ความเชื่อมั่นในธุรกิจยานยนต์ทั่วโลกลดลง สาเหตุจากการเติบโตที่ชะลอตัวและต้นทุนที่สูงขึ้น

09 Feb 2024

จากรายงาน Annual Global Automotive Executive Survey ครั้งที่ 24 ของเคพีเอ็มจี พบประเด็นสำคัญดังนี้

ความเชื่อมั่นในธุรกิจยานยนต์ทั่วโลกลดลง สาเหตุจากการเติบโตที่ชะลอตัวและต้นทุนที่สูงขึ้น
  • ผู้นำด้านยานยนต์ในจีนมองสวนกระแสโลก โดยเป็นประเทศเดียวที่ได้รายงานถึงดัชนีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น
  • ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้น
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเตรียมความพร้อมไม่เพียงพอในการรับมือกับความท้าทายด้านเทคโนโลยีที่จะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

รายงาน Annual Global Automotive Executive Survey ครั้งที่ 24 ของเคพีเอ็มจี

จากผลสำรวจ Global Automotive Executive Survey ครั้งที่ 24 ของเคพีเอ็มจี ซึ่งเป็นการสำรวจผู้บริหารในธุรกิจยานยนต์กว่า 1,000 ราย จาก 30 ประเทศทั่วโลก พบว่าผู้บริหารมีความเชื่อมั่นที่ลดลงว่าธุรกิจยานยนต์จะสามารถสร้างผลกำไรให้เติบโตได้มากขึ้นในอีกห้าปีข้างหน้า เนื่องจากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีผู้บริหารเพียงร้อยละ 34 ที่ยังคงเชื่อมั่นในการเติบโตของผลกำไร โดยน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมาที่เชื่อมั่นร้อยละ 41 โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นเพียงร้อยละ 10 จากปีที่ผ่านมาที่เชื่อมั่นถึงร้อยละ 32 ในประเทศแถบยุโรปตะวันตกก็มีความเชื่อมั่นลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 31 เหลือเพียงร้อยละ 24 สอดคล้องกับในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ลดลงจากร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 43 โดยมีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่ผู้บริหารมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยขยับจากร้อยละ 28 เป็นร้อยละ 36 แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มซัพพลายเออร์กลับมีผลความเชื่อมั่นลดลง จากร้อยละ 55 เหลือเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น

มุมมองผู้บริหารต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

ผู้บริหารต่างคาดการณ์ว่าแนวโน้มการเข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้น โดยเคพีเอ็มจีได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารธุรกิจยานยนต์ในปีก่อนถึงแนวโน้มการเข้าสู่ตลาดของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลสำรวจที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ซึ่งต่างจากปีนี้ที่ผลสำรวจออกมาในทิศทางเดียวกัน โดยผู้บริหารเชื่อว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผลสำรวจในยุโรปตะวันตกปีที่ผ่านมาคาดการณ์ว่าในปี 2573 ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่จะมีสัดส่วนร้อยละ 24 ของยอดขายทั่วโลก โดยในปีนี้ได้เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 30 ซึ่งสอดคล้องกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29 เป็นร้อยละ 33 และในประเทศจีนที่การประมาณการเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24 เป็นร้อยละ 36

แม้ว่าจะมีค่ายรถยนต์แบรนด์ดังทยอยนำยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่จาก Global Automotive Executive Survey ของเคพีเอ็มจี พบว่า แบรนด์ Tesla จะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดได้ต่อไป เนื่องจากการเปิดโรงงาน Tesla Gigafactory แห่งใหม่ใกล้กรุงเบอร์ลินในเดือนมีนาคมปี 2565 ซึ่งสร้างให้ได้รับส่วนแบ่งการตลาด และสร้างการรับรู้ในยุโรปได้มากยิ่งขึ้น

"ปีที่แล้วเราเคยกล่าวไว้ว่าผู้บริหารธุรกิจยานยนต์ต่างรู้ว่าอนาคตคือสิ่งที่ต้องรีบคว้าไว้ โดยผู้บริหารกว่า 1,000 คนจาก 30 ประเทศต่างเห็นตรงกันว่ายานยนต์ไฟฟ้าเป็นโอกาสครั้งใหญ่ แต่ ณ ปัจจุบัน หลายๆ คนมีความระมัดระวังมากขึ้น ด้วยเพราะต้องใช้เงินลงทุนกว่าห้าแสนล้านดอลลาร์ในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนในระยะเวลาที่ผู้ประกอบการจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน โดยในขณะนี้ได้มีผู้ผลิตยานยนต์หลายรายสูญเสียเงินไปกับการเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการสั่นคลอนในกลุ่มผู้ผลิตและซัพพลายเออร์"

แบบสำรวจของเคพีเอ็มจีในปี 2024 นี้ จะเจาะลึกถึงรายละเอียดมุมมองของผู้บริหารในธุรกิจยานยนต์  ตลอดทั้งประเด็นข้อกังวลและความท้าทายต่างๆ ที่ต้องมีความระวังมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าสามารถดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ ผู้บริหารควรคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ ตลอดทั้งกำหนดแนวทางรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสภาวะวิกฤตค่าครองชีพ เงินสนับสนุนจากภาครัฐที่อาจน้อยลง ตลอดทั้งการออกแบบวิธีที่ธุรกิจจะสามารถนำมาบูรณาการเพื่อสร้างระบบปฏิบัติการที่ช่วยสร้างประสิทธิภาพให้กับธุรกิจได้ดีมากยิ่งขึ้น

"เราเชื่อว่าธุรกิจยานยนต์จะสดใสมากขึ้นในอนาคต เราจะมีผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าที่ยอดเยี่ยม ที่ทำให้ผู้คนมีความสุขและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลกของเราได้อย่างแท้จริง แต่การจะไปถึงจุดนั้นเราจำเป็นต้องเอาชนะความท้าทายในระยะสั้นนี้ให้ได้ก่อน"

แกรี่ ซิลเบิร์ก หัวหน้าฝ่ายยานยนต์ระดับโลก เคพีเอ็มจี

ประสบการณ์ของลูกค้าคือกุญแจสำคัญที่จะสร้างความแตกต่าง

แม้ว่าประสิทธิภาพยังคงเป็นจุดขายที่สำคัญที่สุด แต่ประสบการณ์ที่ดีที่ลูกค้าได้รับก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่น ประสบการณ์ในการซื้อยานยนต์ การมีซอฟต์แวร์ปฏิบัติการภายในที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ซึ่งอย่างหลังถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากยังมีประเด็นด้านความน่าเชื่อถือและความเสถียรของซอฟต์แวร์

สำหรับยานพาหนะที่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวกำหนด ผู้ใช้สามารถจัดหาแอปพลิเคชันไดรเวอร์ทุกประเภทได้เอง แต่หากผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ไม่น่าสนใจก็ย่อมไม่มีผู้สมัครใช้บริการ โดยผลสำรวจในปีนี้พบว่าผู้บริหารในธุรกิจรับจ้างผลิตซอฟต์แวร์ต่างมีความมั่นใจน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนว่าจะยังสามารถสร้างรายได้จากระบบสมัครสมาชิกได้ เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยยังคงมีกรณีการละเมิดข้อมูลทางไซเบอร์เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าผู้บริหารธุรกิจยานยนต์ต่างคิดว่าจะสามารถหาระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อป้องกันยานยนต์และรักษาข้อมูลของลูกค้าให้ปลอดภัยได้ แต่นั่นอาจเป็นความมั่นใจที่มากเกินไป

just in case มาแทนที่ just in time

หลังจากเผชิญภาวะ "disruption" ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บรรทัดฐานใหม่ในการจัดการห่วงโซ่อุปทานกำลังปรับเป็น " just in case " แทนที่ " just in time" บริษัทต่างๆ อยู่ในระหว่างการพยายามหาวิธีเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน และดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าสองปีก่อน อย่างไรก็ตาม ในอีกห้าปีข้างหน้ายังคงมีความกังวลต่อการจัดหาสินค้าประเภท commodity และ component แต่ไม่ใช่กับประเทศจีนดังที่เราเห็นจากผลสำรวจ โดยผู้บริหารธุรกิจยานยนต์ในประเทศจีนไม่ได้มีความกังวลในด้านการจัดหา ซึ่งอาจเป็นเพราะประเทศได้สำรองสินค้าประเภท commodity ที่สำคัญไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวัตถุดิบสำหรับแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

ความท้าทายด้านเทคโนโลยีมีความซับซ้อนมากขึ้น

จากผลสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้ผลิตยานยนต์ได้มีการเตรียมความพร้อมน้อยลงกว่าปีก่อนในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) โมเดลเสมือนจริง (digital twins) และหุ่นยนต์ขั้นสูง (advanced robotics) โดยมีผู้บริหารเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่เตรียมความพร้อม ซึ่งลดลงจากร้อยละ22 ในปีก่อน

การเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง generative AI ซึ่งคาดว่าจะนำระบบ automation เข้ามาใช้ โดยผู้ผลิตยานยนต์จำเป็นต้องฝึกอบรมพนักงานให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้ในทุกรูปแบบ และต้องแข่งขันกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อดึงดูดพนักงานที่มีทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์จาก AI

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีของยานยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ ดูเหมือนว่าบริษัทต่างๆ จะมีการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น โดยเทคโนโลยีไฮบริดได้ก้าวขึ้นจากอันดับที่สี่มาเป็นอันดับสองในด้านเทคโนโลยีของยานยนต์ไฟฟ้า

จากการเผชิญกับความท้าทาย และโอกาสอย่างมากมาย ผู้บริหารยานยนต์ควรเร่งปรับกลยุทธ์ และเริ่มดำเนินการทันที ผลสำรวจจากเคพีเอ็มจีได้ระบุแนวทาง 4 ประการที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการยกระดับธุรกิจยานยนต์ ดังนี้

1 ผู้ผลิตยานยนต์ควรบริหารความเสี่ยงจากการกำหนดสัดส่วนธุรกิจเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า/ ทางเลือกใหม่อย่างเหมาะสม โดยหากมีการกระจายรูปแบบที่มากเกินไปก็อาจมีโอกาสแพ้ให้กับคู่แข่งที่สามารถคาดการณ์อนาคตที่เจาะจงได้ดีกว่า ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการสามารถมองหาสิ่งใหม่ๆ ผ่านการใช้ความสามารถที่หลากหลาย และการมีมุมมองที่แตกต่างได้ จะช่วยสร้างทางเลือกหรือวิธีที่ดีที่สุดได้ต่อไป 2 Generative AI กำลังสร้างจินตนาการให้กับผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ และกำลังขยายการใช้งาน AI ไปในวงกว้าง เราเชื่อว่าเทคโนโลยี AI สามารถนำมาใช้ในส่วนต่างๆ ของธุรกิจยานยนต์ได้อย่างครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การขาย และการขับขี่ คำถามสำคัญสำหรับผู้บริหารคือ องค์กรได้กำหนดกลยุทธ์ แผนการใช้ AI ได้อย่างครอบคลุมแล้วหรือไม่ 3 บริษัทยานยนต์มักจำกัดการพัฒนาเป็นจากภายในเท่านั้น ซึ่งมักจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเท่าที่ควร ด้วยเพราะโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายภายใต้ทักษะที่จำกัด ดังนั้น จึงควรมองหาความเชี่ยวชาญจากภายนอกเพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการวิจัยและพัฒนาได้อย่างเต็มที่

4 ระดับการเปลี่ยนแปลงสู่ยานยนต์ไฟฟ้ามีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยในยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน มีความต้องการยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับในบางพื้นซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ เช่น ประเทศอินเดีย ทวีปละตินอเมริกา และทวีปแอฟริกากลับมีการเติบโตที่ช้า เนื่องจากประชากรในประเทศเหล่านี้มีรายได้ไม่สูง และการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตามบริษัทยานยนต์ต์ทั่วโลกก็ไม่ควรมองข้ามตลาดในภูมิภาคเหล่านี้ เนื่องจากมีการเติบโตของจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทยานยนต์ควรมีกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นต่อการรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดจากภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจโลกที่ยังคงส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานในตลาดยานยนต์

ธิดารัตน์ ฉิมหลวง หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมการผลิต เคพีเอ็มจีประเทศไทย กล่าวว่า "อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเผชิญกับความท้าทายและโอกาสในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยี AI ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตยานยนต์จะต้องทบทวนกลยุทธ์อย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพราะในสถานการณ์โลกปัจจุบัน การปรับธุรกิจให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าที่มีแตกต่างในมิติต่างๆ เช่น ลูกค้าในแต่ละภูมิภาค รวมถึงความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ถือเป็นกุญแจสำคัญที่สร้างให้องค์กรก้าวสู่ความสำเร็จ"

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่า "แม้ว่าความเชื่อมั่นต่อการเติบโตในการสร้างผลกำไรของธุรกิจยานยนต์ในอีกห้าปีข้างหน้าของผู้บริหารธุรกิจยานยนต์ทั่วโลกจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ร้อยละ 34 เทียบกับร้อยละ 41 ในปีก่อน) แต่ประมาณการเฉลี่ยสำหรับการเข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าได้เพิ่มมากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผู้บริหารจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจที่สำคัญ อันได้แก่ ด้านเทคโนโลยี โดยจะเห็นได้ว่าผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับยานพาหนะที่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวกำหนด อีกทั้ง การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้าน AI และเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เคพีเอ็มจีเรามีทีมงานมืออาชีพที่มีประสบการณ์กว้างขวางในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่พร้อมทุ่มเทเพื่อสนับสนุนลูกค้าทุกท่านให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะธุรกิจในปัจจุบันและพร้อมเติบโตต่อไปได้ในอนาคต"