ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้เลือดออกระดับโลกร่วมกันจัดประชุมเพื่อหารือความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก

16 Jun 2023

  • งานประชุมไข้เลือดออกแห่งเอเชียครั้งที่ 6 เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน ตรงกับวันไข้เลือดออก
  • ภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญกับอัตราการติดเชื้อไข้เลือดออกที่เพิ่มมากขึ้น และกำลังเป็นศูนย์กลางของการระบาด
ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้เลือดออกระดับโลกร่วมกันจัดประชุมเพื่อหารือความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีกว่า 390 ล้านรายต่อปี ไข้เลือดออกยังคงเป็นหนึ่งในโรคระบาดจากยุงที่ระบาดได้ไวและพบมากที่สุด [1] ในระหว่างปี 2015 - 2019 ภูมิภาคอาเซียนพบอัตราการติดเชื้อไวรัสเดงกีเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 46 และพบมากที่สุดประเทศอินโดนีเซีย เมียนมา และประเทศไทย [2]

เพื่อที่จะแก้ปัญหาการระบาดนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้เลือดออกกว่า 450 ราย จาก 23 ประเทศ ซึ่งรวมถึงทั้งบุคลากรทางการแพย์ นักวิจัย ผู้นำด้านสาธารณสุขและผู้มีส่วนกำหนดนโยบายได้รวมตัวกัน ณ งานประชุมไข้เลือดออกแห่งเอเชียครั้งที่ 6 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความก้าวหน้า และหารือแนวทางต่างๆ ในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก

ภายใต้แนวคิด "Roadmap to Zero Dengue Death" การประชุมจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 16 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพฯ โดย Asia Dengue Voice and Action (ADVA) ร่วมกับ คลัสเตอร์วิจัยโรคเขตร้อน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; สถานเสาวภา สภากาชาดไทย; คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล; กระทรวงสาธารณสุข; Global Dengue and Aedes Transmitted Diseases Consortium (GDAC); Southeast Asian Ministers of Education Tropical Medicine and Public Health Network (SEAMEO TROPMED); Foundation Merieux (FMx) and the International Society for Neglected Tropical Diseases (ISNTD).

ผู้เชี่ยวชาญจะร่วมกันอภิปรายในประเด็นต่างๆ เช่น การบริหารจัดการโรคไข้เลือดออก และการนำเสนอแนวทางที่จะช่วยทำให้การป้องกันและควบคุมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น งานประชุมนี้ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในการกล่าวเปิดการปะชุม

ศาสตราจารย์อุษา ทิสยากร คณะกรรมการอำนวยการ ADVA ประธานจัดการประชุม Asia Dengue Summit ครั้งที่ 6 และผู้อำนวยการบริหาร คลัสเตอร์วิจัยโรคเขตร้อน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ไข้เลือดออกเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขและให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นโรคที่มีมานานแล้ว แต่ไข้เลือดออกยังคงเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่มประชากร ทุกช่วงวัยทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลายๆ ประเทศอีกด้วย"

"เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่จะยุติการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกภายในปี 2030 นั้น ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราเดินทางไปถึงเป้าหมายนี้ได้"

วันไข้เลือดออกโลก

ในปี 2021 ISNTD และ ADVA ได้ร่วมกันประกาศจัดตั้งวันไข้เลือดออกโลกเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ในระดับโลก เป็นหมุดหมายในการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการป้องกันและควบคุม และเตรียมความพร้อมของประชาคมโลกให้พร้อมรับมือกับการระบาดของไข้เลือดออก เพื่อที่จะยุติอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกและบริหารจัดการโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงเป็นกุญแจสำคัญ โดยการจัดตั้งวันไข้เลือดออกโลกนี้ต้องการให้รัฐบาล ภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทุกคน ร่วมกันและเร่งมือกันยุติการระบาดของไข้เลือดออกโดยเร็ว

Kamran Rafiq ผู้อำนวยการและผู้ร่วมก่อตั้ง ISNTD และเลขานุการและผู้ร่วมก่อตั้งแคมเปญวันไข้เลือดออกและการแข่งขันระดับสากลกลกล่าวว่า "เพื่อให้สามารถแก้ไขวิกฤติไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแลกเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน ทรัพยากร และข้อมูลประกอบการตัดสินใจถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เราป้องกันและควบคุมโรคได้ได้ยิ่งขึ้น"

"วันไข้เลือดออกโลก ที่ได้ยกระดับมาจากวันไข้เลือดออกอาเซียนตั้งแต่ปี 2021 นั้น ช่วยเน้นย้ำว่าการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกนั้นเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน และต้องทำด้วยวิธีการที่ครอบคลุมและรอบด้าน ทั้งในแง่ของการควบคุมโรคและการพัฒนาและวิจัยวัคซีนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน"

พลังรุ่นใหม่ในผลักดันการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก

ความสำเร็จของ ADVA ในฐานะแนวหน้าในการสนับสนุนการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกนั้นขึ้นอยู่กับการจุดประกายให้คนรุ่นใหม่เล็งเห็นความสำคัญในสิ่งเดียวกัน ดังนั้น การยุติการติดเชื้อไข้เลือดออกจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากยิ่งขึ้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนพัฒนาและวิจัยวัคซีนเพื่อการควบคุมโรคที่ดียิ่งขึ้นในระดับประเทศ ดังนั้น เราจึงสามารถส่งต่อเครื่องมือในการทำความเข้าใจสถานการณ์และความรู้ในด้านต่างๆ เช่น ด้านจีโนมิกส์ กาเรียนรู้ของเครื่องปัญญาประดิษฐ์ (machine learning) และวิธีการวิจัยให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อในการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกได้

ในการนี้ ADVA จึงให้ความสำคัญในการปูทางให้กับว่าที่บุคลากรทางการแพทย์และนักวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของพวกเขา ให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลักดันการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกต่อไป

เกี่ยวกับ ADVA

The Asia Dengue Voice & Action Group (ADVA) เป็นคณะทำงานเชิงวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนาและวิจัยวัคซีนในเอเชีย โดยใช้วิธีการกระจายข้อมูลและให้คำแนะนำในการพัฒนากลยุทธ์เพื่อนำวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมาใช้ในภูมิภาคเอเชีย

ADVA ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 ด้วยความตั้งใจที่จะให้คำแนะนำในการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกในด้านต่างๆ เช่น การยกระดับการควบคุมโรค การทดลองวิจัยในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันโรค การพัฒนาและฉีดวัคซีน

ADVA ส่งเสริมความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำข้อมูลจากการควบคุมโรคและข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญต่อการป้องกันและควบคุมโรคเพื่อทำให้มั่นใจการใช้วัคซีนนั้นจะช่วยให้เกิดการป้องกันไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ADVA ทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการนำผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนมาสื่อสารกับผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย สาธารณชน และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย 

 อ้างอิงข้อมูล:

[1] WHO, Dengue and Severe Dengue https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/dengue-and-severe-dengue

[2] WHO, Dengue in Southeast Asia https://www.who.int/southeastasia/health-topics/dengue-and-severe-dengue

ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้เลือดออกระดับโลกร่วมกันจัดประชุมเพื่อหารือความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก