เป็นได้มากกว่า "วิชาชีพครู" กับ 6 หลักสูตรปั้น "Smart Teacher" ที่ "ครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี" ลาดกระบัง สร้าง "นวัตกรการศึกษา - ผู้ช่วยสถาปนิก - นักวิชาการเกษตร" เสิร์ฟภาคอุตฯ

05 Sep 2023

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าปั้น "ครูสายอาชีพยุคใหม่" (Smart Teacher) ที่รู้ลึกในสายอาชีพเฉพาะทางและจิตวิทยา ร่วมยกระดับวงการการศึกษาไทยทั้งในและนอกระบบ เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานสายอาชีพขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ผ่าน 6 หลักสูตรที่พร้อมปั้นบัณฑิตให้เป็นได้มากกว่าครูผู้สอน ได้แก่ 1. ครุศาสตร์สถาปัตยกรรม 2. ครุศาสตร์การออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน 3. ครุศาสตร์นวัตกรรมเทคโนโลยีการออกแบบ 4. ครุศาสตร์วิศวกรรม สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ 5.ครุศาสตร์วิศวกรรม สาขาวิชา อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และ 6. ครุศาสตร์เกษตร ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/siet.kmitl/ และ http://www.siet.kmitl.ac.th

เป็นได้มากกว่า "วิชาชีพครู" กับ 6 หลักสูตรปั้น "Smart Teacher" ที่ "ครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี" ลาดกระบัง สร้าง "นวัตกรการศึกษา - ผู้ช่วยสถาปนิก - นักวิชาการเกษตร" เสิร์ฟภาคอุตฯ

รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. เล็งเห็นความสำคัญของการบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพ 'แรงงานสายอาชีพ' เพื่อร่วมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม นั่นคือการปั้น 'ครูคุณภาพ' ที่ครบเครื่องทั้งองค์ความรู้เชิงลึกในสายอาชีพเฉพาะทาง ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ทั้งยังต้องลึกซึ้งในศาสตร์ความรู้เชิงจิตวิทยาการศึกษา เพื่อให้สามารถถ่ายทอดทักษะความรู้ วางแผนการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนสามารถออกแบบสื่อหรือนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียนได้ในหลากรูปแบบ

รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน กล่าวต่อว่า สจล. จึงมุ่งพัฒนาหลักสูตร 'ครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี' (ค.อ.บ.) ให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงเพื่อผลิต 'ครูสายอาชีพยุคใหม่' (Smart Teacher) ที่มีความเชี่ยวชาญเชิงลึกในสายอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมศาสตร์ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และเกษตรกรรม ร่วมกับหลักจิตวิทยาเพื่อการสอน นอกจากนั้นยังวางรากฐานความรู้ด้านนวัตกรรมเพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมการศึกษาแนวใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้บัณฑิตสามารถประกอบอาชีพครูได้อย่างมืออาชีพแล้ว ยังสามารถผลักดันบัณฑิตก้าวสู่เส้นทางนักวิชาการ ที่ปรึกษาในสถานประกอบการได้ หรือสายอาชีพอื่นๆ ได้ในอนาคต ผ่าน 6 หลักสูตรที่มีจุดมุ่งหมายปั้นบัณฑิตให้เป็นได้มากกว่า 'ครูผู้สอน' ดังนี้

  • คว้า "โอกาสเติบโตในสายงานสถาปัตย์" "ครุศาสตร์สถาปัตยกรรม" (5 ปี) สาขาวิชาเอกคือ สถาปัตยกรรม โดยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะหลักสูตรคือ บัณฑิตที่จบการศึกษาเป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะ ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติทางการสอน ทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม สามารถปฏิบัติงานในสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถเป็นนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม นักวิชาการด้านการจัดฝึกอบรมในหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงสามารถปฏิบัติงานและ ประกอบอาชีพทางด้านสถาปัตยกรรมในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
  • ก้าวสู่ "ครูนักออกแบบ-ผู้ช่วยสถาปนิก" ที่พร้อมดีไซน์แวดล้อมให้ตอบโจทย์ทุกฟังก์ชันกับ "ครุศาสตร์การออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน" (5 ปี) หลักสูตรที่ผนวกรวมศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบภายใน มัณฑนศิลป์ และเครื่องมือช่าง เพื่อเป็นพื้นฐานในการวาดเส้น-ลวดลายวิจิตรศิลป์ การเขียนและออกแบบเบื้องต้น เพื่อให้นักศึกษาสามารถออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน นิทรรศการ และมัณฑนศิลป์ได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งในช่วงชั้นปีสุดท้ายจะเป็นการฝึกประสบการณ์จริงในหลากรูปแบบ ทั้งการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาที่สนใจ เรียนรู้การเขียนแบบกับบริษัทชั้นนำด้านการออกแบบ และลงพื้นที่ซึมซับวัฒนธรรมชุมชนเพื่อเป็นไอเดียในการสร้างสรรค์ชุมชนยั่งยืน
  • ยกระดับการศึกษาไทยด้วย "ครูช่าง-นวัตกรการศึกษา" กับ "ครุศาสตร์นวัตกรรมเทคโนโลยีการออกแบบ" (4 ปี) หลักสูตรที่มุ่งพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบวิธีการเรียนการสอนที่เข้มข้นในการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาและการออกแบบอย่างบูรณาการ เพื่อให้พร้อมก้าวสู่ 'นวัตกรเพื่อการศึกษาไทย' ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในอนาคตนักศึกษายังสามารถต่อยอดความรู้ในเส้นทางอาชีพอื่นๆ ได้ อาทิ ครูช่างอุตสาหกรรม ครูศิลปะและครุศาสตร์การออกแบบ นักวิชาครุศาสตร์การออกแบบปรับปรุงกระบวนการ นักวิชาการประกันคุณภาพครุศาสตร์การออกแบบ ผู้ประกอบการและจัดการงานทางด้านการออกแบบ และที่ปรึกษาโครงการ
  • ขึ้นแท่น "นักวิชาการวิศวะ" หนุนการศึกษาไทยโตทั้งในและนอกระบบที่ "ครุศาสตร์วิศวกรรม" (4 ปี) แบ่งออกเป็น 2 หลักสูตรภายใต้ภาควิชาครุศาสตร์วิศวกรรม ได้แก่ สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และ สาขาวิชา อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม มีการบูรณาการศาสตร์ด้านวิชาชีพครูร่วมกับศาสตร์ด้านวิศวกรรมในแต่ละด้านตามสาขาวิชา ผ่านการติวเข้มศักยภาพนักศึกษาไทยทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีทักษะในการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม มีทักษะการปฏิบัติงานวิชาชีพวิศวกรรม เพื่อให้บัณฑิตเป็นได้ทั้งครูผู้สอนในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตลอดจนเป็นนักฝึกอบรมและนักวิชาการด้านการศึกษาในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน
  • ปฏิวัติภาคการเกษตรไทยแบบ "นักวิชาการเกษตร-เกษตรกรยุคใหม่" ที่ "ครุศาสตร์เกษตร" (4 ปี) หลักสูตรที่บูรณาการศาสตร์ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร ที่ครอบคลุมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งเน้นการสอนและเทคโนโลยีทางการเกษตรยุคใหม่ ร่วมกับเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ทั้งด้านเทคโนโลยีผลิตพืช เทคโนโลยีผลิตสัตว์ และอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถปฏิบัติงานในสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องงานทางด้านการเกษตร โดยที่นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานในสถานศึกษา หรือหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา นักวิชาการเกษตร นักวิชาการด้านการจัดฝึกอบรม ตลอดจนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ/บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อาชีพอิสระหรือธุรกิจส่วนตัว

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ https://www.facebook.com/siet.kmitl/ และ http://www.siet.kmitl.ac.th หรือติดตามความเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ทางเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/kmitlofficial และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000

เป็นได้มากกว่า "วิชาชีพครู" กับ 6 หลักสูตรปั้น "Smart Teacher" ที่ "ครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี" ลาดกระบัง สร้าง "นวัตกรการศึกษา - ผู้ช่วยสถาปนิก - นักวิชาการเกษตร" เสิร์ฟภาคอุตฯ