กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศเพิ่มเป็น 8 แห่ง ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

28 Mar 2023

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการยกระดับการให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า สนพ.ได้ขยายเวลาให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศเพิ่มเป็น 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล (รพ.) กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10811 (วันอังคารและวันศุกร์ เวลา 08.00 - 12.00 น.) รพ.ตากสิน โทร. 02 437 0123 ต่อ 1426 , 1430 (วันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันพุธและวันหยุดราชการ เวลา 09.00 - 12.00 น.) รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร. 02 289 7225 (วันพุธ เวลา 13.00 - 15.00 น.) รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.02 429 3576 ต่อ 8522 (วันพฤหัสบดี เวลา 08.00 - 12.00 น.) รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ โทร.02 543 2090 หรือ 084 215 3278 (วันอังคาร เวลา 13.00 - 16.00 น.) รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.02 326 9995 (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 - 16.00 น.) รพ.ราชพิพัฒน์ โทร. 063 324 11216 หรือ 099 170 5879 (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 - 16.00 น.) และ รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 ต่อ 11434 (วันอังคาร เวลา 13.00 - 16.00 น.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละออง

กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศเพิ่มเป็น 8 แห่ง ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

ขณะเดียวกันได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักอนามัย สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่น PM2.5 ที่สูง จนมีผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้ประชาชน รวมทั้งจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ และหน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็นหากมีรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองของ รพ.ในสังกัด ระหว่างวันที่ 6 - 23 มี.ค.66 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 955 ราย พบว่า เป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหลอดเลือดสมองสูงสุด จำนวน 386 ราย รองลงมาคือ ตาอักเสบ 192 ราย หอบหืด 135 ราย ระบบทางเดินหายใจ 124 ราย และปอดอุดกั้นเรื้อรัง 118 ราย

นอกจากนี้ สนพ.ขอแจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที