คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ"เผยผลสำรวจดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณอายุแห่งชาติ พบคนไทยมีความพร้อมด้านการเงินต่ำ แนะเพิ่มทักษะการเงิน การลงทุน สนับสนุนการออม อย่างเร่งด่วนจากภาครัฐและภาคเอกชน

19 Dec 2023

ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จัดงานสัมมนาทางวิชาการ "นโยบายความพร้อมทางด้านการเงินแห่งชาติ" ภายในงานมีการรายงานวิเคราะห์ผลตัวเลขดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณอายุแห่งชาติ การเสวนา "เตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณอายุ เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด" พบความพร้อม 'ด้านการเงิน' ของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ความพร้อมโดยรวมอยู่เพียงระดับปานกลาง สะท้อนให้เห็นว่าในภาพรวมคนไทยอาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตช่วงวัยเกษียณอย่างมีความสุข

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ"เผยผลสำรวจดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณอายุแห่งชาติ พบคนไทยมีความพร้อมด้านการเงินต่ำ แนะเพิ่มทักษะการเงิน การลงทุน สนับสนุนการออม อย่างเร่งด่วนจากภาครัฐและภาคเอกชน

ศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายความพร้อมทางด้านการเงินแห่งชาติ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องเตรียมการโดยเร็วเนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์  ประชากรสูงวัยจะมีโอกาสประสบปัญหาด้านรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ในขณะที่รายได้คงที่หรือลดลง ทำให้เกิดความยากลำบากด้านการเงิน  การสำรวจและศึกษาสถาณการณ์ความพร้อมด้านการเกษียณอย่างรอบด้าน จะช่วยให้การวางนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาได้ตรงจุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐชัย ศีลาเจริญ หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า ในงานสัมมนาได้นำเสนอแนวคิดและวิธีการประเมินความพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยเกษียณไว้หลายมิติ  ครอบคลุมทั้งมิติด้านการเงินและด้านคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังมีรายงานผลวิเคราะห์ตัวเลขดัชนีความพร้อมด้านการเกษียณอายุแห่งชาติ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อสถาณการณ์ความพร้อมในปัจจุบัน  โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อนิรุต พิเสฎฐศลาศัย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการเงินและบัญชี คณะบัญชี จุฬาฯ ได้นำเสนอผลสำรวจจากประชาชนวัยทำงานปี พ.ศ. 2566 ทั่วทุกภาคของประเทศไทยกว่า 2,400 คน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตัวเลขดัชนีความพร้อมในการเกษียณอายุของประเทศในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 49.3% สะท้อนว่าคนไทยมีความพร้อมในระดับปานกลาง และสูงขึ้นเล็กน้อยจากผลสำรวจในปี พ.ศ. 2564  อย่างไรก็ตามความพร้อม 'ด้านการเงิน' ของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำที่น่ากังวล โดยปัจจัยสำคัญที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การพัฒนาทักษะทางการเงินและการลงทุนของประชาชน และการสนับสนุนด้านการออมอย่างทั่วถึงจากภาครัฐและภาคเอกชน

การเสวนาในหัวข้อ "การเตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณอายุ เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด" ภายในงานได้รับเกียรติจากบุคลากรที่มีความประสบการณ์และใกล้ชิดกับบริบทด้านการเงินของคนไทย ประกอบด้วย คุณจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ คุณสุขมีนา ภาสะวณิช ผู้อำนวยการกองนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และคุณอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความพร้อมด้านการเงิน ในบทบาทขององค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านการเงินของประเทศ  อีกทั้งได้ให้ข้อคิดข้อแนะนำในการเตรียมพร้อมเพื่อเกษียณอายุแก่บุคคลทั่วไป

ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในงานเสวนา "ทักษะทางการเงิน ทักษะทางดิจิทัล และการใช้ Digital Banking ในไทย" ถึงรูปแบบการทำธุรกรรมกับธนาคารที่เปลี่ยนไปสู่รูปแบบ digital banking ว่าจะเกิดมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรวางแนวทางในการทำให้คนไทยมีความพร้อมในการใช้บริการทางการเงินอย่างปลอดภัย ซึ่งตอกย้ำว่า การพัฒนาทักษะทางการเงินและทักษะทางดิจิทัลของประชาชน เป็นสิ่งที่ต้องเร่งส่งเสริม พร้อมกันนี้ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ จาก University of California San Diego และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น จากคณะบัญชี จุฬาฯ ได้ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการเงินในปัจจุบันที่ต้องใช้ทักษะทางดิจิทัลและทักษะความรู้ด้านการเงิน รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการประกอบธุรกิจผ่าน e-commerce platform ได้อย่างประสบความสำเร็จ

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ"เผยผลสำรวจดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณอายุแห่งชาติ พบคนไทยมีความพร้อมด้านการเงินต่ำ แนะเพิ่มทักษะการเงิน การลงทุน สนับสนุนการออม อย่างเร่งด่วนจากภาครัฐและภาคเอกชน