"ธนากร จีนกลาง" ปราชญ์ฯ ต้นแบบสัมมาชีพ

19 Oct 2023

"เพราะเชื่อว่ายางพาราจะเป็นทางเดียวที่แก้ปัญหาความยากจนได้" จึงกลายเป็นที่มาซึ่งทำให้ "ธนากร จีนกลาง" ประธานวิสาหกิจชุมชนฐานเกษตรยางพารา อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ผันตัวเองจากการทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มาปลูกยางพารา"คนแรก" ของหมู่บ้าน กระทั่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็น เกษตรกรยางพารารมควัน ต้นแบบของจังหวัดบุรีรัมย์

"ธนากร จีนกลาง" ปราชญ์ฯ ต้นแบบสัมมาชีพ

ทั้งล่าสุดยังได้รับรางวัล "ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ" ประจำปี 2566 จากมูลนิธิสัมมาชีพ ในฐานะที่ริเริ่มนำองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างประโยชน์ให้ชุมชน ท้องถิ่น

หลังริเริ่มปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคอีสานในปี 2532 จากการอบรมในโครงการอีสานเขียวแล้ว เขายังไม่หยุดนิ่ง แสวงหา "นวัตกรรม" สร้างองค์ความรู้  มูลค่าเพิ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพยางพาราร่วมกับสถาบันการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราอย่างต่อเนื่อง  ในนามประธานวิสาหกิจชุมชนฐานเกษตรกรยางพารา ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 220 คน

การผลิตยางแผ่นรมควันของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ปัจจุบันได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP เป็นโรงที่ 9 ของประเทศไทย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานบริษัทบริดจสโตน ผู้ผลิตล้อเครื่องบิน สะท้อนถึงมาตรฐานการผลิตยางพารา "เราเป็นสถาบันแรกสถาบันเดียวในไทยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน" ธนากร เล่าอย่างภาคภูมิใจ

อีกหนึ่งนวัตกรรมสำคัญ ที่เขาทำงานวิจัยร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือ "โรงอบยางพาราพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม" โดยผลลัพธ์ของโรงอบฯ พลังแสงอาทิตย์ ช่วยแก้ปัญหากลิ่นยาง ได้เนื้อยางคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ จนชาวบ้านเรียกว่าเป็นโรงอบยางฯไร้กลิ่น

โรงอบฯ พลังแสงอาทิตย์ช่วยลดระยะเวลาอบเหลือ 7 วัน ลดการใช้ไม้ฟืน จึงสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงปีละราว 7-8 แสนบาท นอกจากนี้ยังช่วยลดมลพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดฝุ่น เรียกว่า เป็นการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"ที่ผ่านมา ไม่เคยรู้เลยว่า ยางพาราตากแดดไม่ได้ เพราะแสงยูวีจะทำลายเซลล์ยาง ทำให้ยางไม่มีคุณภาพ เนื้อยางส่วนที่พาดไม้ตากแดดยังมีน้ำยางเยิ้ม ไม่แห้ง จึงเสื่อมคุณภาพ เมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแนะนำให้สร้างพาราโบลาโดมคลุมด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนต ทำให้เราประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาคุณภาพยางแผ่นรมควัน จากการอบด้วยแสงอาทิตย์พาราโบลาโดม"

.. มาตรฐานการผลิตยางพาราดังกล่าว ทำให้สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดอีกด้วย   

"เราต้องขายคุณภาพ ถ้าสร้างคุณภาพได้ สินค้าก็อยู่ได้ เราก็อยู่รอด" ธนากร เชื่อเช่นนั้น  

จากความสามารถในการดำเนินการดังกล่าว ทำให้กลุ่มฐานเกษตรยางพาราที่ธนากรเป็นผู้นำ ได้สร้างความกินดีอยู่ดีให้กับคนในพื้นที่หมู่บ้านหนองตาเฮียง อำเภอโนนสุวรรณ จากเดิมที่เคยเป็นหมู่บ้าน "ยากจนที่สุด" ในจังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านที่มีรายได้สูงต่อหัวต่อคนสูงสุดในจังหวัด (สมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ มีรายได้เดือนละ 22,000 บาทต่อคน จากยอดขายรวมเดือนละ 5 ล้านบาท)

ทั้งยังเป็นการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับแนวทางสัมมาชีพ (มีอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้) ทำให้เขาได้รับรางวัลการันตีมากมาย

ล่าสุดกับรางวัล "ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ"  

"ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ หลังลองผิดลองถูกการปลูกยางพารามากว่า 10 ปี เจอปัญหาและแก้ปัญหายางพารามามาก การได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ชาวบ้านฯ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ โดยผมต้องการนำองค์ความรู้เหล่านี้ ไปถ่ายทอดให้กับพี่น้องเกษตรกรและสถาบันต่างๆ ให้นำไปพัฒนาคุณภาพยางพาราให้ได้มาตรฐาน ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น"   เขาเผยความในใจ  

ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฐานเกษตรยางพารา คือ ผู้รวบรวมน้ำยางสดและแปรรูปยางแผ่นรมควัน และยางก้อนถ้วยแปรรูปเป็นยางเครปบางสีน้ำตาล ล่าสุดยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางเครปขาว หากทำได้ตามมาตรฐานความขาวได้ 2% ตรงกับที่ญี่ปุ่นต้องการจะรับซื้อเดือนละ 60 ตัน แต่ขณะนี้ทำความขาวได้เพียง 3%  จึงนำมาทำไปเป็นสติ๊กเกอร์ปิดผัก ผลไม้ ได้เท่านั้น 

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่วิสาหกิจฯจึงต้องหมั่นหาความรู้  สร้างประสบการณ์ เพื่อพัฒนาการแปรรูปยางพาราให้ได้คุณภาพ ที่สำคัญต้อง "รวมกลุ่มกัน" ให้เข้มแข็ง เพื่อเปิดตลาดสินค้ายางพาราในภาคอีสานให้กว้างขึ้น

"เราต้องรวมตัวกันสร้างคุณภาพ สร้างปริมาณการผลิตได้ตามคำสั่งซื้อ ตามที่ตลาดต้องการ ตลาดต้องการแบบไหนเราต้องทำได้หมด แต่ถ้าเราต่างคนต่างทำ วันไหนเราถึงจะเดินไปถึงเส้นชัยได้

ขณะเดียวกันรัฐ เอกชน เกษตรกร ต้องจับมือกัน ถ้าทำได้ ผมเชื่อว่าเกษตรกรไทยมีอยู่ มีกิน ถาวรได้แน่นอน" ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ กล่าว

"ธนากร จีนกลาง" ปราชญ์ฯ ต้นแบบสัมมาชีพ