อยากใช้ Volatility เทรด Options ในโปรแกรม Streaming ทำอย่างไร

23 Dec 2021

จะเทรด Options สิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้ก็คือ ความผันผวน

อยากใช้ Volatility เทรด Options ในโปรแกรม Streaming ทำอย่างไร

เดินทางมาถึงวันสุดท้ายแล้วสำหรับ Options Workshop From Home จากสองวันแรกที่ผ่านมา เริ่มจากการปูพื้นฐานในการเทรด Options วันนี้เพื่อต่อยอดฐานให้แข็งแรงมากขึ้น TFEX จะพาคุณไปรู้จักกับ Volatility ผ่านหัวข้อ "อยากใช้ Volatility เทรด Options ในโปรแกรม Streaming ทำอย่างไร" โดยได้รับเกียรติจาก คุณจรณเวท ศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการ ฝ่ายแนะนำการลงทุน บลป. คลาสสิก ออสสิริส มาเป็นวิทยากรพิเศษสอนกลยุทธ์และเทคนิคที่อาจจะดูเข้าใจยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายเหมือนจับมือทำ

ก่อนที่จะเข้าเรื่อง Options คุณต้องรู้ก่อนว่า

Volatility หรือความผันผวนนั้น เป็นการดูในเรื่องระดับการเคลื่อนไหวของราคา พูดง่ายๆ ว่า ระดับราคาในช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งวิธีการสังเกตความผันผวน เราสามารถใช้เครื่องมือ Indicator เข้ามาช่วย โดยเราจะใช้ Average True Range (ATR) เป็นตัวบ่งชี้ความผันผวนของตลาด ว่าการเคลื่อนไหวโดยเฉลี่ยในช่วงเวลานั้นๆ มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ในการซื้อขาย Options เราจะดูเรื่องทิศทางของดัชนีหรือราคาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะความผันผวนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่า Premium ด้วยเช่นกัน โดยถ้าสภาวะตลาดยิ่งผันผวน Premium ก็ยิ่งสูง ในทางตรงกันข้ามหากความผันผวนลดลง Premium ก็จะต่ำลงตาม

Options ไม่เหมือนหุ้นที่จะถือไปเรื่อยๆ ได้แบบไม่ขาดทุน เพราะ Options มีวันหมดอายุซึ่งอายุคงเหลือที่เปลี่ยนแปลงไปก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา Options ด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เปรียบเหมือนกับราคาล็อตเตอรี่ ที่ตอนต้นเดือนแม่ค้าจะยังขายราคาเต็ม แต่พอใกล้เวลาประกาศผลก็อาจลดราคาลงเพื่อลดความเสี่ยงของตัวเอง แนวโน้มราคาของล็อดเตอรี่ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลง หรือคล้ายกับกรณีการซื้อของที่มีวันหมดอายุเอามาเก็บไว้นานๆ แล้วราคาตก ซึ่ง Options เองก็มีค่าเสื่อมหากซื้อแล้วถือไว้เฉยๆ ก็จะเสื่อมค่าตามเวลา

หลักพื้นฐานการเทรด Options บนความผันผวนคือ

หาก Volatility มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แนะนำให้เทรดฝั่ง Long Options แต่เมื่อ Volatility ต่ำหรือมีแนวโน้มต่ำลง เราจะเลือก Short Options แทน ซึ่งสภาวะความผันผวนจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งปี เราไม่สามารถ Long Options ได้ตลอดทุกช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เช่นเดียวกับการ Short Options

Strategy : SET50 Index Options

- Long Call

เลือกใช้เมื่อความผันผวนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น Options มีอายุเหลือเยอะ และคาดการณ์ดัชนีเป็นขาขึ้นแรง

- Short Call

เลือกใช้เมื่อความผันผวนมีแนวโน้มลดลง Options เริ่มมีอายุเหลือน้อย และคาดการณ์ดัชนีว่าไม่ขึ้นหรือ Sideway Down

- Short Put

เลือกใช้เมื่อความผันผวนมีแนวโน้มลดลง Options เริ่มมีอายุเหลือน้อย และคาดการณ์ดัชนีว่าไม่ลงหรือ Sideway Up

- Long Put

เลือกใช้เมื่อความผันผวนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น Options มีอายุเหลือเยอะ และคาดการณ์ดัชนีเป็นขาลงแรง

ในฝั่ง Short นั้น คนขาย Options เปรียบเสมือนเป็นบริษัทประกัน ซึ่งต้องวางเงิน Margin โดยรับเงินค่าเบี้ย (Premium) มาก่อนจากการขาย แต่เราอาจจะโดนเคลมจากฝั่ง Long ได้หากผู้ซื้อใช้สิทธิ ซึ่งต้องประเมินความเสี่ยงให้ดีหากเลือกเล่นฝั่ง Short เพราะตลาดนี้เป็น Zero-Sum Game เมื่อมีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย ให้เลือกใช้กลยุทธ์ตามสถานการณ์ตลาด อย่ายึดติดกับกลยุทธ์ที่เคยใช้อย่างเดียวหรือเลือกเล่นฝั่งใดฝั่งหนึ่งตลอดเวลา 

ATM vs OTM

Options ที่มีสถานะเป็น Out-of-the-Money มักมีราคาถูก แต่การเลือกซื้อ OTM ไปอาจต้องใช้เวลาลุ้นมากกว่าตัวอื่น เนื่องจากราคาใช้สิทธิอยู่ค่อนข้างไกลจากปัจจุบัน ส่วน Options ที่มีสถานะเป็น In-the-Money (ITM) มักมีราคาแพง เพราะเป็นตัวที่ซื้อแล้วมีโอกาสได้ใช้สิทธิสูงกว่า มีค่า Delta สูงกว่า เมื่อถูกทางจะสามารถทำกำไรได้เต็มที่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่วางไว้ ไม่ได้บ่งบอกว่าควรต้องเลือกซื้อ Options สถานะ OTM หรือ ITM

เลือกกลยุทธ์ด้วยการดู ATR

ให้ดูแนวโน้มของเส้น ATR ว่ามีแนวโน้มอย่างไร หากเส้น ATR เริ่มวิ่งไต่ขึ้นมาแปลว่าความผันผวนกำลังมา ให้เลือกเล่นฝั่ง Long เป็นหลัก จะเลือกเล่น Long Call หรือ Long Put ก็ดูตามแนวโน้มของดัชนี แต่หากเส้น ATR เริ่มแผ่วลงจากกรอบด้านบนก็เตรียมพิจารณาเลือกเล่นฝั่ง Short เช่นกัน

กลยุทธ์เทรดทำกำไรบนความผันผวน

กลยุทธ์เหล่านี้จะเลือกใช้เมื่อเกิดความผันผวนขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่สนใจว่าดัชนีจะขึ้นหรือลง แต่ก็มีบางกลยุทธ์ที่เอนเอียงไปในทิศทางขึ้นหรือทิศทางลงมากกว่า

- Long Straddle

ใช้เมื่อมองว่าความผันผวนก่อนหน้านี้ต่ำแล้วเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ไม่สนใจทิศทาง แต่เน้นให้ตลาดปรับตัวแรงๆ ขาดทุนสูงสุดไม่เกินค่า Premium ที่จ่ายไป โดยการ Long Call (ATM) + Long Put (ATM) ซึ่งการที่เลือกราคาใช้สิทธิ (Strike Price) ที่ ATM นั้นเราอาจจะต้องจ่ายค่า Premium พอสมควร แต่โอกาสได้ใช้สิทธิก็มีมากตาม

- Long Strangle

คล้ายๆ กับ Straddle ใช้เมื่อความผันผวนเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ไม่สนใจทิศทาง แต่เน้นให้ตลาดปรับตัวแรงๆ ขาดทุนสูงสุดไม่เกินค่า Premium ที่จ่ายไปเช่นกัน แต่ต่างกันที่เราจะ Long Call (OTM) + Long Put (OTM) ซึ่งการที่เลือก Strike Price ที่ OTM ก็จะทำให้เราจ่ายค่า Premium น้อยลงเป็นการลดต้นทุน แต่โอกาสได้ใช้สิทธิก็มีน้อยลงตาม

- Long Strip

ใช้เมื่อความผันผวนเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น และคาดว่าทิศทางเป็นขาลงมากกว่าขาขึ้น โดยเน้นให้ตลาดผันผวน ขาดทุนสูงสุดไม่เกินค่า Premium ที่จ่ายไป โดยการ Long Call 1 สัญญา (ATM) + Long Put 2 สัญญา (ATM)

- Long Strap

ใช้เมื่อความผันผวนเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่คาดว่าทิศทางเป็นขาขึ้นมากกว่าขาลง โดยเน้นให้ตลาดผันผวน ขาดทุนสูงสุดไม่เกินค่า Premium ที่จ่ายไปเช่นกัน โดยการ Long Call 2 สัญญา (ATM) + Long Put 1 สัญญา (ATM)

ต้องอย่าลืมว่าการที่เราเปิดสถานะมากขึ้นก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนของเราด้วย กลยุทธ์ที่พลิกแพลงนั้นเราทำได้ แต่ต้องเข้าใจมันจริงๆ ไม่อย่างนั้นการใช้กลยุทธ์มากๆ หลายตัว สุดท้ายแล้วอาจไม่คุ้มค่าเมื่อนำมาหักกับค่าธรรมเนียมที่ใช้มากขึ้นด้วย

ครั้งต่อไปก่อนจะเทรด Options ให้นึกเสมอว่าการดูทิศทางของดัชนีอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อราคา Options อีกอย่างก็คือ Volatility หรือความผันผวน ซึ่งความผันผวนยิ่งสูงเท่าไหร่ ราคา Options ก็ยิ่งปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้การที่นักลงทุนถือ Options ไปนานๆ อาจส่งผลต่อราคาด้วยเช่นกันเพราะมี Time Decay ซึ่งต้องพิจารณาจุดนี้ด้วย

สุดท้ายนี้หลายคนอาจจะมอง Options ว่ายุ่งยากซับซ้อน แต่หากเข้าใจแล้วเราจะสามารถนำกลยุทธ์มาเทรดได้ทุกสถานการณ์ ออกแบบกลยุทธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงได้ อย่างผู้ที่มีพอร์ทหุ้นหรือกองทุน ตลาดไม่ได้มีทิศทางขาขึ้นตลอดเวลา เราสามารถเลือกซื้อ Put Options มาเพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงในสภาวะตลาดขาลงได้

รับชมสัมนาย้อนหลัง "อยากใช้ Volatility เทรด Options ในโปรแกรม Streaming ทำอย่างไร" ได้ที่ https://setga.page.link/GxXoynw4Mt12KvMc9