ความลับของรอยยิ้ม ความสดใส แต่ภายในใจอาจซ่อนความเศร้า

08 Feb 2024

ในสังคมปัจจุบัน ผู้คนมักเผชิญความกดดันและความเครียดมากมายเช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การทำงาน  ทำให้หลายคนจึงเลือกสวมหน้ากากปกปิดอารมณ์ที่แท้จริง หนึ่งในหน้ากากที่พบได้บ่อยคือ "รอยยิ้ม" ที่แฝงไว้ด้วยความเศร้า หรือที่เรียกว่า "Smiling Depression"

ความลับของรอยยิ้ม ความสดใส แต่ภายในใจอาจซ่อนความเศร้า

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า Smiling depression คือคนที่ซึมเศร้า แต่จะแสดงออกภายนอกว่าร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ภายในจิตใจกลับรู้สึกเศร้าโศก หดหู่ ไร้ความสุข สิ้นหวัง คล้ายกับโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่สามารถเก็บซ่อนความรู้สึกไว้ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งจะพบได้บ่อยในผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองต้องแสดงออกให้คนอื่นเห็นแต่ด้านที่ดีของตัวเองเท่านั้น กลัวว่าคนรอบข้างจะมองว่าตัวเองอ่อนแอหรือเป็นภาระ

สาเหตุของภาวะ Smiling depression

  1. ผู้ที่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist เมื่อประสบปัญหา คนกลุ่มนี้จึงเลือกที่จะแสดงออกว่ามีความเข้มแข็งมากกว่า
  2. ไม่ต้องการรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของผู้อื่น ไม่ต้องการให้ผู้อื่นต้องเป็นห่วงตัวเอง และบางครั้งยังต้องรับฟังปัญหาของผู้อื่นอีกด้วย
  3. มีความรับผิดชอบสูง ทั้งในหน้าที่การงาน ครอบครัว หรือกับสังคมรอบตัว จึงเลือกที่จะไม่แสดงออกความรู้สึกของตนเอง ที่จะกระทบผู้คนรอบข้าง

สัญญาณภาวะ Smiling depression

  • ยิ้ม แต่สายตาดูไม่สดใส
  • ดำเนินชีวิตได้ปกติแต่ข้างในรู้สึกเศร้า
  • เป็นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ทุกคนคอยเข้าหาแต่ไม่ค่อยพูดเรื่องของตัวเอง
  • ไม่อยากให้ตัวเองเป็นภาระ
  • ไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองไม่สมบูรณ์แบบ หรือรู้สึกอ่อนแอ
  • คาดหวังให้คนอื่นมีความสุขส่วนตัวเองเก็บความรู้สึกไว้
  • นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
  • รู้สึกตัวเองไร้ค่า สิ้นหวัง รู้สึกผิด หรือแม้กระทั่งมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่
  • ไม่อยากทำอะไร อ่อนเพลีย หรือรู้สึกไม่สนใจ เพลินเพลิดกับกิจกรรมที่เคยชอบทำ

การรักษาภาวะ Smiling depression ประกอบไปด้วยการใช้ยาต้านซึมเศร้าและการบำบัดทางจิต

การใช้ยาต้านเศร้า จะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมกลับของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมอง เช่น สารเซโรโทนิน และสารนอร์เอพิเนฟริน ยาต้านซึมเศร้ามักใช้ร่วมกับการให้คำปรึกษาและบำบัดทางจิต ระยะเวลาในการรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

การบำบัดอาการทางจิตเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะเป็นผู้ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของอาการซึมเศร้า และเรียนรู้วิธีรับมือกับความรู้สึกของตัวเอง เช่น การบำบัดแบบจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ช่วยผู้ป่วยสำรวจความคิดและความรู้สึกที่ซ่อนเร้น, การบำบัดแบบพฤติกรรมทางปัญญา (Cognitive Behavioral Therapy, CBT) ช่วยผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ส่งผลต่ออารมณ์และการบำบัดกลุ่ม (Group therapy) ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง

สำหรับการดูแลตัวเองเมื่อเป็น Smiling Depression ควรยอมรับความรู้สึกของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องฝืนยิ้มตลอดเวลา อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกเศร้า โกรธ หรือรู้สึกอะไรก็ได้, สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง พูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ ระบายความรู้สึกของตัวเอง ดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล

จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit