นักวิจัย มรภ.มหาสารคาม พัฒนาแผนการเรียนรู้ส่งเสริม EF ในเด็กปฐมวัย เน้นตั้งต้นพัฒนาครู เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาเด็ก

20 Jun 2022

การจัดการศึกษาปฐมวัยตามปรัชญาการศึกษาปฐมวัยและวิสัยทัศน์ของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 บนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจ ในแนวคิดและหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย มีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาเด็ก ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาแบบองค์รวมและสมดุลครบทุกด้าน ผ่านการเล่นอย่างมีความหมาย นอกจากนี้ ยังต้องสอดคล้องกับการทำงานของสมอง การเสริมสร้างทักษะการคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของเด็กในอนาคต ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้เริ่มดำเนินการศึกษางานวิจัย การพัฒนาทักษะสมองเพื่อการจัดการชีวิตสู่ความสำเร็จสำหรับเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพชีวิตไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ประจำปีงบประมาณ 2564

นักวิจัย มรภ.มหาสารคาม พัฒนาแผนการเรียนรู้ส่งเสริม EF ในเด็กปฐมวัย เน้นตั้งต้นพัฒนาครู เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาเด็ก

ดร.รัตติกาล สารกอง อาจารย์ประจำสาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของงานวิจัย นี้ ว่า ช่วงปฐมวัยเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาทักษะสมอง หรือ EF (Executive Function) ซึ่งเป็นกระบวนการทางความคิดของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวของกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ สมองส่วนนี้จะพัฒนามากที่สุดเป็นช่วงของการพัฒนาความสามารถในการคิด การจัดระเบียบตนเอง ซึ่งส่งผลต่อการยับยั้งชั่งใจ การคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การใส่ใจจดจ่อ การวางแผน การตั้งเป้าหมาย ความมุ่งมั่น การจดจำ การเรียกใช้ข้อมูลอยางมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ และการลงมือทำอย่างเป็นขั้นตอนจนสำเร็จ ดังนั้นทักษะสมอง (EF) จึงเป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝนในชีวิตประจำวันของเด็ก ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ หลากหลายที่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ลงมือทำ เพื่อให้เกิดความพร้อม และมีทักษะที่สำคัญต่อชีวิตในอนาคต

ดร.รัตติกาล กล่าวด้วยว่า แม้ครูปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งรับภารกิจดูแล พัฒนา และจัดกระบวนการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัย จะมีความรู้ความสามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยในหลักการ และแนวทางการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม ที่เน้นให้การส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาแก่เด็กไปแล้วอย่างดี แต่ด้วยกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วละอาจส่งผลต่อการพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูปฐมวัยจะต้องได้รับความรู้ใหม่ในหลักการพัฒนาทักษะสมอง EF ในเด็ก ที่จะต่อยอดเชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่มีเป็นฐานทุน สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมองในการพัฒนาสร้างโอกาสให้เด็กได้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น และได้พัฒนาทักษะการจัดกระบวนการเรียนการสอนแก่เด็กปฐมวัย จนสามารถเพิ่มประสิทธิผลในการพัฒนาเด็ก ปลูกฝังรากฐานทักษะพื้นฐานที่จำเป็นตามธรรมชาติ ให้เกิดความพร้อมต่อการพัฒนาในช่วงประถมศึกษาและในวัยอื่น ๆ ต่อไป รวมทั้งเตรียมความพร้อมของเด็กสู่โลกอนาคตอย่างมั่นคง

ดร.รัตติกาล กล่าวด้วยว่า จากการจัดอบรมโครงการการพัฒนาทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตสู่ความสำเร็จสำหรับเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 ให้แก่ครูปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 13 อำเภอ จำนวน 65 ศูนย์ มีครูปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วมจำนวน 325 คน เข้าอบรมในหัวข้อ ทักษะสมอง EF ในเด็กปฐมวัย การเขียนแผนการจัดประสบการณ์ด้วย EF Guideline การจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์ โดยจากการตรวจการเขียนแผนรูปแบบ EF Guideline และการผลิตสื่อการสอนส่งเสริมทักษะสมอง EF คณะผู้วิจัยได้คัดเลือกศูนย์ปฐมวัยต้นแบบ จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 13 ศูนย์ มีครูปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วมจำนวน 65 คน คณะผู้วิจัยทำการนิเทศติดตามให้คำแนะนำปรับปรุงการพัฒนาแผนรูปแบบ EF Guideline และการผลิตสื่อการสอนส่งเสริมทักษะสมอง EF นำไปสู่การใช้จัดกิจกรรมในชั้นเรียน และร่วมถอดบทเรียนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ นำไปสู่การประเมินผลคัดเลือก Best Practice ต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากได้รับการอบรมและนิเทศติดตาม ครูมีความเข้าใจในการเขียนแผนรูปแบบ EF Guideline และผลิตสื่อการสอนส่งเสริมทักษะสมอง EF มากขึ้น จากการร่วมถอดบทเรียนพบว่า ครูสามารถอธิบายสื่อและกิจกรรมที่ออกแบบได้ว่า ช่วยส่งเสริมทักษะสมอง EF ให้เกิดขึ้นกับเด็กด้านใดได้บ้าง

"จากการได้ฝึกอบรมและปฏิบัติจริงช่วยส่งผลให้ครูที่ได้ผ่านการอบรม ได้เห็นกระบวนพัฒนาทักษะ EF ในเด็กปฐมวัยได้แบบครบวงจรด้วยตัวของครู สามารถนำไปสู่การพัฒนาศูนย์ของตนเองให้เป็นศูนย์ต้นแบบต่อไป โดยผลการคัดเลือกศูนย์ที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโนนเขวา ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม" ดร.รัตติกาล กล่าว

ทั้งนี้ จากการนำแผนการจัดประสบการณ์ด้วย EF Guideline และผลิตสื่อการสอนส่งเสริมทักษะสมอง EF ที่ครูออกแบบไปใช้จริงกับเด็กปฐมวัย พบว่า แผนการจัดประสบการณ์ด้วย EF Guideline และสื่อการสอนส่งเสริมทักษะสมอง EF ที่ครูออกแบบสามารถกระตุ้นให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ตามรูปแบบ EF ได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ครูกำหนดไว้ โดยเด็กสามารถคิดวางแผนและตัดสินใจแก้ปัญหาระหว่างทำกิจกรรมได้ รวมถึงสามารถทำความเข้าใจและปฏิบัติกิจกรรมร่วมกับการใช้สื่อจนบรรลุเป้าหมายได้ด้วยตัวเด็กเองได้

ดร.รัตติกาล กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้งานแผนการจัดประสบการณ์ด้วย EF Guideline และผลิตสื่อการสอนส่งเสริมทักษะสมอง EF เพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้น โดยในอนาคตจะต่อยอดงานวิจัยชิ้นนี้ ไปในจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น และร้อยเอ็ด ต่อไป

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit