กฟน. เตรียมยกระดับ "คลังพัสดุดิจิทัล" ร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มจธ. ส่งบุคลากร Upskill เตรียมทักษะด้าน "โลจิสติกส์" แบบเข้มข้น

10 Jul 2023

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เดินหน้าพัฒนาทักษะบุคลากรเพื่อรองรับระบบการทำงานยุคดิจิทัล โดยส่งบุคคลากรฝ่ายพัสดุ upskill ด้านโลจิสติกส์ หลักสูตรเข้มข้น ในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ของศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) มจธ. เตรียมความพร้อมบุคลากร เพื่อยกระดับคลังพัสดุอัจฉริยะ ตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อส่งมอบบริการด้านไฟฟ้าที่ดีเยี่ยมและมีประสิทธิภาพให้กับประชาชน

กฟน. เตรียมยกระดับ "คลังพัสดุดิจิทัล" ร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มจธ. ส่งบุคลากร Upskill เตรียมทักษะด้าน "โลจิสติกส์" แบบเข้มข้น

นายสยาม อินทรวิเชียร ผู้อำนวยการฝ่ายพัสดุ การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า กฟน. เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะความรู้ให้บุคลากร ไปพร้อมกับนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการทำงานให้ทันสมัย จึงสนับสนุนให้บุคลากรในฝ่ายงานต่างๆ เพิ่มทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน โดยทักษะที่สำคัญสำหรับฝ่ายพัสดุ คือเรื่องของโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการจัดการโลจิสติกส์ที่เชื่อว่าจะช่วยให้ฝ่ายพัสดุนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยฝ่ายพัสดุ กฟน. ส่งบุคลากรร่วมอบรมในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) เป็นโครงการอบรมระยะยาวที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐาน จนถึงออกแบบโปรเจกต์ที่สามารถจัดการกับปัญหาหน้างานจริงได้

"ร่วม 4 เดือนที่บุคลากรกว่า 30 คน ของฝ่ายพัสดุ ได้เข้าอบรมระยะยาวกับศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) มจธ. ภายใต้โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ บุคลากรมีทักษะและความรู้ด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกับได้อัปเดตความรู้เทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้องต่อการสร้างระบบคลังพัสดุดิจิทัล นอกจากนี้บุคลากรยังได้ฝึกสร้างโปรเจกต์ที่มีโอกาสนำไปต่อยอดกับการทำงานจริง เชื่อว่าหลังอบรมแล้วบุคลากรของฝ่ายพัสดุจะมีความพร้อมต่อระบบการทำงานรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมากขึ้นอย่างแน่นอน" นายสยาม เสริม

ผศ.ดร.กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และหัวหน้าศูนย์นวัตกรรมโลจิสติกส์ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มจธ. กล่าวว่า กลไกของการเรียนรู้ในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ของ มจธ. เน้นโจทย์จริงของบริษัทหรือองค์กรชองผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดหลักสูตรสำหรับบุคลากรจากฝ่ายพัสดุ กฟน. จึงเป็นการออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาคลังพัสดุของ กฟน. พร้อมกับศึกษาข้อจำกัด และปัญหาในกระบวนการทำงานเดิมของฝ่ายพัสดุ เพื่อสร้างบทเรียนด้านโลจิสติกส์ที่เหมาะสม และลดความสูญเสียในกระบวนการทำงาน ให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้จากการเรียนตลอด 4 เดือน ไปใช้ต่อยอดให้ใช้งานได้จริง

ด้าน นายณัฐพงษ์ เหลืองสถาพร นักบริหารงานพัสดุ 7 กองคลังพัสดุ ฝ่ายพัสดุ กฟน. หนึ่งในผู้ร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เล่าว่า สิ่งสำคัญที่เป็นประโยชน์มากๆ คือการปรับทัศนคติและแนวคิดในการทำงาน เปลี่ยนมุมมองในการทำงานที่ไม่ได้โฟกัสเพียงการทำงานเสร็จ แต่ให้มุ่งเป้าหมายที่ความสำเร็จของงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะผลักดันให้บุคลากรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ทำให้เข้าใจความสำคัญของ DATA หรือข้อมูล และสามารถใช้งานข้อมูลที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

"ในโซ่อุปทานของการจัดการคลังสินค้ามีกระบวนการที่เกี่ยวข้องเยอะมาก ซึ่งแต่ก่อนเราไม่ได้มองทั้งโซ่อุปทาน ทำให้เราไม่เข้าใจว่ากระบวนการก่อนหน้านี้สำคัญ และจำเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องและสำคัญต่อข้อมูลที่ส่งต่ออย่างไร การอบรมทำให้เข้าใจว่า เราทำอะไรอยู่ จะส่งข้อมูลให้ใคร สามารถเชื่อมโยงภาพรวมได้ และเห็นภาพว่าทั้งกระบวนการกระทบถึงกันหมดอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นคุณค่าของงานที่ส่งออกไป เพราะเราจะรู้ว่าเราทำไปทำไม ทำเพื่อให้ได้เป้าหมายอย่างไร" นายณัฐพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบคลังพัสดุดิจิทัล ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีเป้าหมายระยะยาวคือสร้างคลังพัสดุอัจฉริยะ เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยยกระดับบริการด้านไฟฟ้าให้กับประชาชนใน 3 จังหวัด พื้นที่ดูแลของ กฟน. ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยคลังพัสดุดูแลพัสดุทั้งหมดร่วม 800 รายการ ที่ใช้สำหรับให้บริการลูกค้า การนำระบบดิจิทัลมาบริหารคลังพัสดุ จะสามารถนำข้อมูลที่มีมาประเมินและประมาณการใช้พัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาของขาดสต๊อก ของเสียหาย ของเกิน หรือของไม่เพียงพอต่อการให้บริการด้านไฟฟ้าให้กับประชาชนภาคครัวเรือน จนถึงไฟฟ้าสาธารณะ

โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ของศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มจธ. เป็นหลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร (Non-Degree) ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สป.อว.) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้บุคลากรในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เปิดสอนมาแล้ว 5 รุ่น 2 หลักสูตร คือ การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management) และ ดิจิทัล โลจิสติกส์ (Digital Logistics) โดยปีนี้ได้รับความสนใจจากองค์กรส่งบุคลากรเข้าร่วมจำนวนมาก เช่น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), มูลนิธิโครงการหลวง, บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช, บริษัท สยามมอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด และ บริษัทเอสเอสเค กลการ จำกัด เป็นต้น

กฟน. เตรียมยกระดับ "คลังพัสดุดิจิทัล" ร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มจธ. ส่งบุคลากร Upskill เตรียมทักษะด้าน "โลจิสติกส์" แบบเข้มข้น