กอนช. ติดตามผลการจัดสรรน้ำ ตั้งเป้ามีน้ำเพียงพอตลอดช่วงแล้ง พร้อมสำรองไว้ต้นฤดูฝนปี 65

18 Feb 2022

กอนช. ติดตามประเมินสถานการณ์น้ำในอ่างฯ ขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบันภาพรวมยังจัดสรรน้ำน้อยกว่าแผนที่วางไว้ แต่พบ 5 แห่ง มีแนวโน้มเสี่ยงน้ำน้อย ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นาปรังเพาะปลูกเกินแผนแล้ว แต่ยังมีปริมาณน้ำเพียงพอหากใช้น้ำอย่างระมัดระวัง จึงเน้นย้ำหน่วยงานสร้างการรับรู้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

กอนช. ติดตามผลการจัดสรรน้ำ ตั้งเป้ามีน้ำเพียงพอตลอดช่วงแล้ง พร้อมสำรองไว้ต้นฤดูฝนปี 65

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กอนช. ได้ติดตามผลการจัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 - 15 ก.พ. 65 พบว่า มีผลจัดสรรน้ำ รวม 8,375 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังคงน้อยกว่าแผนสะสม 275 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม พบว่ามีอ่างฯ บางแห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำข้างเคียงมีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผนสะสมแล้ว 353 ล้าน ลบ.ม. แต่คาดการณ์ว่าหากยังคงแผนการระบายน้ำเดิม จะยังเหลือปริมาณน้ำใช้การรวมใน 4 อ่างฯ หลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวน 3,640 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับกิจกรรมการใช้น้ำช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ ทั้งนี้ สำหรับการจัดสรรน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาสนับสนุนในลุ่มน้ำท่าจีนและลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้ง เพื่อรักษาระบบนิเวศ โดยเฉพาะการรักษาคุณภาพน้ำ มีแผนทั้งหมด 1,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีมีผลจัดสรรน้ำสะสม 81 ล้าน ลบ.ม. โดยในช่วงระหว่างวันที่ 14 - 18 ก.พ. 65 ซึ่งเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ตามที่ กอนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนฉบับที่ 1/2565 ไปแล้วนั้น กรมชลประทานต้องเพิ่มการระบายน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นการผลักดันน้ำเค็มให้สอดคล้องกับช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ไม่ให้ความเค็มเกินค่าเฝ้าระวังควบคุมด้วย

นอกจากนี้ กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างฯ ขนาดใหญ่ ในช่วงต้นฤดูฝน ปี 2565 ณ วันที่ 1 พ.ค. 65 โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 41,304 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 58% ของความจุกักเก็บ โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การ 17,761 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 37% ของความจุใช้การ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำในปีที่แล้ว (1 พ.ค. 64) พบว่า ปีนี้จะมีปริมาณน้ำมากกว่า 7,428 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกันนี้ ได้วิเคราะห์อ่างฯ ที่มีแนวโน้มที่เสี่ยงภาวะน้ำน้อย ด้วยการพิจารณาจากปริมาณน้ำใช้การ และพิจารณาจากปริมาณน้ำ โดยใช้เกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule curve) พบว่า มีอ่างฯที่มีแนวโน้มเสี่ยงน้ำน้อย จำนวน 5 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนนฤบดินทรจินดา ซึ่งต้องมีการวางแผนระบายน้ำเพื่อควบคุมความเค็มในแม่น้ำบางปะกง-แม่น้ำปราจีนบุรีเป็นหลักด้วย อย่างไรก็ตาม กอนช. จะติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ของอ่างฯ ทั้ง 5 แห่ง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถควบคุมการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้ง ปี 2564/65 โดยเฉพาะน้ำอุปโภค บริโภค รวมถึงสำรองไว้สำหรับช่วงต้นฤดูฝน ปี 2565 ด้วย

"สำหรับสถานการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้ง ด้านอุปโภคบริโภค ทั้งในเขต กปภ. และประปาท้องถิ่น ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาระยะสั้นแล้ว เช่น การสูบทอยน้ำ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกลและวางท่อส่งน้ำดิบสูบน้ำชั่วคราวจากแหล่งน้ำสำรอง การกั้นฝายชั่วคราว การขุดขยายทางน้ำ การใช้รถบรรทุกน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เป็นต้น ในขณะที่ด้านการเกษตร ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีการทำนารอบที่ 2 (นาปรัง) แล้ว จำนวน 9.30 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 9.02 ล้านไร่ โดยในพื้นที่เฝ้าะระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้ง มีการเพาะปลูกเกินแผนแล้ว 18 ตำบล 13 อำเภอ 8 จังหวัด จำนวน 80,088 ไร่ แต่จากการประเมินสถานการณ์น้ำยังคงเพียงพอต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ดังกล่าว หากมีการใช้น้ำอย่างระมัดระวังเท่าที่จำเป็น จึงได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร รวมทั้งผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ในการให้ความสำคัญกับการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำตลอดช่วงหน้าแล้งนี้" ดร.สุรสีห์ กล่าว.