ม.มหิดล เปิดโลกมหัศจรรย์ ศึกษาวิจัยโรคเมตาบอลิกในมนุษย์ ด้วยโมเดลของปลาม้าลาย (Zebrafish model)

22 Dec 2022

"โรคอ้วน" เป็นหนึ่งในโรคเมตาบอลิก (Metabolic Syndrome) ที่เกิดจากระบบการเผาผลาญที่ผิดปกติของร่างกาย เป็นโรคที่ไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาภาวะไขมันพอกตับแต่ยังทำให้เกิดภาวะเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ และความผิดปกติอื่นๆของร่างกายเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ศึกษาวิจัยโรคเมตาบอลิกในมนุษย์ ด้วยโมเดลของปลาม้าลาย(Zebrafish model)

ม.มหิดล เปิดโลกมหัศจรรย์ ศึกษาวิจัยโรคเมตาบอลิกในมนุษย์ ด้วยโมเดลของปลาม้าลาย (Zebrafish model)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์เฉลิมชัย มิตรพันธ์อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้ศึกษาวิจัยโรคเมตาบอลิกด้วยโมเดลของปลาม้าลายในระดับโมเลกุลว่า โมเดลปลาม้าลายถูกนำมาใช้เป็นโมเดลสัตว์ทดลองอย่างเป็นระบบเพื่อศึกษาการทำงานของระบบประสาท โดย ศ.จอร์จ สไตรซิงเกอร์ (Prof. George Streisinger) แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอน (University of Oregon) สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา

หลังจากนั้นปลาม้าลายเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มนำไปเป็นโมเดลศึกษา การทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ครอบคลุมไปถึงการศึกษาพยาธิวิทยา และการเกิดโรคต่างๆ

แม้ปลาโดยทั่วไปจะอยู่ในประเภทสัตว์เลือดเย็น ต่างจากมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนม ข้อมูลจากโครงการถอดรหัสแผนที่พันธุกรรมของปลาม้าลาย โดยสถาบันวิจัยจีโนม (Wellcome Trust Sanger Institute) พบว่า ปลาม้าลาย ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ถูกจัดเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังที่มีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย มีลำดับเบสพันธุกรรม (Genome Sequence) ที่เหมือนกับรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ถึงร้อยละ 70

และถ้าใช้เทคนิคทางโมเลกุล เพื่อยับยั้งการแสดงออก(gene knockdown) ของยีนในกลุ่มนี้ จะมีลักษณะที่ตรวจสอบได้ (phenotype) ที่เหมือนกับ ลักษณะที่พบในโรคที่เกิดขึ้นในมนุษย์ ถึงร้อยละ 80

นอกจากนี้ สาเหตุที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์เฉลิมชัย มิตรพันธ์ ได้เลือกศึกษาวิจัยโดยใช้ปลาม้าลายเป็นสัตว์ทดลอง เพื่อการศึกษาวิจัยโรคเมตาบอลิก เนื่องจากสามารถทำการทดลองได้ในจำนวนที่มากกว่า และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการทดลองโดยใช้หนู ซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกันมนุษย์ เป็นสัตว์ทดลอง

โดยได้เลือกใช้ปลาม้าลาย อายุ 3 - 7 เดือนซึ่งเป็นตัวเต็มวัย(adult) มาเลี้ยงให้อ้วน หรือมีน้ำหนักเกินกว่าปกติ ก่อนนำเนื้อเยื่อจากตับ ไต และไขมันมาทำการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันที่สะสมในตับ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มวิจัย Metabolomics and Systems Biology ศูนย์ชีวโมเลกุลและฟีโนมศิริราช (Siriraj Metabolomics and Phoenomics Center, SiMPC) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ซึ่งการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ทำเพื่อประโยชน์ในการค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biological marker) สำหรับทำนายการเกิดโรคเมตาบอลิกในมนุษย์ ภายใต้ทุนสนับสนุนวิจัยหลักจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยทำการทดลองอย่างถูกต้องและเท่าที่จำเป็น ตามหลักจริยธรรมตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2558 โดยก้าวต่อไปเตรียมต่อยอดขยายผลสู่การศึกษาโรคทางเมตาบอลิกที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับโรคอ้วน เช่น ภาวะไตเสื่อม (chronic kidney disease) ในมนุษย์ต่อไปด้วยในอนาคต

ซึ่งการป้องกัน ย่อมดีกว่าการรักษา เพียงหันมาติดตามเฝ้าระวัง BMI ไม่ให้เกิน 25 ค่า BMI นี้เราสามารถคำนวณได้เองโดยใช้น้ำหนักตัวที่เป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง และรู้จักป้องกันโดยระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากเกินไปจากการรับประทานอาหารแต่พอดี และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210