ไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่ระดมความคิด สร้างนวัตกรรมผลักดันให้คนพิการมีงานทำ "HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน"

09 Oct 2023

ไทยพีบีเอส จับมือภาคีเครือข่ายคนพิการ เปิดพื้นที่ระดมความคิด ชวนทุกภาคส่วนมาร่วมหาทางออก มุ่งสร้างโอกาส ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมเร่งผลักดันให้คนพิการกว่า 80,000 คนมีงานทำ

ไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่ระดมความคิด สร้างนวัตกรรมผลักดันให้คนพิการมีงานทำ "HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน"

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP), กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.), กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย รวมพลังขับเคลื่อนสังคม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคนพิการอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรม "HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน" จัดขึ้นในวันที่ 28 - 30 กันยายน 2566 ณ ไทยพีบีเอส

จากข้อมูลสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย ปี 2565 มีคนพิการทั่วประเทศจำนวน 2,000,000 คน และมีจำนวนคนพิการที่สามารถประกอบอาชีพได้ แต่ยังคงว่างงานอยู่จำนวนมากถึง 81,502 คน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายและพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 แล้วก็ตาม ในทางกลับกันพบว่า มีการจ้างงานคนพิการน้อยกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย สิทธิด้านอาชีพคนพิการขาดหายจนเกิดเป็นช่องว่างในสังคม จึงนำมาสู่กิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นกลไกการจ้างงาน เชื่อมโยงระหว่างสถานประกอบการและคนพิการ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีคุณค่าและเท่าเทียมกัน

และเป็นพื้นที่กลางระดมความคิดก่อให้เกิดนวัตกรรมและวิธีการใหม่ ๆ ที่จะสร้างโอกาสให้เกิดการจ้างงานคนพิการ โดยเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วม HACKATHON จำนวน 56 คน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้แก่ AIS, กระทรวงสาธารณสุข, กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, King Power, ทีมผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย โดยแบ่ง 8 ทีม ภายใต้ 4 โจทย์ ได้แก่

  1. การเพิ่มอัตราการจ้างงาน ม.33 ในภาคเอกชนให้มากขึ้นกว่าเดิมที่มีอัตราส่วนลูกจ้าง 100 คนต่อคนพิการ 1 คน ซึ่งหลังจากกิจกรรมนี้จบลงข้อเสนอแนะการจ้างงานในภาคเอกชนมีจำนวนมากกว่านี้ได้หรือไม่
  2. การเพิ่มอัตราการจ้างงาน ม.35 ในภาครัฐ โดยการให้พื้นที่คนพิการได้สร้างรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งแต่เดิมนายจ้าง ขอใช้สิทธิเพื่อทดแทนการจ้างงานและไม่นำเงินเข้ากองทุน โดยให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพได้เพียง 7 วิธี เช่น ให้สถานที่ขายสินค้าและบริการ การให้สถานที่ฝึกงาน การให้สัมปทาน การจ้างช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ การจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก การจัดให้มีล่ามภาษามือ และการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ
  3. ลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนคนพิการ ใน ม.34 เดิมนายจ้างหรือเจ้าของต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี ส่งผลให้นายจ้างบางคนไม่อยากจ้างงานคนพิการเข้าทำงาน ซึ่งสิ่งที่ทางโครงการอยากจะผลักดันและตั้งคำถามต่อว่า ในจำนวนค่าจ้างขั้นต่ำทั้งปีน้อยกว่านี้ได้หรือไม่?
  4. พัฒนาโอกาสทางเลือกในการประกอบอาชีพอิสระ โดยต้องการผลักดันให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และสถานประกอบการภาคเอกชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ได้ให้โอกาส เติมเต็มความรู้ ต่อยอดด้านอาชีพ และสนับสนุนมากกว่านี้ได้หรือไม่?

โดยในวันที่ 30 กันยายน 2566 ทั้ง 8 ทีมร่วม Pitching นำเสนอไอเดียและสรุปภาพรวมเป็นโจทย์หลัก

  • กลุ่มที่ 1 : Ability Employment "มหาวิทยาลัยตามสั่ง"
  • กลุ่มที่ 2 : เพิ่มอัตราการจ้างงาน ม.33 ในภาคเอกชน Sustainability
  • กลุ่มที่ 3 : ส่งเสริมการมีงานทำในภาครัฐ สร้างความเข้าใจ ไปจ้างคนพิการ
  • กลุ่มที่ 4 : CSR ส่งต่อความสุข คนพิการมีงานทำ
  • กลุ่มที่ 5 : ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ กรมจัดหางานทำง่าย สะดวกเพื่อประโยชน์แก่บริษัทจ้าง ม.35 ง่ายขึ้น
  • กลุ่มที่ 6 : เคาะประตูทอดสะพาน เพิ่มการจ้างงานคนพิการ 4,000 อัตรา
  • กลุ่มที่ 7 : โครงการหากันจนเจอพาเธอให้ยั่งยืน
  • กลุ่มที่ 8 : dEcosystem

นอกจากนี้ได้รับเกียรติจาก รศ. ดร. วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท., นายตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์ (กสทช.), นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP), นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล ผู้แทนจากสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และ นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

พร้อมรับชมกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ โชว์เพลง "เติมใจให้กัน" โดย "กบ - ทรงสิทธิ รุ่งนพคุณศรี" ร่วมร้องกับน้อง ๆ คนพิการ และ MV โครงการต่อเติมแรงใจ โดยทีมอาสาเรียนรู้ จากโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นต้น

ทั้งนี้ นวัตกรรมการสร้างงานให้คนพิการ ผ่านการตั้งโจทย์ทั้ง 8 ข้อที่ได้เสนอมาจาก Hackathon ครั้งนี้จะถูกผลักดันไปต่อได้หรือไม่? ระยะเวลา 2 เดือนหลังจากนี้จะเป็นบทพิสูจน์สถานประกอบการ ทั้งภาครัฐและเอกชนอีกครั้ง และนำไปสู่การสรุปผลต่อไปในวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ซึ่งตรงกับวันคนพิการสากล ที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ รวมถึงให้ความช่วยเหลือพวกเขาให้ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขต่อไป

มารวมพลังขับเคลื่อนสังคม ชวนมองอีกแง่มุมที่คุณอาจไม่เข้าใจ เพื่อกระตุ้นสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนให้หันมาสนับสนุนคนพิการให้มีงานทำมากยิ่งขึ้น สามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดสดกิจกรรม "HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน"" ในวันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2566 ย้อนหลังผ่านทาง YouTube @ThaiPBS 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • เริ่มแล้ว! กิจกรรม "HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน" เปิดพื้นที่ปล่อยพลังความคิดเพื่อคนพิการ

สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่

? Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram? Website : www.thaipbs.or.th? Application : Thai PBS

ไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่ระดมความคิด สร้างนวัตกรรมผลักดันให้คนพิการมีงานทำ "HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน"