GCNT- United Nations Thailand รวมพลังภาคเอกชน เร่งเครื่องสู้วิกฤตโลก หนุนเป้าหมายประเทศ ปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ภายในปี 2030

02 Nov 2022

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับสหประชาชาติในประไทย (United Nations Thailand) จัดงานประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปี 'GCNT Forum 2022 : Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges" การเร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน พร้อมด้วยด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือของสมาชิก GCNT ที่จะเร่งมือเพิ่มมาตรการ เพื่อลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปกป้องคุ้มครองพื้นที่บนบกและทะเล ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ภายในปี 2030

GCNT- United Nations Thailand รวมพลังภาคเอกชน เร่งเครื่องสู้วิกฤตโลก หนุนเป้าหมายประเทศ ปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ภายในปี 2030

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ความมุ่งมั่นและการลงมือทำของไทย เพื่อลดสภาวะโลกร้อนและความเสียหายต่อธรรมชาติ" โดยเน้นย้ำว่าการลดภาวะโลกร้อน มิใช่เพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤติธรรมชาติ แต่เพื่อให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีความยั่งยืน ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคระหว่างวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายนนี้ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จึงกำหนดให้หลักการ "การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ซึ่งคำนึงถึงการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเยียวยารักษาธรรมชาติอย่างมีสมดุล" เป็นหัวใจของเอกสารผลลัพธ์ของเอเปค ที่เรียกว่า "เป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว" ซึ่งจะเป็นประเด็นหลักของการปรึกษาหารือของผู้นำเขตเศรษฐกิจ ในครั้งนี้

โดยหวังว่า "เป้าหมายกรุงเทพฯ" จะสามารถบรรลุผลและนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม และมีความต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อรับมือกับวิกฤตโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การจัดการป่าไม้และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน การลดและบริหารจัดการของเสีย ไปจนถึงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสอดรับกับความพยายามของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายของไทยเอง คือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)  ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065  

นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่าประเทศไทยมีศักยภาพและข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จึงต้องใช้ประโยชน์จากจุดนี้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพ การพัฒนาศักยภาพด้านเกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุสุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยว  โดยประเทศไทยเป็นภาคีสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ CBD และมีบทบาทแข็งขันในการร่วมกับรัฐภาคีอื่น ในการจัดทำกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกภายหลังปี ค.ศ. 2020 ซึ่งจะมีการรับรองในการประชุม CBD COP15  ในเดือนธันวาคมนี้

ในช่วงท้าย พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ภาคเอกชนไทยมีความตื่นตัวและได้เริ่มปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางทรัพยากรและขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศสู่ความยั่งยืนแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจ SME ทุกขนาด มีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงข่ายรากฐานที่เข้มแข็งจากความร่วมมือ ของทุกองค์กร ทุกภาคส่วน

"การพัฒนาที่มุ่งเน้นการเติบโตและผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว โดยมองข้ามเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถนำไปสู่ความยั่งยืนได้และยังสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยน ทั้งแนวคิด วิถีชีวิต รูปแบบเศรษฐกิจและโมเดลธุรกิจ สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นและยั่งยืน เพราะการสร้างผลกำไรสามารถทำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสังคมได้ และจะต้องเป็นเช่นนั้น" พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้กล่าวถึง ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงของสมาชิก GCNT ว่าตามที่สมาชิกได้ประกาศเจตนารมณ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero โดยแสดงความมุ่งมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070 ขณะนี้สมาชิกของสมาคมได้ร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว อย่างน้อยประมาณ 8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ผ่านโครงการต่างๆ เปรียบเสมือนการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนไปกว่าหนึ่งล้านหกแสนคัน

งาน GCNT Forum 2022 ปีนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแสดงความพร้อมของภาคเอกชนที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตาม BCG Model และตามแนวคิด Open. Connect. Balance. "การเปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพของไทย ปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่งของแนวคิดเหล่านี้ มาจากความตระหนักรู้และความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกยังอยู่ในสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ตึงเครียด และมีความเสี่ยงว่า วิกฤตสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจะถูกละเลย โดยภาคธุรกิจต้องร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ เตรียมรับมือกับผลกระทบในเรื่องนี้ให้ทันท่วงที ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสติ ความมุ่งมั่น ทุ่มเทกำลังปัญญาและทรัพยากร เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ควบคู่ไปกับการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า สร้างสรรค์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และ SME โดยยังจำเป็นต้องอาศัยกลไกตลาดและกลไกทางการเงินที่มีประสิทธิผล พร้อมทั้งจัดทำรายงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและติดตามผลการดำเนินงาน

"การดำเนินธุรกิจโดยรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมการพัฒนาและส่งมอบคุณค่าแก่สังคม จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจ ที่จะสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งหรือ Resilience ขององค์กรและของระบบเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป" นายศุภชัย กล่าว

ในขณะที่ นางกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้เน้นย้ำ 3 ประเด็นสำคัญเพื่อรับมือกับวิกฤตโลกว่า ประเด็นแรก คือ บทบาทของผู้นำภาคเอกชน  โดยเฉพาะสมาชิก GCNT ที่เดินหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การลงทุนในเทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เพิ่มการลงทุนอย่างรับผิดชอบ เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังเช่นการลงมือทำอย่างจริงจังและประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ประเด็นที่สอง การปลดล็อกการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนจากตลาดการเงินในประเทศ  และประเด็นที่สาม ความร่วมมือกับเครือข่ายของสหประชาชาติ ที่พร้อมยืนหยัดสนับสนุนองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก อาทิ ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในตลาดคาร์บอนและพลังงาน เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำที่ดีที่สุด การจัดการของเสีย การก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อให้รัฐบาลและภาคธุรกิจสามารถนำความยั่งยืนไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มทุน

"โลกสามารถเรียนรู้ถึงบทบาทสำคัญของภาคเอกชนไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs  และสมาชิก GCNT เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในเวทีโลกได้  เป็นตัวอย่างแห่งความหวังและความเป็นผู้นำอย่างเข้มแข็งของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดทำงานร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" นางกีต้า กล่าว

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงฯ จะขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบาย ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ด้านการค้า/การลงทุน ด้านการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และสุดท้าย ผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับจาก Voluntary เป็น Mandatory โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและกลไกการเงินที่จำเป็น การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา และการถ่ายทอดเป้าหมาย

"ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะนำพาประเทศไทย ก้าวสู่ Carbon Neutrality อย่างยั่งยืน เราต้องร่วมกันดูแลโลกใบนี้ไว้เพื่อลูกหลานเราต่อไป" นายวราวุธ กล่าว

Hi-light ของงาน GCNT Forum 2022 อยู่ที่การประกาศเจตนารมณ์ของสมาชิก GCNT ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องธรรมชาติ อย่างเป็นรูปธรรม วัดผล และขยายผลได้ โดยตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงจะเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมมือกับผู่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ร่วมปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ โดยประกาศเจตนารมณ์ว่าจะมุ่งมั่น บริหารจัดการ กำหนดนโยบายและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีระบบในการประเมินและติดตามตรวจสอบคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนรวมของชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และด้วยการสนับสนุนกลไกทางการเงินการบริหารจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปกป้องคุ้มครองพื้นที่บนบกและทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ ภายในปี ค.ศ. 2030

ทั้งนี้ GCNT Forum 2022 จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ และแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. โดยมีผู้นำความยั่งยืนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนกว่า 100 คน อาทิ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)   ดร. ภากร  ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้นำจากองค์กรธุรกิจชั้นนำ อาทิ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)  บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)    บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)  บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด  บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด   บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน)   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)  บริษัท  ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน โดยภายในงานมีเสวนาถึง 5 เวที 5 หัวข้อ ได้แก่ 1.ทางออกในการบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  2.การสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจในการฟื้นฟูและบรรเทาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รายกลุ่มย่อย ได้แก่ 2.1 ภาคพลังงานและการขนส่ง 2.2 เมืองอัจฉริยะ อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และสินค้าอุปโภคบริโภค 2.3 ทางเลือกการลงทุนและบทบาทของตลาดทุน  3.การกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพ -บทบาทของธุรกิจและผู้บริโภค 4. การดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในด้านสภาพอากาศและการปกป้องธรรมชาติ 5. สรุปการหารือและการดำเนินการต่อไป