กรมประมงชวนเลี้ยง "หอยเป๋าฮื้อ" ราชินีแห่งคอลลาเจน เผยเลี้ยงง่าย เนื้อเยอะ รสชาติดี ราคาสูงขั้นต่ำกิโลละ 1,000 บาท

24 Aug 2023

"หอยเป๋าฮื้อ"… หอยทะเลที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ด้วยสรรพคุณที่มีส่วนช่วยบำรุงร่างกาย ทั้งระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยบำรุงกระดูก ข้อต่อ จึงนิยมนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ หอยเป๋าฮื้อ ยังมีคอลลาเจนที่มีคุณภาพสูง จึงถูกขนานนามว่าเป็น "ราชินีแห่งคอลลาเจน"

กรมประมงชวนเลี้ยง "หอยเป๋าฮื้อ" ราชินีแห่งคอลลาเจน เผยเลี้ยงง่าย เนื้อเยอะ รสชาติดี ราคาสูงขั้นต่ำกิโลละ 1,000 บาท

จากรายงานพบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2565 ประเทศไทยนำเข้าหอยเป๋าฮื้อมีมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ย 18.35 ล้านบาท และมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 5.81 ล้านบาท โดยทั่วไปส่วนใหญ่ตลาดต้องการหอยที่มีขนาดใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 200-250 กรัม หรือประมาณ 4-5 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งหอยเป๋าฮื้อของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดนี้ได้น้อยมาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์หอยเป๋าฮื้อของไทยในอดีตได้มาจากการจับจากธรรมชาติทั้งหมดส่งผลทำให้ไม่สามารถควบคุมให้ได้ขนาด คุณภาพและปริมาณที่แน่นอนอย่างต่อเนื่องไม่ได้ กรมประมงให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวจึงได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยการเพาะและอนุบาลหอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด Haliotis asinina จนประสบผลสำเร็จในปี 2531 โดยศูนย์พัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง หลังจากนั้นกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ได้พัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์หอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยจนสามารถควบคุมการผสมพันธุ์และผลิตลูกหอยปริมาณมากได้ตลอดทั้งปี

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด H. asinina เป็นชนิดที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาการเลี้ยงในระดับพาณิชย์ เนื่องจากสามารถเพาะเลี้ยงได้ง่าย ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำในประเทศไทยได้ดี และมีอัตราการแลกเปลี่ยนเนื้อเยอะ ซึ่งนอกจากกรมประมงได้พัฒนาเทคนิคในการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด H. asinina จนสามารถเพาะและผลิตลูกพันธุ์จำนวนมากได้ต่อเนื่องทั้งปีแล้ว ยังได้ถ่ายทอดเทคนิคการเพาะเลี้ยงให้แก่เกษตรกรได้นำไปประกอบเป็นอาชีพในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อตามพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ปัจจุบันเริ่มมีผลผลิตหอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด H. asinina จากการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงของเกษตรกรสู่ตลาดภายในประเทศแล้วซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการส่งออกหอยเป๋าฮื้อไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องตลาดหอยเป๋าฮื้อไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นสัตว์น้ำมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ยังติดปัญหาที่เรื่องต้นทุนการผลิตหอยที่สูง กรมประมงจึงได้มีนโยบายให้นักวิชาการทดลองเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อพร้อมจำหน่ายลูกพันธุ์ให้กับเกษตรกรเพื่อช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลงพร้อมให้คำแนะนำในการเพาะเลี้ยงอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ได้มีแผนในการปล่อยลูกพันธุ์หอยเป๋าฮื้อคืนสู่ท้องทะเลเพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณในธรรมชาติให้มีปริมาณเพิ่มมากยิ่งขึ้น

นางสุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หอยเป๋าฮื้อ หรืออะบาโลน (abalone) จัดเป็นหอยทะเลฝาเดียวทุกชนิดที่อยู่ในสกุล Haliotis และมีชื่อเรียกสามัญแตกต่างกันไปตามสถานที่เช่น หอยโข่งทะเล หอยร้อยรู หรือหอยตัวผู้ เป็นต้น หอยเป๋าฮื้อที่พบทั้งหมดในโลกมีประมาณ 70-80 ชนิด แต่ชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมีประมาณ 22 ชนิด แต่ในส่วนของประเทศไทยจากการสำรวจของ อนุวัฒน์ นทีวัฒนา และ ยอห์น ฮิลลิเบริก. 2539. การสำรวจหอยโข่งทะเลบริเวณรอบเกาะภูเก็ตและการศึกษาความเป็นไปได้ของการเลี้ยงหอยโข่งทะเลในประเทศไทย. วารสารการประมง 36 (2) : 177-190. พบว่ามีหอยเป๋าฮื้ออยู่ 3 ชนิด ได้แก่ Haliotis asinina, H. ovina และ H. varia

หอยเป๋าฮื้อพันธุ์ไทยชนิด H. asinina เป็นชนิดที่กรมประมงเพาะพันธุ์ได้ จะมีลักษณะเด่นคือมีเปลือกติดกับกล้ามเนื้อเท้าขนาดใหญ่แข็งแรง ไม่มีฝาปิดเปลือก มีลักษณะคล้ายจานรี มีสีเขียวเข้ม น้ำตาลหรือแดงคล้ำตามขอบเปลือกมีรูเล็กๆ เรียงเป็นแถวยาวไปจนถึงขอบปาก รูบนเปลือกของหอยจะสร้างเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เมื่อหอยโตขึ้น ส่วนรูเก่าจะถูกปิดไปขึ้นกับชนิดของหอยเป๋าฮื้อ สำหรับการเพาะเลี้ยงพันธุ์หอยเป๋าฮื้อจะใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 1 ปี ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลจากนักวิชาการพบว่า พ่อแม่พันธุ์หอยจะมีความสมบูรณ์เพศตลอดทั้งปี แต่ไข่จะมีปริมาณมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ในส่วนของการปล่อยไข่ในแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับขนาดของแม่หอยหากมีขนาดเล็กก็จะให้ปริมาณไข่น้อย ดังนั้น เพศเมียที่เหมาะสมกับการนำมาเพาะจะมีขนาดตั้งแต่ 5.5 ซม.ขึ้นไป ซึ่งจะสามารถให้ไข่ในแต่ละครั้งจำนวน 200,000 - 600,000 ฟอง/ตัว อัตราการฟัก 60-80% และพัฒนาถึงระยะเกาะวัสดุประมาณ 30% และมีอัตรารอด 0.5% เป็นลูกหอยขนาด 1-2 มม.

สำหรับ ขั้นตอนการเลี้ยงที่สำคัญ คือการเตรียมสถานที่ที่จะเพาะเลี้ยงหอย โดยจะต้องเป็นสถานที่ที่อยู่ใกล้ทะเลเพราะจะต้องมีการสูบน้ำให้ไหลหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังควรเป็นสถานที่ที่อยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหายได้ เมื่อได้สถานที่แล้วเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงพันธุ์หอย และที่หลบซ่อนของตัวหอยเป๋าฮื้อ เช่นกระเบื้องมุมโค้ง หรือแผ่นพีวีซีงอเป็นรูปตัว "V" จากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อพัก โดยน้ำจากบ่อพักจะผ่านเข้าสู่บ่อกรอง ซึ่งมีวัสดุจำพวกกรวดและทรายช่วยกรองน้ำก่อนแล้วจึงใช้ถุงกรอง ซึ่งเป็นผ้าสักหลาดมีขนาดช่องตา 5-10 ไมครอน กรองอีกครั้งที่ปลายท่อส่งน้ำก่อนเปิดลงสู่บ่อเลี้ยง เมื่อเตรียมบ่อเรียบร้อยแล้วก็สามารถหาพันธุ์หอยเป๋าฮื้อมาเลี้ยงลงในบ่อได้ ส่วนอาหารที่ให้แก่หอยมีทั้งสาหร่ายผมนาง สาหร่ายสีแดงชนิดต่าง ๆ และอาหารสำเร็จรูป โดยให้สาหร่ายไม่เกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักหอย ทุก ๆ 2 วัน หรืออาหารสำเร็จรูปไม่เกินร้อยละ 3 ของน้ำหนักหอย โดยให้วันละครั้ง และควรจัดการคุณภาพน้ำในบ่อให้ดีอยู่เสมอ ป้องกันไม่ให้เกิดน้ำเน่าเสียซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเราได้ใช้เวลาเพาะเลี้ยงประมาณ 1 ปี ก็สามารถเก็บผลผลิตไปขายได้ ซึ่งจากการสำรวจราคาหอยในตลาดปัจจุบันพบว่า หอยเป๋าฮื้อขนาด 3-5 ซม. ราคาขาย 1,000 บาท/กก. และขนาด 7 ซม. ราคาขายขั้นต่ำ 1,500 บาท/กก.

อย่างไรก็ตามถึงแม้การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อจะได้ราคาดีแต่โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลานาน ทำให้ระหว่างการเพาะเลี้ยงเกษตรกรไม่มีรายได้จากการเลี้ยงหอยเข้าสู่ฟาร์ม ขณะที่ในช่วงดังกล่าวเกษตรกรจะต้องมีรายจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าแรงงานอยู่แล้ว และจากการที่หอยเป๋าฮื้อเป็นสัตว์กินพืช ทำให้สิ่งขับถ่ายมีความเป็นพิษต่ำ ดังนั้น การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อแบบผสมผสานจึงเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดรายได้เข้าสู่ฟาร์ม เป็นการใช้ทรัพยากรในฟาร์มอย่างคุ้มค่าและกระจายความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจอีกด้วยหากมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี จากการศึกษาสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่สามารถเพาะเลี้ยงแบบผสมผสานในฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อได้ดี ควรเป็นสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ใช้พื้นที่ในการอนุบาลไม่มากและตลาดมีความต้องการสูง เช่น หอยหวาน ชนิด Babylonia areolata หรืออาจเป็นปลาทะเลสวยงามชนิดต่างๆ ปูม้า หรือสาหร่ายทะเล เป็นต้น

รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อสายพันธุ์ไทยได้เป็นอย่างดีทำให้สามารถพัฒนาผลผลิตให้ได้ขนาด คุณภาพ และปริมาณได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบัน ได้มีหอยเป๋าฮื้อขนาดเล็กถูกป้อนเข้าสู่ตลาด อาทิ หอยเป๋าฮื้อสายพันธุ์ไต้หวัน และเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากรสชาติดี และราคาถูกกว่าหอยขนาดใหญ่ ดังนั้นหากประเทศไทยสามารถพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อสายพันธุ์ไทยให้เป็นที่นิยมแพร่หลายเป็นระดับอุตสาหกรรมก็จะสามารถผลักดันนำเข้าสู่ตลาดหอยขนาดเล็กนี้ได้ทันที สำหรับเกษตรกรผู้สนใจเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อชนิดดังกล่าวสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ เบอร์โทรศัพท์ 0-3266-1398 หรือ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เบอร์โทรศัพท์ 0-2579-4496