กรมวิชาการเกษตรแนะวิธีรับมือเพลี้ยอ่อนและหนอนเจาะฝักข้าวโพด

24 Mar 2022

นายศรุต สุทธิอารมณ์  ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ในช่วงที่ข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ในระยะออกดอกถึงระยะติดฝักให้เกษตรกรเฝ้าระวังเพลี้ยอ่อนข้าวโพดเข้าทำลาย  โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของใบ และช่อดอกตัวผู้ ถ้าช่อดอกมีเพลี้ยอ่อนเกาะกินอยู่มากจะส่งผลให้ช่อดอกไม่บาน การติดเมล็ดน้อยและทำให้เมล็ดแก่เร็ว ทั้งที่เมล็ดยังไม่เต็มฝัก หากมีการระบาดมาก จะพบกระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของลำต้น กาบหุ้มฝัก โดยเพลี้ยอ่อนชนิดมีปีกบินมาจากแปลงใกล้เคียง ตั้งแต่ข้าวโพดอายุประมาณ 15 วัน หลังจากนั้นอีก 1 - 2 สัปดาห์ จะพบเพลี้ยอ่อนออกลูกเป็นตัวอ่อนรวมกันเป็นกลุ่มโดยเฉพาะบริเวณใต้ใบ โดยเพลี้ยอ่อนจะแพร่ขยายจากใบล่างขึ้นมาบนใบเรื่อย ๆ และขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วจนพบปริมาณสูงสุดในระยะข้าวโพดกำลังผสมเกสร  มักพบเกาะเป็นกลุ่ม ๆ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของต้นข้าวโพด เช่น ยอด กาบใบ โคนใบ กาบฝัก โดยจะพบมากที่สุดบริเวณช่อดอก ทำให้บริเวณที่ถูกดูดกินแสดงอาการเป็นจุดสีเหลืองปนแดง

กรมวิชาการเกษตรแนะวิธีรับมือเพลี้ยอ่อนและหนอนเจาะฝักข้าวโพด

การป้องกันกำจัดในแหล่งที่มีการระบาดเป็นประจำในฤดูแล้งหากสำรวจพบเพลี้ยอ่อนข้าวโพดแพร่กระจายจากใบล่างขึ้นมาและเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วแปลง ควรป้องกันกำจัดก่อนข้าวโพดแทงช่อดอกตัวผู้ หรือก่อนดอกบานซึ่งจะให้ผลในการควบคุมได้ดี  หากมีการระบาดเกิดขึ้นเฉพาะจุดให้พ่นสารฆ่าแมลง คาร์บาริล 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เบตา-ไซฟลูทริน 2.5% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดอะชินอน 60% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  โดยการพ่นสารฆ่าแมลงในระยะออกดอกควรพ่นเฉพาะจุด เมื่อพบความหนาแน่นของเพลี้ยอ่อนมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ของช่อดอก  และควรหลีกเลี่ยงพ่นสารเมื่อตรวจพบด้วงเต่า และแมลงหางหนีบ ซึ่งเป็นตัวห้ำของเพลี้ยอ่อน หลังจากข้าวโพดติดฝักแล้ว

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวว่า นอกจากนี้ ให้เฝ้าระวังหนอนเจาะฝักข้าวโพด โดยแม่ผีเสื้อจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ตามเส้นไหมที่ปลายฝักข้าวโพดหรือที่ช่อดอกตัวผู้  หนอนกัดกินที่ช่อดอก และเมื่อเริ่มติดฝักตัวหนอนจะกัดกินเส้นไหมของฝัก และเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในบริเวณปลายฝัก ทำความเสียหายให้แก่คุณภาพฝักโดยตรง เนื่องจากปลายฝักเสียหาย และถ้าพบระบาดมากปลายฝักจะเน่า เนื่องจากความชื้นจากมูลของหนอนที่ถ่ายไว้   ซึ่งหนอนเจาะฝักข้าวโพดทำความเสียหายได้มากเมื่อเกิดการระบาดก่อนที่ขบวนการผสมเกสรจะเกิดขึ้น หากการระบาดรุนแรงจะทำให้เก็บผลผลิตไม่ได้ เนื่องจากหนอนกัดกินเส้นไหมจนแหว่งหมดไป ทำให้ข้าวโพดไม่ได้รับการผสมพันธุ์  ฝักที่ได้จึงไม่ติดเมล็ด หรือเกิดเป็นข้าวโพดฟันหลอขึ้น

วิธีการป้องกันกำจัดแนะนำให้ใช้วิธีกล โดยพื้นที่ปลูกข้าวโพดขนาดเล็กใช้วิธีการจับหนอนที่ปลายฝักทิ้ง หรือใช้มือบีบปลายฝักให้หนอนตายโดยไม่ต้องเก็บทิ้ง  และควรเดินเก็บหนอนทุกวันในระยะติดฝัก  อย่างไรก็ตามเนื่องจากผีเสื้อของหนอนเจาะฝักข้าวโพดจะวางไข่ที่ยอดเกสรตัวผู้ และที่ไหมข้าวโพดในระยะผสมเกสร จึงควรหมั่นตรวจปลายฝักข้าวโพดในระยะนี้ หากพบหนอนวัย 1-2 เฉลี่ย 10-20 ตัวต่อ 100 ต้น พ่นสารฆ่าแมลงฟลูเฟนนอกซูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะฝักที่หนอนลงทำลายไหม พ่นซ้ำตามความจำเป็น โดยพ่นที่ปลายฝักบริเวณไหมโผล่ หากพบการระบาดมากจึงพ่นที่เกสรตัวผู้ส่วนบนสุด   ทั้งนี้สารฆ่าแมลงควรใช้ในระยะที่หนอนยังเล็กจะได้ผลดี  สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อฝักติดเมล็ดแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลง

กรมวิชาการเกษตรแนะวิธีรับมือเพลี้ยอ่อนและหนอนเจาะฝักข้าวโพด