เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ ดึง 800 บริษัทการแพทย์ จาก 30 ประเทศชั้นนำ ลุยจัดเมกะอีเว้นท์ "เมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2023" ตอกย้ำไทย "ฮับการแพทย์โลก"

26 Jun 2023

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ ดึง 800 บริษัทการแพทย์ จาก 30 ประเทศชั้นนำ ลุยจัดเมกะอีเว้นท์ "เมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2023" ตอกย้ำไทย "ฮับการแพทย์โลก" พร้อมกรุยทางการลงทุนในไทย - อาเซียน

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ ดึง 800 บริษัทการแพทย์ จาก 30 ประเทศชั้นนำ ลุยจัดเมกะอีเว้นท์ "เมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2023" ตอกย้ำไทย "ฮับการแพทย์โลก"

บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เดินหน้าเผยความพร้อมมหกรรมยิ่งใหญ่แห่งวงการการแพทย์ "เมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023" แพลตฟอร์มสนับสนุนประเทศไทยสู่ฮับสำคัญด้านศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติตามนโยบายรัฐบาล โดยเตรียมดึงพันธมิตร 800 บริษัทเทคโนโลยีด้านการแพทย์ จาก 30 ประเทศทั่วโลก พร้อมพาวิลเลี่ยนนานาชาติกว่า 20 ประเทศ ร่วมนำเสนอ 8,000 นวัตกรรมและโซลูชั่นทางการแพทย์ที่น่าสนใจแห่งปี ภายใต้พื้นที่ 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ สตาร์ทอัพพาร์ค พาวิลเลี่ยนดูแลสุขภาพชุมชน และพาวิลเลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และ 16-22 กันยายน 2566 ในรูปแบบออนไลน์

นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า อุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตมากกว่า 10 % ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากเทรนด์ที่คนไทยให้ความสนใจในการดูแลรักษาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งรัฐบาลได้ผลักดันนโยบายศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางบริการการแพทย์ (Medical Service Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) พร้อมด้วยเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ - ศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท และอาจแตะระดับ 7.6 แสนล้านบาท ในปี 2570 (ที่มา : Allied Market Research 2022) และประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกอุปกรณ์การแพทย์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียนอีกด้วย

"จากความน่าสนใจนี้จึงเป็นตัวแปรให้อุตสาหกรรมการแพทย์และผู้จัดงานนิทรรศการ งานประชุม และงานแสดงสินค้าในระดับโลกยังคงสนใจที่จะใช้ไทยเป็นพื้นที่ในการลงทุน ทำตลาด สร้างความร่วมมือทางด้านนวัตกรรม พร้อมด้วยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาโชว์ศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่าปีนี้มีงานด้านการแพทย์ในไทยมีความคึกคัก นักท่องเที่ยวและนักเดินทางที่เข้ามาในไทยมีจุดมุ่งหมายในเรื่องการรับบริการเพื่อสุขภาพที่มุ่งเป้าทั้งสังคมสูงวัย การรักษาและบำบัดโรคเฉพาะทาง บริการแพทย์แผนไทย ฯลฯ และยังจะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มขึ้นของธุรกิจสถานพยาบาล ธุรกิจเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ ยาและอาหารเสริม ประกันสุขภาพ กลุ่มธุรกิจไบโอเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ MedTech อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่จัดงานระดับโลกในไทยมากว่า 20 ปี ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมด้านการแพทย์ของประเทศไทย จึงเตรียมจัดมหกรรมด้านการแพทย์ยิ่งใหญ่แห่งปี เมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023 : Medical Fair Thailand 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 โดยผนึกกำลังพันธมิตร และรวบรวมผู้แสดงสินค้ากว่า 800 รายจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกทั้ง เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน สิงคโปร์ ฯลฯ รวมถึงประเทศที่เข้าร่วมงานเป็นครั้งแรกทั้ง ลัตเวีย โปรตุเกส โปแลนด์ ตุรกี และแคนาดา มาร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ด้านจักษุ อุปกรณ์ด้านทันตกรรม ด้านเภสัชกรรม ยา อุปกรณ์ห้องทดลอง สิ่งทอ เครื่องมือวินิจฉัย ระบบกำจัดเชื้อ เทคโนโลยีในระบบอาคาร เครื่องมือรองรับเหตุฉุกเฉิน เฟอร์นิเจอร์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถภาพ เครื่องมืออิเลคทรอนิกส์ทางการแพทย์ ฯลฯ ที่พร้อมจะขยายธุรกิจและความร่วมมือทางการแพทย์ในตลาดอาเซียน ซึ่งงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ ได้จัดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 และงดจัดงานในปี 2021 เนื่องจากสถานการณ์โควิด การกลับมาในครั้งนี้หลังจากเว้นระยะไป 4 ปี จะกลับมาสร้างความคึกคักในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างแน่นอน เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเกิดกลุ่มธุรกิจและสตาร์ทอัพด้าน MedTech ทั้งในประเทศไทยและอาเซียนขึ้นจำนวนมาก"

นายเกอร์นอท กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023 ประกอบด้วย 3 ไฮไลท์หลักคือ สตาร์ทอัพพาร์ค พื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพจากทั่วโลกที่เกี่ยวข้องในด้านการแพทย์ เช่น เทคโนโลยีเอไอเพื่อช่วยเหลือทางการแพทย์ การใช้หุ่นยนต์ช่วยระบบการวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพพร้อมเติบโตในวงการการแพทย์และการดูแลสุขภาพ เพื่อสร้างความร่วมมือและต่อยอดทางธุรกิจ ผลักดันสตาร์ทอัพให้เติบโตควบคู่กับสุขภาพของประชาชน และทำให้สตาร์ทอัพในประเทศไทยมีโอกาสได้รับการลงทุนในฐานะฐานสตาร์ทอัพแห่งเอเชีย พาวิลเลี่ยนดูแลสุขภาพชุมชน ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องใน 3 ประเด็นหลัก คือ การดูแลสุขภาพทางใจ สังคมผู้สูงวัย และโรคอุบัติใหม่ สอดคล้องกับสภาพสังคมเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศไทยมีผู้ที่มีภาวะป่วยทางใจมากกว่า 3 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในอาเซียน ภายในปี 2045 ทำให้ต้องมีโซลูชันทางการแพทย์เพื่อตอบรับความต้องการที่กำลังเพิ่มขึ้นทั้ง ระบบดิจิทัลเพื่อสุขภาพจิต ระบบอัฉริยะและเครื่องมือในดูแลรักษาโรค เวชศาสตร์ผู้สูงวัย การฟื้นฟูสมรรถภาพ ฯลฯ

พาวิลเลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไฮไลท์พิเศษที่เปิดตัวในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อเป็นพื้นที่แห่งความร่วมมมือด้านกระบวนการและองค์ประกอบของอุตสาหกรรมการผลิต ครอบคลุมทั้งด้านวัสดุชนิดใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ แพคเกจจิ้ง และบริการขั้นสูง จนถึงไมโครโปรเซสเซอร์และนาโนเทคโนโลยี โดยแวดวงอุตสาหกรรมการผลิตด้านการแพทย์กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะการผลิตที่ปรับเปลี่ยนให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ต้นทุนไม่สูง และมีวัสดุให้เลือกหลากหลาย ซึ่งประเทศไทยถือเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญทั้งตลาดในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีฟอรั่ม Wearable Technologies Conference 2023 ASIA เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเครือข่ายการแพทย์และการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่สวมใส่ในการออกกำลังกายหรือตรวจวิเคราะห์สุขภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของไลฟ์สไตล์ในยุคปัจจุบัน และเป็นการยกระดับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ กีฬา และอุตสาหกรรม และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในกลุ่มธุรกิจให้เติบโตขึ้น

ทั้งนี้ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย มั่นใจว่างานนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนก้าวใหญ่ในการสนับสนุนวงการการแพทย์และสุขภาพให้เติบโต โดยขณะนี้มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าเต็มทั้งพื้นที่ ล่วงหน้าก่อนการจัดงานถึง 3 เดือน ผู้เข้าร่วมงานจะได้ทั้งเครือข่ายจากทั่วโลก โอกาสการเติบโตทางธุรกิจ นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อโลกอนาคต โดยเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟยังคาดการณ์อีกว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมชมงานมากกว่า 12,000 ราย เพิ่มขึ้นจากครั้งที่ผ่านมาราว 20% แบ่งเป็นผู้ที่ทำธุรกิจในประเทศไทย 60% และนักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างชาติ 40% ทั้งจากกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การซื้อขายนวัตกรรม อุปกรณ์ โซลูชันทางการแพทย์ อีกทั้งยังช่วยตอกย้ำเป้าหมายของหลายภาคส่วนของประเทศไทยที่ต้องการลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมที่เกิดการใช้และเป็นที่รู้จักในระดับโลก นายเกอร์นอท กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023 ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และระหว่างวันที่ 16-22 กันยายน 2566 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงงานให้กว้างขึ้น นอกจากในแวดวงการแพทย์และสุขภาพแล้ว จะขยายไปถึงกลุ่มธุรกิจนำเข้า ส่งออก การศึกษาและวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมอีกด้วย ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพจากหน่วยงานชั้นนำทั่วโลก พร้อมด้วยหัวข้องานประชุมทางการการแพทย์ระดับโลก สามารถติดตามการจัดงานเมดิคอลแฟร์ไทยแลนด์ ครั้งที่ 10 ได้ที่ www.medicalfair-thailand.com

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ ดึง 800 บริษัทการแพทย์ จาก 30 ประเทศชั้นนำ ลุยจัดเมกะอีเว้นท์ "เมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2023" ตอกย้ำไทย "ฮับการแพทย์โลก"
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit