วิศวะมหิดล เป็นโมเดลถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการขอรับรองหลักสูตรมาตรฐาน ABET

14 Dec 2022

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering) นำโดย ผศ.ดร.ก่อพร พันธุ์ยิ้ม รองคณบดีฝ่ายบริหารและการคลัง พร้อมด้วยทีมผู้บริหาร หัวหน้าภาควิชาและคณาจารย์ ต้อนรับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.รัชพล สันติวรากร คณบดี พร้อมด้วยทีมผู้บริหาร ในการมาศึกษาเยี่ยมชมการดำเนินงานของคณะวิศวะมหิดล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ การเตรียมความพร้อมในการขอรับการรับรองมาตรฐานหลักสูตร ABET โดยมี ผศ.ดร.พรทิพย์ แก่งอินทร์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และ ผศ.ดร.ธีรพร รับคำอินทร์ ที่ปรึกษาคณบดีด้านการศึกษาและพัฒนาคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงาน ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

วิศวะมหิดล เป็นโมเดลถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการขอรับรองหลักสูตรมาตรฐาน ABET

จากความสำเร็จของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองคุณภาพการศึกษามาตรฐานโลกจาก Accreditation Board for Engineering and Technology หรือ ABET แห่งสหรัฐอเมริกา รวดเดียวถึง 6 หลักสูตร ป.ตรี ซึ่งนับว่ามากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ 1. หลักสูตรชีวการแพทย์ (นานาชาติ) 2. หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 3. หลักสูตรวิศวกรรมเคมี 4. หลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล 5. หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้า 6. หลักสูตรวิศวกรรมโยธา

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering) กล่าวว่า ปัจจุบันหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศชั้นนำทั่วโลก ทั้งในสหรัฐ ยุโรปและเอเชีย ต่างพัฒนาและได้การรับรองมาตรฐานสากลจากระบบ ABET หรือ Accreditation Board for Engineering and Technology สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ตลาดแรงงานและข้อกำหนดทางวิชาชีพสากล ดังนั้น การที่ 6 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองคุณภาพการศึกษาเท่าเทียมกับนานาชาติ มาตรฐาน ABET จึงนับเป็นครั้งแรกของไทยและจะเป็นก้าวสำคัญของ 'การปฏิรูปการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์' ของประเทศไทยโดยการยกระดับให้เป็นที่ยอมรับเท่าเทียมกับนานาชาติ มาตรฐาน ABET รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียนและโลกเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ยกระดับวิศวกรไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงานโลก เพิ่มโอกาสแก่ผู้จบการศึกษาให้สามารถทำงานในนานาประเทศ หรือโอนหน่วยกิตเพื่อศึกษาต่อได้ทัดเทียมกับวิศวกรต่างชาติ

ปัจจัยที่ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองในคุณภาพการศึกษาจากคณะกรรมการ ABET นั้น เกิดจากศักยภาพและคุณภาพของหลักสูตรการศึกษา ซึ่งมีการติดตาม การวิเคราะห์ประเมินและปรับปรุงในทุก ๆ ปี อย่างต่อเนื่อง โดยรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งจากนักศึกษาปัจจุบัน ศิษย์เก่าที่จบการศึกษาไปแล้ว รวมถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ใช้บัณฑิต นายจ้าง ภาครัฐและเอกชน เพื่อความทันสมัยและความเป็นสากลของหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์

ผศ.ดร.ก่อพร พันธุ์ยิ้ม รองคณบดีฝ่ายบริหารและการคลัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering)  กล่าวว่า  ในการเตรียมตัวยื่นขอการรับรองจาก ABET สถาบันการศึกษาต้องทุ่มเทพัฒนาหลักสูตร และผลลัพธ์ของการศึกษาที่สะท้อนมาในคุณลักษณะต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานของ ABET ซึ่งมี 8 ด้าน คือ 1. Students 2. Program Educational Objectives 3. Student Outcomes 4. Continuous Improvement 5. Curriculum 6. Faculty 7. Facilities และ 8. Institutional Support ทั้งนี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาปรับปรุงทุกหลักสูตรอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เพื่อรักษามาตรฐานทางการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ในระดับโลก เมื่อครบวงรอบในอีก 6 ปีข้างหน้า อีกทั้งเราพร้อมให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงแก่คณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันอื่นๆ ภายในประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อร่วมกันเป็นพลังผลักดันให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน ABET ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพตามที่ อว.ตั้งเป้าหมายไว้

วิศวะมหิดล เป็นโมเดลถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการขอรับรองหลักสูตรมาตรฐาน ABET