คุณรู้สึก "สุข" ครั้งล่าสุดเมื่อไร อาจารย์จิตวิทยา จุฬาฯ ชวนสำรวจ "ภาวะสิ้นยินดี" เร่งฟื้นใจให้ฟู ก่อนหมดไฟ

06 Sep 2023

อาจารย์จิตวิทยา จุฬาฯ ชวนรู้จัก "ภาวะสิ้นยินดี" อาการร่วมที่พบบ่อยในผู้มีภาวะซึมเศร้า พร้อมแนะวิธีสังเกตสัญญาณหมดสุข เพื่อปรับโฟกัสใจและเติมความรู้สึกบวกได้ทัน ก่อนสูญความสามารถที่จะสุขและสนุกกับชีวิต

คุณรู้สึก "สุข" ครั้งล่าสุดเมื่อไร อาจารย์จิตวิทยา จุฬาฯ ชวนสำรวจ "ภาวะสิ้นยินดี" เร่งฟื้นใจให้ฟู ก่อนหมดไฟ

"คุณมีความสุขไหมวันนี้?" คำถามง่าย ๆ ที่หลายคนอาจไม่เคยย้อนถามตัวเอง และอาจจะต้องนึกอยู่นานกว่าจะได้คำตอบ
"มีความสุข" "ไม่มีเลย" หรือ "ไม่รู้เหมือนกัน"

ความสุข - ใคร ๆ ก็ต้องการ ทุกสิ่งที่ทำหรือไม่ทำ เบื้องหลังก็คือความปรารถนาที่จะมีความสุข การบอกกับตัวเองได้ว่า "ตัวเรามีความสุข" สะท้อนความพึงพอใจในชีวิต ความสามารถสัมผัสรับรู้ความรู้สึกเชิงบวกในตน อันจะเป็นพลังในการดำรงชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งที่ปรารถนาต่อไป

แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีคนจำนวนหนึ่ง ที่ไม่สามารถรู้สึกหรือบอกตัวเองได้ว่า "ฉันกำลังมีความสุข" ซึ่งหากคุณหรือคนใกล้ตัวเป็นเช่นนี้ ขอให้ใส่ใจจับสัญญาณเพิ่มเติม เพราะคุณอาจกำลังมี "ภาวะสิ้นยินดี" อาการร่วมที่พบบ่อยในผู้มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีแนวโน้มเกิดมากขึ้นในหมู่คนวัยทำงานยุคนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ รองคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนทำความรู้จักและสังเกตอาการที่สะท้อนความเสี่ยงเป็น "ภาวะสิ้นยินดี" (Anhedonia) เพื่อรับการปรึกษาจากนักจิตวิทยา ก่อนที่ความสามารถในการมี "ความสุข" จะหายไป

"เป็นธรรมชาติของคนเราที่ต้องมีอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะการรับรู้หรือได้รับความรู้สึกเชิงบวก เช่น สบายใจ แช่มชื่นใจ ทั้งที่มาจากตัวเองหรือมาจากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่เมื่อไรที่เรามี "ภาวะสิ้นยินดี" เราจะรู้สึกเหนื่อย เนือย ไม่มีความรู้สึกเชิงบวกใด ๆ ไม่ว่ากับอะไรหรือกับความสัมพันธ์ใด"

ภาวะสิ้นยินดีเกิดขึ้นได้อย่างไร

ผศ.ดร.กุลยา อธิบายว่า "ภาวะสิ้นยินดี" เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ที่ทำให้เจ้าต้วไม่รู้สึกรู้สากับอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวก ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าวเกิดได้จากหลายปัจจัย กล่าวคือ

  • ปัจจัยทางกายภาพ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรือสารเคมีในสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดในสมอง โรคซึมเศร้า เป็นต้น
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนทำให้บางคนมีธรรมชาติและบุคลิกภาพค่อนข้างหม่นหมอง เศร้าง่าย
  • ปัจจัยทางสภาวะแวดล้อม เช่น ภาวะความเครียด เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจ ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) หรือผู้ที่อยู่ในภูมิประเทศที่มีฤดูหนาวเป็นระยะเวลานาน เหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกหม่นหมองต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้คนนั้น ๆ มีแนวโน้มขรึม เก็บตัว ไม่สดใส

"ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งกายภาพ สภาพแวดล้อม จิตใจ ล้วนเชื่อมโยงกัน การที่คนเรารู้สึกหม่นหมอง เนือย เหนื่อย เป็นเวลานาน ๆ และต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ลดทอนความสามารถในการรู้สึกอารมณ์เชิงบวกได้เหมือนกัน"

ภาวะสิ้นยินดีทางสังคมและทางกายภาพ

ผศ.ดร.กุลยา อธิบายว่าผู้ที่เป็นภาวะสิ้นยินดีมักจะมีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดหรือคนอื่น ๆ ในสังคม

"พวกเขาจะไม่สามารถตอบรับความรู้สึกด้านบวกได้ ไม่ว่าความสุข ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ทำให้ผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีไม่สามารถมีประสบการณ์เชิงบวกร่วมกับผู้อื่นได้ ยกตัวอย่าง เพื่อน ๆ หัวเราะกันสนุกสนาน แต่คนที่มีภาวะสิ้นยินดี จะไม่สามารถรู้สึกสนุกหรือหัวเราะกับคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งจะกระทบกับการเข้ากลุ่มและความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ นานวันเข้า ก็อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพและความสัมพันธ์กับคนอื่น"

ภาวะสิ้นยินดีแสดงออกได้ 2 ลักษณะหลัก ๆ คือ

  1. ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social anhedonia) คนกลุ่มนี้จะไม่รู้สึกอยากใช้เวลาร่วมกับครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อนฝูง คนรอบข้าง และผู้คนอื่น ๆ ในสังคม
  2. ภาวะสิ้นยินดีทางกายภาพ (Physical anhedonia) ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีการรับรู้ความรู้สึกทางกายเปลี่ยนไป หากเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์ ก็จะเหมือนหมดความรู้สึกจนคล้ายคนหมดสมรรถภาพทางเพศได้ นอกจากนี้ อาจจะไม่สนุกกับกิจกรรมที่เคยทำเหมือนก่อน อาหารที่เคยชอบก็ไม่ชื่นชอบอีกต่อไป ไม่รู้สึกสนุกสนานร่าเริงและมีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์ทางลบมากขึ้นได้

ผศ.ดร.กุลยา อธิบายว่าผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีทั้ง 2 แบบ จะไม่มีแรงจูงใจในการเชื่อมความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ไม่อยากใช้เวลาหรือมีส่วนร่วมกับผู้อื่น หรืออาจจะมีอาการของโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) รู้สึกว่าตัวเองไม่เข้าพวกกับคนอื่น หวาดกลัว วิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องพบเจอรู้จักคนใหม่และสถานที่ใหม่

"คนกลุ่มนี้จะเริ่มหายหน้าหายตา ปฎิเสธคำชวนไปร่วมกิจกรรมทางสังคม เริ่มมีชั่วโมงในการอยากอยู่คนเดียวนานขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ"

ภาวะสิ้นยินดี กับ ภาวะความด้านชาทางความรู้สึก

มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าภาวะความด้านชาทางความรู้สึก (Emotional numbness) และภาวะสิ้นยินดี เป็นภาวะเดียวกัน แต่ ผศ.ดร.กุลยา อธิบายว่าภาวะทั้งสองไม่เหมือนกันสักทีเดียว

"ภาวะความด้านชาทางความรู้สึก จะคล้ายกับการฉีดยาชา ไม่มีความรู้สึกใด ๆ ไม่ว่าอารมณ์ทางบวกหรือทางลบ เฉย เนือย ไร้อารมณ์กับทุกสิ่ง เหมือนไม่สุขไม่ทุกข์ ภาวะนี้มักมาจากการที่คน ๆ นั้นมีประสบการณ์ทางลบด้านความรู้สึก จึงพยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์ทางลบ กลายเป็นไม่รับรู้ความรู้สึกอะไรเลย เฉยชาด้านอารมณ์ทั้งหมด"

ส่วนภาวะสิ้นยินดีเป็นภาวะที่ไม่มีความรู้สึกทางบวก แต่ยังคงรับรู้และแสดงความรู้สึกเชิงลบได้อยู่

"ผู้ที้มีภาวะสิ้นยินดีจะไม่รู้สึกถึงอารมณ์ในเชิงบวกเลย ไม่มีความรู้สึกอิ่มเอิบใจ ปลื้มใจ ไม่หัวเราะ อาจดูเหมือนรู้สึกเฉย ๆ เหมือนภาวะด้านชา แต่ยังสามารถรับรู้และแสดงความรู้สึกเชิงลบได้ เช่น ความไม่สบายใจ ความกังวล กลัว เบื่อ ซึ่งอาการเหล่านี้ดูคล้ายและเกือบเป็นภาวะซึมเศร้าเลยทีเดียว"

สิ้นยินดีนาน ๆ อาจทำซึมเศร้าหนักขึ้น

ภาวะสิ้นยินดีเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า ผศ.ดร.กุลยา เผยว่าร้อยละ 60 ของผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดี มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น เพราะทั้งสองภาวะมีมีความเหมือนกันอยู่ 2 เรื่อง คือ อารมณ์ความรู้สึกทางลบ และสิ่งที่เคยทำให้รู้สึกชื่นชอบสบายใจ ไม่ได้ทำให้มีความสุขอีกต่อไป

"เวลาเป็นซึมเศร้า ใจจะดิ่ง อารมณ์ลบจะเยอะ พยายามทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อดึงความรู้สึกให้ดีขึ้น ไม่ว่าดูหนัง ฟังเพลง เล่นกับน้องแมวที่บ้าน ก็อาจจะยังไม่ดีขึ้น ซึ่งถ้าเรามีภาวะซึมเศร้าต่อเนื่องนาน ๆ ก็จะเกิดภาวะสิ้นยินดีได้" ผศ.ดร.กุลยา อธิบาย

"ในอีกทาง หากมีภาวะสิ้นยินดีบ่อย ๆ เราก็จะหมดความรู้สึกสนใจหรือพึงพอใจในการทำสิ่งที่ชื่นชอบ ดึงอารมณ์เชิงบวกได้ยากหรือไม่ได้ จนในที่สุดก็จะเหลืออารมณ์เชิงลบอย่างเดียว นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้"

สังเกตสัญญาณ "ภาวะสิ้นยินดี"
ผศ.ดร.กุลยา กล่าวว่าแต่ละคนจะมีสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "คู่มือความสุขเฉพาะตน" คือความรู้ตัวว่าทำอะไร ไปที่ไหน เจอใคร แล้วจะมีความสุข สนุก พอใจ อารมณ์ดีขึ้น เมื่อเวลามีอารมณ์ลบ เราก็จะไป ทำ หรือพบกับสิ่งที่เราชอบ เพื่อจะทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นได้ แต่หากสิ่งที่เราเคยทำแล้วมีความสุข ไม่อาจทำให้เกิดความรู้สึกดีได้อีก นั่นอาจเป็นสัญญาณที่ชวนให้เราเริ่มถามตัวเองว่า "ตัวเรามีภาวะสิ้นยินดีแล้วหรือเปล่า"

ผศ.ดร.กุลยา แนะข้อสังเกตเบื้องต้น 3 เรื่อง ที่จะช่วยให้เราจับสัญญาณภาวะสิ้นยินดี ดังนี้

1. สังเกตความรู้สึก - "เวลาที่ทำกิจกรรมที่ชอบ ยังรู้สึกชอบ สนุกหรือมีความสุขอยู่ไหม"

ถ้าเราอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือสิ่งที่เราเคยชอบทำ แล้วไม่รู้สึกสนุกหรือชอบเหมือนเดิม ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะสิ้นยินดีได้ แต่ก็ไม่เสมอไป เราอาจจะต้องสังเกตต่อไปว่าอารมณ์ความรู้สึกทางบวกในเรื่องอื่น ๆ หรือช่วงอื่น ๆ มีน้อยลงด้วยหรือไม่

2. สังเกตความคิด - "ความคิดของเราเป็นเชิงลบ หม่นหมองหรือไม่ เราได้พยายามปรับมุมมองให้เป็นบวกมากขึ้นแล้วหรือยัง ปรับมุมมองให้บวกได้สำเร็จหรือไม่"

ถ้าเรามีความรู้สึกเชิงบวก เราจะมองคนในเชิงบวก อยากสร้างสัมพันธ์กับผู้คน แต่ถ้าเราตกอยู่ในภาวะสิ้นยินดี เราจะรู้สึกว่าโลกไม่น่าอยู่ ไม่อยากสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ หรือไม่รู้สึกกระตือรือร้นที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้ว

3. สังเกตร่างกาย - "รู้สึกเหนื่อยจากการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่าปกติหรือไม่ ตื่นมาแล้วรู้สึกไม่แจ่มใส รู้สึกล้า หมดแรงหรือเปล่า"

สมรรถภาพทางกายและสมรรถภาพทางเพศเป็นเกณฑ์ประเมินภาวะสิ้นยินดีได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่กับทุกกรณี สิ่งที่เราพอสังเกตได้คือร่างกายของเรายังแข็งแรงเป็นปกติดีไหม ออกกำลังกายได้เท่าเดิมหรือเปล่า มีความเปลี่ยนแปลงด้านสมรรถภาพทางเพศหรือไม่ ที่สำคัญ เวลาที่รู้สึกอ่อนล้า เหนื่อย ถ้าได้พักผ่อน นอนแล้ว ร่างกายกลับมากระชุ่มกระชวย อารมณ์ดีสดใสขึ้น แต่ถ้านอนพักแล้ว ยังรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อย ล้า หมดแรงที่จะทำอะไร ก็อาจเป็นสัญญาณภาวะสิ้นยินดีได้

วิธีรับมือ "ภาวะสิ้นยินดี"
หากเราสังเกตเห็นอาการเบื้องต้นของภาวะสิ้นยินดีแล้ว เราต้องรีบปรับอารมณ์เสียตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้พลังบวกกลับมาในชีวิตให้เร็วที่สุด ผศ.ดร.กุลยา แนะวิธีการรับมือกับภาวะสิ้นยินดี ดังนี้

  • เติมพลังบวก ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ โดยอาจเริ่มจากลงมือทำในสิ่งที่เคยชอบ ฝึกเติมพลังบวกเรื่อย ๆ ทีละเล็กทีละน้อย เพิ่มอารมณ์บวกบ่อย ๆ เพื่อกันอารมณ์ลบให้ไปห่าง ๆ
  • หมั่นสังเกตและรับรู้อารมณ์ตามที่เป็น ไม่ว่าจะอารมณ์ด้านลบหรือบวก
  • โอบกอดตัวเองและหมั่นเติมความรักให้ตัวเอง
  • ฝึกใจ ปรับโฟกัส ให้ชื่นชมกับการกระทำและความสำเร็จเล็ก ๆ ในชีวิต ยังไม่ต้องทำกิจกรรมที่ต้องลงแรงมาก ให้เริ่มจากทำสิ่งเล็ก ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และปล่อยให้ตัวเองมีความสุขระหว่างทำกิจกรรม
  • ปรึกษานักจิตวิทยาและจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและการรักษา

ผศ.ดร.กุลยา กล่าวให้คำแนะนำทิ้งท้ายว่า "เวลาที่เป็นภาวะสิ้นยินดี เรามักจะเก็บตัวอยู่ในห้อง อยากอยู่คนเดียว ดังนั้น เราควรจะออกไปข้างนอกบ้าง ให้ร่างกายได้เจอแสงแดด ได้รับแสงสว่างบ้าง ลองทำอะไรเล็ก ๆ น้อยๆ แล้วสังเกตว่าอะไรที่ช่วยดึงใจเราให้ดีขึ้นได้บ้าง สิ่งที่ช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง เท่านี้ก็ดีพอแล้ว"

รู้ไหมว่าการได้คุยกับใครสักคนช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ เรามีศูนย์สุขภาวะทางจิต (Psy Wellness) เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่มีนักจิตวิทยาการปรึกษา ช่วยให้คุณได้เข้าใจตัวเอง คนอื่น และสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เรายินดีรับฟังและให้คำปรึกษาในทุก ๆ เรื่อง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเข้ามาได้ที่
ศูนย์สุขภาวะทางจิต (The Center for Psychological Wellness)
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ ชั้น 5 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หรือ สามารถสอบถามผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ที่ โทรศัพท์ 06-1736-2859
Email: [email protected]
Facebook: https://www.facebook.com/WellnessPsyCU

คุณรู้สึก "สุข" ครั้งล่าสุดเมื่อไร อาจารย์จิตวิทยา จุฬาฯ ชวนสำรวจ "ภาวะสิ้นยินดี" เร่งฟื้นใจให้ฟู ก่อนหมดไฟ
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit