เอ็นไอเอฉายแสงสตาร์ทอัพไทย เจาะความคืบหน้า พ.ร.บ. สตาร์ทอัพ พร้อมอัพเดต 3 เทรนด์สตาร์ทอัพไทยไปแล้วรุ่งในปีมังกรทอง

29 Jan 2024

หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เริ่มรู้จักกับโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นโมเดลที่ขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงานใหม่ และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นตัวกำหนดมูลค่า ทั้งนี้ หากนับเส้นทางการเริ่มสนับสนุนโมเดลธุรกิจดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปี 2016 จนถึงปี 2024 นี้ จะพบว่าประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวในแวดวงสตาร์ทอัพที่น่าสนใจไม่น้อย และมีความสำเร็จที่เห็นได้ทั้งระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง การเกิดยูนิคอร์น การเกิดธุรกิจสร้างสรรค์ใหม่ และภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่มีนักลงทุนไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจมากขึ้น วันนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในฐานะผู้บุกเบิกการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพตั้งแต่แรกเริ่ม ขอนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าสตาร์ทอัพไทยมาฝากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งโอกาสในการทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยเฉิดฉายในเวทีโลกได้ยิ่งกว่าเดิม

เอ็นไอเอฉายแสงสตาร์ทอัพไทย เจาะความคืบหน้า พ.ร.บ. สตาร์ทอัพ พร้อมอัพเดต 3 เทรนด์สตาร์ทอัพไทยไปแล้วรุ่งในปีมังกรทอง

7 ปีแห่งการเดินทางกับเรื่องท้าทายรอบด้าน

ย้อนกลับไปในปี 2016 ที่ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยเริ่มก่อตัวขึ้นจากการมีจำนวนสตาร์ทอัพเพียงไม่กี่ราย มีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้านการลงทุนเฉพาะกลุ่ม และจำกัดแค่บางอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยสตาร์ทอัพเริ่มมีกระแสในช่วงปี 2017 โดยกรุงเทพฯ ถูกจัดให้เป็นเมืองสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด ต่อมาปี 2018 มีจำนวนสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,500 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Fintech และ Lifestyle เป็นหลัก ปี 2019 ธุรกิจ Pomelo ได้รับการลงทุน Series C ด้วยมูลค่า 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นจุดประกายความฝันที่ช่วยยืนยันว่าระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยยังมีความพร้อมที่จะเติบโตไปได้อีกขั้น ขณะที่ปี 2020 การระบาดของโควิด - 19 เป็นตัวแปรให้ Tech Startup เติบโตในหลายสาย ไม่ว่าจะเป็นภาคการขนส่ง เดลิเวอรี่ การแพทย์ อีคอมเมิร์ซ เกษตร ถัดมาที่ปี 2021 ไทยมียูนิคอร์นที่เกิดขึ้นถึง 2 ราย คือ Flash Express และ Ascend Money และมีมูลค่าการลงทุนในตลาดถึง 310.58 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งในปี 2022 เริ่มมีการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้น ภาครัฐออกหลักเกณฑ์และกฎหมายอำนวยความสะดวกให้การประกอบธุรกิจของสตาร์ทอัพมีมากขึ้น ภาคการศึกษามีโครงการบ่มเพาะและการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพหน้าใหม่ รวมถึงกรุงเทพฯ ยังเป็นพื้นที่ดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจ จนมี Digital Nomad สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ส่งผลให้ตลาดสตาร์ทอัพไทยคึกคักอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยขยายใหญ่ขึ้นและมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปี 2023 ถือเป็นปีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยสามารถคว้าอันดับที่ 52 ของโลกในการจัดอันดับ Global Startup Ecosystem Index โดย Startupblink ซึ่งมี 3 ประเด็นที่โดดเด่น ได้แก่

ประเด็นแรก การเพิ่มจำนวนของ University Holding Company หรือหน่วยธุรกิจที่เกิดขึ้นจากสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคการศึกษาของไทยมีการขานรับในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อต่อยอดนำผลงานออกไปจัดตั้งบริษัท โดยสิ่งนี้ยังได้มีการวางเป้าหมายออกมาเป็นนโยบายไว้อย่างชัดเจน เช่น การเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม การเร่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทให้ได้จำนวน 1,000 บริษัท และการสร้าง 5 บริษัทผู้ประกอบการไทยที่จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันไปถึงระดับโลก นอกจากนี้ยังเห็นการเพิ่มหลักสูตรบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการขึ้นมาตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นขยายการเติบโตไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงยังมีคอร์สพิเศษสำหรับผู้สนใจแสวงหาความรู้ ซึ่ง NIA เองก็มีโครงการ NIA Academy MOOCs แหล่งเรียนรู้ออนไลน์เกี่ยวกับองค์ความรู้นวัตกรรม เพื่อนำไปต่อยอดใช้สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมได้ต่อไป

ประเด็นต่อมาคือการเปลี่ยนแปลงสตาร์ทอัพในรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกหรือ "DeepTech" ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็น 65 บริษัทภายในเวลา 3 ปี และเกิดการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการส่งเสริมและเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศทั้งหมด รวมถึงความร่วมมือในการจัดผังกลุ่มเครือข่าย (Mapping) ที่ชัดเจน เพื่อเป็นภาพรวมให้นักลงทุนเห็นโอกาสการเข้ามาสนับสนุนอีกด้วย

และประเด็นสุดท้าย คือการขยายขนาด ปรับความคิดเพื่อแสวงหาโอกาสจากตลาดต่างประเทศ โดยตอนนี้ สตาร์ทอัพไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐได้ลงทุนไว้ ไม่ว่าจะเป็น Co-Working Space หรือเครื่องมือสำหรับทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายและมาตรการภาครัฐเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพ NIA ได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (พรบ. สตาร์ทอัพ) ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเสนอร่าง พรบ. เข้าสู่สภาฯ ต่อไป

"พ.ร.บ. สตาร์ทอัพ" กฎหมายช่วยส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพไทย

แม้ปัจจุบันธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่กฎหมายที่ใช้อยู่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ ทำให้สตาร์ทอัพไทยหลายแห่งเลือกจัดตั้งธุรกิจจากต่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายของต่างประเทศนั้นเอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากกว่า และต่างก็มีกฎหมายเฉพาะสำหรับสตาร์ทอัพ

ที่ผ่านมา NIA ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (พ.ร.บ. สตาร์ทอัพ) ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคของธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยดำเนินการภายใต้หลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ 1) เน้นการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจและการระดมทุนก่อน แล้วจึงขยายสู่การปรับปรุงกฎหมายในประเด็นที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพต่อไป 2) ร่างกฎหมายที่จะเสนอจะต้องไม่สร้างคณะกรรมการหรือหน่วยงานขึ้นใหม่ จึงได้กำหนดให้ NIA เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสตาร์ทอัพตั้งแต่ต้น และกำหนดกลไกให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมกันส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ และ 3) กำหนดลักษณะหรือนิยามของธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายให้กว้างขวาง และอาจนำระบบการขึ้นทะเบียนอย่างง่ายหรือการให้ธุรกิจสตาร์ทอัพรับรองตนเองที่มีการใช้ในต่างประเทศมาปรับใช้ เพื่อลดภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายหรือการขอรับการส่งเสริมของผู้ประกอบการ

เทรนด์สตาร์ทอัพไทย ปรับตัวไว ไปรุ่ง

NIA ขอนำเสนอ 3 เทรนด์นวัตกรรมมาแรง ที่จะเป็นสปอตไลท์สำหรับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ได้แก่ Climate Tech - เทคโนโลยีเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทรนด์ที่เกิดขึ้นตามเป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 ภายในปี 2573 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกภาคส่วนเกิดการตื่นตัว เช่น การมองหาพลังงานทางเลือกที่สะอาดและหมุนเวียนได้ ควบคู่กับความก้าวหน้าในการกักเก็บพลังงาน การพัฒนาเทคโนโลยีดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตที่หลากหลายต่อไป ถือเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในคราวเดียวกัน ซึ่งจะมีทั้งผู้เล่นรายใหม่อย่างสตาร์ทอัพ และผู้เล่นรายใหญ่ที่มองหาเทคโนโลยีทางเลือกเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่นำมาซึ่งการสร้างคุณค่าในการมีส่วนร่วมให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ของผู้คนในสังคม เช่น สินค้ารักษ์โลก แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

เทรนด์ต่อมาคือ EV Tech - เทคโนโลยีเพื่อตอบกระแสยานยนต์ไฟฟ้า กำลังเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบตเตอรี่และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นแรงหนุนที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูงที่ช่วยให้ยานยนต์มีความคล่องตัว ระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่เข้ามาเปิดโลกใหม่ในการขับขี่ที่ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐสำหรับผู้ผลิตและผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้า ดึงดูดให้ตลาดกลุ่มนี้มีผู้เล่นหลากหลายตลอดห่วงโซ่คุณค่า ส่งผลให้เกิดกลไกการแข่งขันที่ผลักดันมาตรฐานสินค้าและบริการให้สูงขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านโครงสร้างพื้นฐานในการอัดประจุไฟฟ้า และแพลตฟอร์มใช้บริการร่วมกัน มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศที่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลายและมีความเชื่อมั่นในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

และสุดท้ายคือ Creative Tech - เทคโนโลยีสร้างสรรค์ กำลังเข้ามาเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์ด้านศิลปะ วัฒนธรรม การออกแบบ และความบันเทิงในสังคมไทย จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โลกจริงและโลกเสมือนจะถูกเชื่อมต่อกันผ่านเลนส์บาง ๆ ปัจจุบันมีหลากหลายเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้คน เช่น เทคโนโลยีความเป็นจริงต่อขยาย (XR) ระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มออนไลน์ การบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้เข้ามามีบทบาทกับกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ทั้งการท่องเที่ยว สื่อดิจิทัล ภาพยนตร์ แฟชั่น เกมและแอนิเมชั่น ที่นอกจากจะช่วยยกระดับประสบการณ์ความเพลิดเพลินระดับบุคคลแล้ว ยังช่วยยกระดับเศรษฐกิจและเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศในเวทีโลกผ่านซอฟต์พาวเวอร์ได้อีกด้วย ซึ่งประเทศไทยมุ่งผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมโยงความเป็นไทยสู่สากลและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป

เอ็นไอเอฉายแสงสตาร์ทอัพไทย เจาะความคืบหน้า พ.ร.บ. สตาร์ทอัพ พร้อมอัพเดต 3 เทรนด์สตาร์ทอัพไทยไปแล้วรุ่งในปีมังกรทอง