SME D Bank คว้ารางวัล "รัฐวิสาหกิจดีเด่น" ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ บูรณาการ ปณท. สร้างนวัตกรรมบริการ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสเอสเอ็มอีรายย่อยถึงแหล่งทุน

31 Jan 2024

SME D Bank คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566 ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น จากโครงการ "Transaction-based Lending สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ค้าขายผ่าน Cash on Delivery (COD)" บูรณาการ ปณท. สร้างมิติใหม่ของสินเชื่อและบริการ อุ้มเอสเอ็มอีกลุ่มค้าขายออนไลน์รายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน ช่วยสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืนแก่สังคมและเศรษฐกิจไทย

SME D Bank คว้ารางวัล "รัฐวิสาหกิจดีเด่น" ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ บูรณาการ ปณท. สร้างนวัตกรรมบริการ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสเอสเอ็มอีรายย่อยถึงแหล่งทุน

วันนี้ (31 ม.ค. 67) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดย นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เข้ารับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566 ประเภท "รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ภายใต้แนวคิด "รัฐวิสาหกิจสร้างสรรค์พลังไทยสู่สากล ENHANCING THAINESS TOWARDS GLOBAL OPPORTUNITIES" จากโครงการ "Transaction-based Lending สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ค้าขายผ่าน Cash on Delivery (COD)" โดยได้รับเกียรติจากนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เป็นประธานในพิธี และมอบรางวัล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นางสาวนารถนารี กล่าวว่า การได้รับรางวัลดังกล่าว สร้างความภาคภูมิใจ และเป็นการสะท้อนความสำเร็จที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของ SME D Bank กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ที่บูรณาการนำความเชี่ยวชาญของ 2 หน่วยงาน มาเสริมศักยภาพระหว่างกัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมสินเชื่อและกระบวนการอำนวยสินเชื่อ ผ่านโครงการ "Transaction-based Lending สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ค้าขายผ่าน Cash on Delivery (COD)" สร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มค้าขายสินค้าออนไลน์ที่ใช้บริการเก็บเงินปลายทางหรือ COD ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดฝอยทางเศรษฐกิจ ให้เข้าถึงแหล่งทุนอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงินของรายย่อย สอดคล้องโดยตรงตามแนวทาง ESG (Environmental Social Governance) ที่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

"ความร่วมมือในโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นและแรงกระตุ้นให้ 2 หน่วยงานภาครัฐ ได้ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ นำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อมอบบริการที่ดีที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต ให้แก่ประชาชน ช่วยสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างรายได้ และที่สำคัญ สร้างความยั่งยืน ให้สังคมและเศรษฐกิจไทย สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ และตรงกับนโยบายหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐบาล และองค์การสหประชาชาติ" นางสาวนารถนารี กล่าวทิ้งท้าย