ไอแบงก์ ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน Thailand Hajj and Umrah Forum 144

22 Jan 2024

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ในฐานะผู้สนับสนุนหลักการจัดงาน "ฮัจย์และอุมเราะห์ ฟอรัมประเทศไทย 1445" ภายใต้แนวคิด The Change, Challenge and Opportunity of Hajj and Umrah Services in Thailand ที่จัดโดย บริษัท 786 อลีเม็กซ์ จำกัด และมุสลิมไทยโพสต์ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 มกราคม 2567 ณ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ไอแบงก์ ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน Thailand Hajj and Umrah Forum 144

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแถลงข่าวพร้อมกับ นายแพทย์ วิรุฟห์ พรพัฒน์กุล ประธานจัดงาน นายระบิล พรพัฒน์กุล รองประธานจัดงาน นายบัญญัติ ทิพย์หมัด รองประธานจัดงาน และอาจารย์ซาฟีอี นภากร อีหม่ามประจำมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงความพร้อมในการจัดงาน "ฮัจย์และอุมเราะห์ ฟอรัมประเทศไทย 1445" ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2567 ณ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กล่าวว่า "ไอแบงก์ มีความชัดเจนในพันธกิจของธนาคารในการให้บริการทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ ซึ่งเรื่องฮัจย์และอุมเราะห์ถือเป็นพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาที่ไอแบงก์ให้ความสำคัญ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้จัดงาน Hajj & Umrah Service Conference & Exhibition ที่เมืองเจดดาห์ระหว่างวันที่ 8-11 มกราคม 2567 ไอแบงก์ก็ได้ส่งบุคคลากรไปติดตามความก้าวหน้าและพัฒนาการที่ราชอาณาจักรกำลังดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับ "วิสัยทัศน์ 2030 (Vision 2030)" ภายใต้โปรแกรม Pilgrim Experience หรือการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้แสวงบุญ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองแห่งในมักกะห์และมาดีนะห์ ได้ในจำนวนมากขึ้น ตลอดจนสร้างความประทับใจตั้งแต่เริ่มต้นการเดินทาง ระหว่างปฏิบัติศาสนกิจและพิธีกรรม และภายหลังการเยี่ยมเยียนศึกษาสถานที่ทางประวัติศาสตร์สำคัญในระหว่างที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร โดยการพยายามยกระดับความสามารถของบุคลากรในประเทศให้มีจิตบริการ ตลอดจนนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้แสวงบุญทุกจุดมากขึ้น ฉะนั้นการที่ประเทศไทยจะจัดกิจกรรมและฟอรัมแบบนี้ถือว่าเรามาถูกทาง ผมคิดว่าเรื่องฮัจย์ก็ไม่ต่างอะไรกับเรื่องฮาลาลที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ผู้ประกอบการ องค์กรทางศาสนา และธนาคารอิสลามก็มีหน้าที่สนับสนุนให้กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น ถือเป็นโอกาสดีที่ธนาคารจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งผมเชื่อว่าภายในงานนี้จะมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางต่างๆ ที่จะช่วยให้พี่น้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น สำหรับด้านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับฮัจย์และอุมเราะห์ ไอแบงก์รองรับลูกค้าเรามายาวนานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการที่มีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเช่นหนังสือค้ำประกัน หรือเงินโอน เป็นต้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝากสำหรับกลุ่มลูกค้าบุคคลที่ต้องวางแผนทางการเงินเพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเราได้ปรับผลิตภัณฑ์เงินฝากอัลฮัจย์เดิม เป็นเงินฝากอัลฮัจย์และอุมเราะห์ พร้อมสร้างโอกาสลุ้นบินลัดฟ้าไปร่วมพิธีฮัจย์ได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ขยายจำนวนรางวัลจากเดิมเพียง 12 รางวัล เป็น 45 รางวัล และผู้โชคดีสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในการรับรางวัลให้ผู้อื่นได้อีกด้วย"

ภายในงานจะมีกิจกรรมทั้งที่เป็นกลางแจ้งและในห้องประชุม โดยกิจกรรมกลางแจ้งจะมีการจัดจำหน่ายอาหาร เสื้อผ้า สินค้าทั่วไป บริการตรวจสุขภาพฟรี และจัดเวที เสวนาวิชาการ พร้อมนิทรรศการที่แสดงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงฮัจย์และอุมเราะห์จากอดีต ปัจจุบันสู่อนาคต และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมอัลมีรอซ ภาคเช้า จัดเวทีสัมนาแลกเปลี่ยนถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ ในหัวข้อ การเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย และโอกาส ทิศทางของการจัดบริการ ฮัจย์ และอุมเราะห์ ของประเทศไทย แชร์มุมมอง โดยพรรคการเมืองชันนำ อาทิ ภูมิใจไทย ประชาชาติ ก้าวไกล และประชาธิปัตย์ และมีการแยกห้องให้กับผู้เข้าร่วมสัมนาได้เจาะประเด็นเชิงลึกในหัวข้อที่สนใจ ออกเป็น 3 ห้อง อาทิ

ห้องที่ 1 ด้านการศึกษา การพัฒนาฮัจย์ไทยในมุมมองด้านการศึกษา กิจกรรม Hackatron Hajj and Umrah Thailand ชิงเงินรางวัลกว่า 50,000 บาท
ห้องที่ 2 ด้านสาธารณสุข
ห้องที่ 3 สมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ และแซะห์

ไฮไลต์ภาคค่ำกับกิจกรรม Dinner Talk บทสรุปฮัจย์และอุมเราะห์ของไทย "ภารกิจฮัจย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชาติ" แชร์มุมมองโดย รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี (อดีตอะมีรุลฮัจย์)