PwC แนะจับตา 'บริการทางการเงินแบบฝังตัว' ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินของไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

ชี้ธนาคารและประกันต้องให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์-บริการในรูปแบบใหม่ ๆ

PwC แนะจับตา 'บริการทางการเงินแบบฝังตัว' ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินของไทย

PwC ชี้ 'บริการทางการเงินแบบฝังตัว' กำลังเป็นดิสรัปชันใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินและธนาคารทั่วโลก โดยบริการทางการเงินที่ฝังตัวอยู่ในทุกรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคนี้ เปิดทางให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นนอนแบงก์เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจธนาคารและธุรกิจประกันภัยแบบดั้งเดิม รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงจากการสูญเสียลูกค้าและแหล่งรายได้ตลาดลูกค้ารายย่อย แนะธุรกิจธนาคารยกระดับแพลตฟอร์มและสร้างข้อเสนอที่มีการฝังบริการทางการเงิน เพื่อรักษาฐานลูกค้า สร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ตลอดจนปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้าสายงานกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมการเงินทั้งในส่วนของภาคธนาคารและประกันภัยทั่วโลก กำลังเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เกิดจากบริการทางการเงินแบบฝังตัว (Embedded finance) ซึ่งถือเป็นรูปแบบบริการทางการเงินที่ฝังตัวอยู่ในทุกช่วงชีวิตของลูกค้า โดยผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-banks และ Non-insurance) ได้เริ่มนำบริการประเภทนี้มาใช้กับการชำระเงิน การให้กู้ยืมเงิน และ การประกันภัย เป็นต้น โดยบริการทางการเงินในรูปแบบดังกล่าว ฝังตัวอยู่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ไม่ว่าจะเป็นตลาดขายของบนโลกออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เพื่อให้การทำธุรกรรมเป็นไปได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว

แนวโน้มดังกล่าว สอดคล้องกับบทความ 2022 Retail Banking Monitor: Repositioning for embedded finance โดย Strategy& ของ PwC ที่คาดการณ์ว่า สัดส่วนของบริการทางการเงินแบบฝังตัว จะคิดเป็นมากกว่า 15% ของส่วนแบ่งรายได้ของธนาคารเพื่อรายย่อยในยุโรปในปี 2573

"ตลาดบริการทางการเงินแบบฝังตัว จะยิ่งขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่สถาบันการเงิน แต่ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมถึงกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น ค้าปลีก โทรคมนาคม ประกันภัย หรืออีคอมเมิร์ซ เข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดและทำให้เกิดรูปแบบบริการใหม่ ๆ เช่น บริการแบงก์กิ้ง บริการประกัน บริการท่องเที่ยว และบริการสุขภาพ โดยผลบวกที่ตามมา คือ นอกจากจะทำให้ตลาดนี้ใหญ่ขึ้นแล้ว เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ embedded finance ก็จะยิ่งเติบโตตามไปด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ธนาคารเพื่อรายย่อยก็จะมีความเสี่ยงจากการต้องสูญเสียลูกค้าและส่วนแบ่งรายได้ให้กับผู้เล่นที่เข้ามาใหม่" นางสาว วิไลพร กล่าว

ทั้งนี้ บทความดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า ตลาดบริการการเงินแบบฝังตัวในประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.25 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.88 แสนล้านบาท)[1] และคาดว่า ในปี 2568 มูลค่าดังกล่าว จะเติบโตมากกว่าสิบเท่าเป็น 2.3 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8 ล้านล้านบาท) ในเชิงของปริมาณรายได้ใหม่ สะท้อนให้เห็นว่า มูลค่าตลาดรวมของบริการทางการเงินแบบฝังตัวทั่วโลกนั้นย่อมจะต้องสูงกว่านี้มาก

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มฟินเทค (FinTech) ได้นำบริการทางการเงินแบบฝังตัวมาใช้กับสินค้าและบริการของตนอย่างแพร่หลาย รวมถึงนำเสนอโซลูชันทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี และแย่งชิงส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจบริการทางการเงินเพื่อรายย่อย เช่น การให้บริการ 'ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง' (Buy-Now-Pay-Later) ของธุรกิจสายการบิน การจัดหาเงินทุนให้แก่ผู้ป่วยสำหรับการผ่าตัดใหญ่ของธุรกิจโรงพยาบาล และการจัดตั้งรูปแบบการชำระเงินของตนเองของธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น

ดึง embedded finance มาใช้สร้างความแตกต่าง

นางสาว วิไลพร กล่าวว่า การฝังบริการทางการเงินในระบบนิเวศจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธนาคารและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม เพราะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม หรืออินเทอร์เฟซดิจิทัล (Digital interfaces) ที่ผู้บริโภคทำการโต้ตอบด้วยทุกวัน และนำเสนอออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว จึงช่วยส่งมอบประสบการณ์ที่ดี และส่งผลให้ความสัมพันธ์กับลูกค้าแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินที่ต้องการก้าวสู่บริการทางการเงินแบบฝังตัวควรกำหนดบทบาทและวางตำแหน่งทางการตลาดให้ชัดเจน ซึ่งบทบาทสำคัญที่ธนาคารและสถาบันการเงินควรพิจารณา มีดังต่อไปนี้

  1. สถาบันการเงินเข้าร่วมในระบบนิเวศ (Participant) โดยนำผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินฝังเข้าไปในแพลตฟอร์มของธุรกิจอื่น ๆ เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ให้แก่กลุ่มลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มหรือ ecosystem ของผู้อื่น ซึ่งทำได้ง่ายและรวดเร็ว แต่อาจไม่สามารถกำหนดทิศทางของระบบนิเวศโดยรวมได้ 
  2. สถาบันการเงินร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศ (Orchestrator) โดยร่วมกันกำหนดทิศทางของระบบนิเวศ เช่น กลยุทธ์ การปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด ประเภทของผลิตภัณฑ์ หรือการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรูปแบบนี้ จะใช้การลงทุนด้านเวลาและเงินทุนสูงกว่าข้อแรก
  3. สถาบันการเงินเป็นผู้สร้างระบบนิเวศ (Creator) ของตนเองขึ้นมา โดยมีอำนาจในการควบคุมอย่างเต็มที่ (full control) และเป็นผู้ลงทุนด้านเม็ดเงิน เวลา บุคลากร และเทคโนโลยี ทั้งนี้ สถาบันการเงินสามารถกำหนดทิศทางทั้งหมด เช่น การเลือกคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจ ประเภทของผลิตภัณฑ์ การกำหนดประสบการณ์ของลูกค้า การทดลองนวัตกรรมใหม่ และอื่น ๆ ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจนี้ เหมาะสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อทดลองและขยายขนาด (scale up) 

"ในส่วนของประเทศไทย เราจะยิ่งเห็นการจับมือทางธุรกิจระหว่างฟินเทคกับบริษัทลูกของธนาคารที่แยกออกมาสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อรุกธุรกิจด้านการเงินสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้หรือรีเซ็ตโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ แต่สิ่งที่ธนาคารต้องให้ความสำคัญอย่างที่กล่าวไป คือ ต้องกำหนดบทบาทของตนในระบบนิเวศที่จะยิ่งทวีความซับซ้อน พร้อมปรับปรุงคุณค่าที่นำเสนอเพื่อรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ยิ่งไปกว่านั้น จะต้องสร้างความแตกต่างเพื่อแข่งขันในตลาด โดยยึดการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าเป็นโจทย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เหนือกว่าคู่แข่งให้ได้" เธอกล่าว

[1] อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 34.92 บาท ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2565


ข่าวธุรกิจประกันภัย+กลุ่มอุตสาหกรรมวันนี้

คปภ. ผนึกกำลังจังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย ทีดีอาร์ไอ จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่งถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย"

คปภ. ผนึกกำลังจังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย ทีดีอาร์ไอ จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่งถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย" Kick off พื้นที่ต้นแบบความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ พ.ร.บ. ปี 2568 พร้อมจัดเวทีเสวนาถอดรหัส ถนน 304 เสนอบังคับใช้ กม. ออกมาตรการลดเสี่ยง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) จังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่ง ถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย" ภายใต้

นายไพบูลย์ เปี่ยมเมตตา ผู้ช่วยเลขาธิการ ส... คปภ. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณสำรองเบี้ยประกันภัย เสริมความมั่นคงธุรกิจประกันภัยไทย — นายไพบูลย์ เปี่ยมเมตตา ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย เ...