning by doing) จะทำให้บุคลากรเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ทักษะใหม่กับผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเทียบกับกระบวนการเดิม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากบุคลากรของบริษัท เพราะสามารถนำทักษะใหม่มาใช้กับงานได้จริง

กล่าวได้ว่าแทบไม่มีธุรกิจใดที่จะไม่รับเอาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเช่น คลาวด์และระบบอัตโนมัติมาใช้งาน ผลสำรวจ Enterprise Cloud Index (ECI) ของนูทานิคซ์พบว่าองค์กรไทยให้เหตุผลในการเปลี่ยนไปใช้คลาวด์เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดี (67%) ตามมาด้วยเรื่องของความปลอดภัย (62%) และสามารถรองรับการทำงานจากระยะไกล (62%) และไฮบริดคลาวด์เป็นประเภทของคลาวด์ที่ธุรกิจให้ความสำคัญมากที่สุด

สำหรับ KTBST ระบบคลาวด์เข้ามาช่วยวางโครงสร้างระบบงานไอทีในด้านการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อธุรกิจ บริษัทยังได้นำระบบอัตโนมัติมาช่วยต่อยอดในการลดข้อผิดพลาดของ บุคคลากร รวมถึงช่วยให้การทำงานร่วมกันดีขึ้น โดยพนักงานมีเวลาจดจ่อกับสิ่งที่สำคัญมากขึ้น แทนการทำในสิ่งเดิมซ้ำ ๆ ทั้งนี้คลาวด์และระบบอัตโนมัติยังช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

การระบาดของโควิด-19 ทำให้การเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีทักษะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ และในอนาคตอันใกล้ องค์กรต่าง ๆ จึงหันไปใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันคงความต่อเนื่องทางธุรกิจ และแก้ปัญหาความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถสูง

ระบบไอทีแบบเดิมที่ใช้คนจำนวนมากและทำงานแบบแมนนวล เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการผลิต และกระทบต่อความสามารถของธุรกิจที่จะต้องตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงให้ได้อย่างรวดเร็ว ระบบอัตโนมัติที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองในแง่ลบว่าจะเข้ามาแย่งงานของคน กำลังได้รับความเข้าใจมากขึ้นว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการเปลี่ยนไปใช้รูปแบบไอทีแบบ as a service และ on-demand ได้มากขึ้น ข้อเท็จจริงจากการสำรวจ ECI ของนูทานิคซ์ล่าสุดที่สำรวจเมื่อปลายปี 2020 ระบุว่า 31 % ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าระบบอัตโนมัติเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ในอีก 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า 

นายพิเชฐให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ระบบอัตโนมัติจะเป็นตัวช่วยเพิ่มขีดความสามารถของคน โดยช่วยให้คนเน้นความสามารถเชิงคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปปรับใช้ร่วมกับระบบอัตโนมัติให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่คนและระบบทำงานร่วมกัน มากกว่ามองว่าระบบจะแย่งงานคน การที่ KTBST นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์ แสดงรายงาน ฯลฯ ช่วยลดเวลาในการดำเนินงานได้ถึง 80% และช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายกว่า 30% เมื่อเทียบกับการทำงานแบบแมนนวล

เอเชียแปซิฟิกเป็นศูนย์กลางของโลกที่มีการเร่งนำระบบอัตโนมัติมาใช้อย่างรวดเร็วในขณะนี้เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก ข้อมูลจาก International Federation of Robotics ระบุว่า สิงค์โปร์เป็นประเทศที่มีการใช้ระบบอัตโนมัติมากที่สุดในโลก โดยมีการติดตั้งใช้งานหุ่นยนต์ 918 ยูนิตต่อพนักงานทุก ๆ 10,000 คน อันดับสองคือประเทศเกาหลีใต้ (868 ยูนิต) และอันดับสามคือประเทศญี่ปุ่น (364 ยูนิต)

การทำให้บุคลากรด้านไอทีมีเวลาโฟกัสกับโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน  ทั้งยังได้เพิ่มพูนทักษะของตนเองตลอดเวลา สำหรับธุรกิจในภาพรวม นอกจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับแล้ว ยังสามารถรักษาพนักงานไว้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปี 2021 นี้องค์กรต่าง ๆ ยังคงต้องมองหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับความท้าทายเดิม ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทางธุรกิจ และระบบอัตโนมัติคือเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ ได้ เช่น ปิดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลที่ขาดแคลน ประหยัดค่าใช้จ่าย หรือเพื่อให้บริษัทได้รับประโยชน์ในระยะยาวมากขึ้น

ใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยปิดช่องว่างทักษะด้านดิจิทัลในองค์กร