อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัลระดับนานาชาติต่อต้านคอร์รัปชัน ปี 2021

29 Dec 2021

ผศ.ดร.ต่อภัสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการประกาศเกียรติคุณจาก Secretary of State, U.S. State Department สหรัฐอเมริกา ให้ได้รับรางวัล International Anticorruption Champion Award 2021 เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลปีนี้ ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัล 12 คนจากทั่วโลก โดย ผศ.ดร.ต่อภัสร์ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลในฐานะนักวิชาการจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัลระดับนานาชาติต่อต้านคอร์รัปชัน ปี 2021

"รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ ดีใจที่งานด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ผมและใครอีกหลายคนในประเทศไทยมีบทบาทในเรื่องนี้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันและลดปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยได้" ผศ.ดร.ต่อภัสร์ เผยความรู้สึกที่ได้รับรางวัลครั้งนี้

แรงบันดาลใจสู่การเป็นนักต่อต้านคอร์รัปชัน

ความสนใจในการศึกษาวิจัยเรื่องคอร์รัปชันของ ผศ.ดร.ต่อภัสร์เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 4 ซึ่งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่น จากนั้นก็ได้ทำวิจัยเรื่องนี้เรื่อยมา โดยผลงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของอาจารย์ที่ University of Cambridge เป็นการศึกษาวิจัยเรื่องกระบวนการการต่อต้านคอรัปชั่นในวงการก่อสร้างไทย

"ทั่วโลกมีคนที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังจำนวนมาก ประเทศไทยมีองค์กรภาคเอกชนและภาคประชาชน 30 - 40 หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ผมเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในเครือข่ายที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทยเท่านั้น" ผศ.ดร.ต่อภัสร์กล่าวในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคณาจารย์หลายท่านบุกเบิกการศึกษาวิจัยเรื่องคอร์รัปชัน เช่น ศ.กิตติคุณ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ รศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ฯลฯ ผศ.ดร.ต่อภัสร์ได้สานต่องานวิจัยเรื่องคอร์รัปชันจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีผลงานทั้งในเชิงวิชาการและการทดลองทำจริง รวมทั้งอยู่เบื้องหลังการทำงานที่ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ส่งผลให้เครือข่ายการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันและเครื่องมือต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลักการทำงานของนักวิชาการไทยผู้ได้รางวัลต้านคอร์รัปชันระดับนานาชาติ

การทำงานที่ผ่านมาของ ผศ.ดร.ต่อภัสร์ ยึดหลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม "คน" เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น เครื่องมือและนโยบายเดียวที่เป็นการทำงานแบบ Top-Down ทำให้การแก้ไขคอร์รัปชั่นยากมาก การทำงานต้านคอร์รัปชันไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วย คนๆ เดียวได้ แต่ต้องร่วมมือกันทำงานทั้งระบบ ผศ.ดร.ต่อภัสร์ได้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยคอร์รัปชั่น "Siam Lab" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยร่วมมือกับนักวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ เช่น นักภาษาศาสตร์ นักการตลาด นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ ขับเคลื่อนงานวิจัยต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมภายใต้ชื่อ "Hand Social Enterprise" ซึ่งมีความคล่องตัวในการทำงานวิจัยกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ทำให้การคอร์รัปชั่นในประเทศไทยลดลงและดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นดีขึ้น

การมีส่วนร่วมของคนไทยในการต่อต้านคอร์รัปชัน           

ผศ.ดร.ต่อภัสร์เปิดเผยว่าปัจจุบันภาคประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คนไทย 98% เห็นว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ที่น่ากังวลคือคนที่มีส่วนร่วมในการต้านโกงยังไม่สูงเท่าที่ควร ดังนั้นจึงต้องสร้างเครื่องมือเพื่อติดอาวุธให้ประชาชนให้ต่อสู้กับคอร์รัปชัน การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมีความสำคัญมาก ซึ่งจะต้องอาศัยองค์ความรู้ในการเข้าใจบริบทของสังคม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดมีบทบาทในการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ผ่านมามีโครงการวิจัยเรื่องการตลาดต้านโกง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก