กทม.เตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด 19 หลังสงกรานต์

18 Apr 2023

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม.กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ XBB.1.16 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้รณรงค์เน้นย้ำและกระตุ้นเตือนให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคและมาตรการสุขลักษณะส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ รวมถึงเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง 7 วัน หลังเดินทางกลับจากท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ หลีกเลี่ยงสัมผัส หรือใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ครั่นเนื้อครั่นตัวให้ตรวจด้วยชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 (Antigen Test Kit : ATK) หากตรวจแล้วผลเป็นบวก ให้เข้ารับการรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาลของตนเอง ทั้งนี้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ได้จัด เตรียมยา เวชภัณฑ์รักษาโรคโควิด 19 ไว้อย่างเพียงพอ รวมทั้งได้เปิดให้บริการคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ระหว่างเวลา 08.00 - 12.00 น. วันจันทร์ - ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ

กทม.เตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด 19 หลังสงกรานต์

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมเตียงและบุคลากรทางการแพทย์รองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้นภายหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรง รวมถึงจัดทีมสหสาขาวิชาชีพติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง เฝ้าติดตามอาการตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งเป็นอีกอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อติดเชื้อโควิด 19 หรือเกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม ทำให้มีเชื้อโรคกระจายมายังเยื่อบุตา อย่างไรก็ตาม อาการเยื่อบุตาอักเสบ พบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็กมากกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง มักเป็นเพียงเยื่อบุตาอักเสบที่คล้ายจากไวรัสชนิดอื่น ๆ รักษาโดยให้ยาลดอาการและประคับประคองก็จะดีขึ้น วิธีตรวจสอบว่า เป็นโรคภูมิแพ้ดวงตา หรือติดเชื้อโควิด 19 ให้ตรวจที่ดวงตา หากดวงตามีอาการแดง น้ำตาไหล และมีอาการคัน เคืองตา ถือเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้ดวงตา หากติดเชื้อโควิด 19 จะไม่ทำให้ดวงตาคันเคือง หรือมีน้ำตาไหล ความแตกต่างระหว่างโรคภูมิแพ้ดวงตากับโรคโควิด 19 คือ อาการไข้ หากเป็นภูมิแพ้ดวงตาจะไม่มีอาการไข้เหมือนผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ส่วนใหญ่จะมีอาการ

ทั้งนี้ หลังกลับจากเทศกาลสงกรานต์ขอให้ประชาชนตรวจคัดกรองตนเองก่อนเริ่มปฏิบัติงาน เช่น การตรวจด้วยวิธี ATK หรือ RT-PCR หากมีผลบวกจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเฝ้าระวังอาการตนเองที่อาจเกิดขึ้น เช่น อาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หากมีอาการดังกล่าวให้เร่งตรวจคัดกรองตนเอง หากผลเป็นลบให้ตรวจซ้ำเมื่อครบ 7 วัน หรือเมื่อมีอาการ ช่วงสังเกตอาการให้เลี่ยงพบผู้คน สวมหน้ากากตลอดเวลา และใช้มาตรการ Work from Home ในช่วง 7 วันหลังกลับจากสถานที่ต่างจังหวัด หากผลตรวจเป็นบวก กรณีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว (ไม่มีอาการ) แยกกักตัวที่บ้านแบบ "เจอ แจก จบ" หรือรักษาที่บ้าน (Home Isolation) กลุ่มสีเหลือง สีแดง ส่งต่อโรงพยาบาลที่สามารถดูแล โดยใช้สิทธิ UCEP Plus อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนทุกคนป้องกันตนเองและคนในครอบครัว โดยเข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง DMHTT และ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด