กทม.สุ่มตรวจอาคารที่ได้รับใบรับรอง พร้อมติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนใน รพ.และอาคารสาธารณะ

21 Jun 2023

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีเหตุแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งเมียนมาเกิดแรงสั่นสะเทือนรับรู้ถึงอาคารสูงในกรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ได้ประสานความร่วมมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่ชั้น 36 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 เขตดินแดง เพื่อตรวจวัด บันทึกข้อมูล วิเคราะห์ และแจ้งเตือนกรณีมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ซึ่งในเหตุการณ์

กทม.สุ่มตรวจอาคารที่ได้รับใบรับรอง พร้อมติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนใน รพ.และอาคารสาธารณะ

ครั้งนี้มี รศ.ดร.ฉัตรพันธุ์ จินตราภักดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมตรวจสอบค่าจากเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนของอาคารธานีนพรัตน์ ชั้น 36 ศาลาว่าการ กทม.2 เขตดินแดง วัดได้ 3.5 milli-g และบริเวณชั้น 4 ของอาคารภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัดได้ 1.5 milli-g โดยค่าดังกล่าวที่คนสามารถรู้สึกได้ชัดเจนถึงแรงของแผ่นดินไหวจะอยู่ที่ 1-2 milli-g ซึ่งสอดคล้องกับค่าที่วัดได้ที่ 1.5-3.5 milli-g สำหรับความต้านทานแรงแผ่นดินไหว หากเป็นอาคารที่สร้างภายหลังการออกกฎกระทรวงปี 2550 นั้น จะสามารถรับค่าความเร่งได้ถึง 50 milli-g เมื่อวัดที่ฐานของโครงสร้างและสามารถรับค่าความเร่งได้ถึง 150 milli-g เมื่อวัดที่ยอดของโครงสร้าง ทั้งนี้ สนย.ได้ส่งเจ้าหน้าที่สุ่มสำรวจตรวจสอบอาคารที่อาจได้รับผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหว พบว่าไม่มีอาคารใดได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้น โดยสรุปแล้วแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่ทำให้คนรู้สึกได้ชัดเจนและเกิดความวิตกต่อผู้ใช้อาคาร แต่ยังไม่รุนแรงพอที่จะส่งผลทำให้เกิดความเสียหายของโครงสร้างอาคารได้

สำหรับเจ้าของอาคาร 9 ประเภทที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคาร เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยผู้ตรวจสอบอาคารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมโยธาธิการและผังเมืองและยื่นให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร ซึ่งประกอบด้วย อาคารสูง (อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไป อาคารชุมนุมคน (อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตร.ม.ขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป) โรงมหรสพ โรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้น สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตร.ม.ขึ้นไป อาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป โรงงานที่มีความสูงมากกว่าหนึ่งชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตร.ม.ขึ้นไป และป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตร.ม.ขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้า หรือส่วนของอาคารที่มีพื้นที่ 25 ตร.ม.ขึ้นไป ซึ่ง สนย.จะสุ่มตรวจอาคารที่ได้รับใบรับรองการตรวจสอบอาคาร เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้ประชาชนเพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่ง และหากพบความผิดปกติของอาคาร จะได้ให้ข้อเสนอแนะและวิธีแก้ไขปัญหาต่อไป นอกจากนั้น กทม.ยังมีแผนติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนในอาคารโรงพยาบาลของ กทม.และอาคารสาธารณะต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาประมวลผลแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เพื่อป้องกันเหตุได้อย่างทันท่วงที