มูลนิธิเอสซีจีและ SCGP คว้ารางวัล "นวัตกรรมแห่งชาติ" "เตียงสนามกระดาษ" ลดเหลื่อมล้ำสังคม

10 Oct 2023

มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลัง นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) โดยมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และแพทยสภา และ SCGP เดินหน้าสร้างประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้สังคมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2566 จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในสาขาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม องค์กรเพื่อสังคมและชุมชน จากผลงาน "นวัตกรรมเตียงกระดาษ สำหรับออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่" ที่ร่วมกันสร้างสรรค์โดยทีมนักออกแบบ SCGP มูลนิธิเอสซีจี และ ปธพ. โดยต่อยอดจากเตียงสนามกระดาษที่เคยรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ให้สามารถตอบโจทย์การใช้สำหรับการปฏิบัติงานของแพทย์และการใช้บริการของผู้ป่วยในหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก

มูลนิธิเอสซีจีและ SCGP คว้ารางวัล "นวัตกรรมแห่งชาติ" "เตียงสนามกระดาษ" ลดเหลื่อมล้ำสังคม

สำหรับ "จุดเด่น" ของนวัตกรรมเตียงสนามกระดาษ มีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 150 กิโลกรัม เตียงถูกออกแบบให้ใช้งานได้เหมาะสมตามหลักทางการยศาสตร์ (Ergonomics) โดยคำนึงถึงผู้ใช้งาน 2 ฝ่ายเป็นหลัก ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ขนาดของเตียงสามารถรองรับขนาดร่างกายของผู้ป่วยคนไทยและคนต่างประเทศมีความสูงที่เหมาะสมกับการการยืนตรวจของแพทย์ สะดวกและเหมาะกับท่าทางในการขึ้นเตียงของผู้ป่วย เตียงยังมีน้ำหนักเบากว่าเหล็กและไม้ ทำให้เคลื่อนย้ายง่าย สามารถประกอบขึ้นรูปคนเดียวได้รวดเร็ว ภายในเวลา 3 นาที โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย โดยใช้กระดาษรังผึ้ง (Honeycomb board) เป็นวัสดุหลักในการออกแบบและผลิต เนื่องจากมีความแข็งแรงรับน้ำหนักบริเวณแผ่นระนาบได้มากกว่ากระดาษลูกฟูก ทำให้สามารถรับแรงกดจากผู้ใช้งาน ที่ต้องนั่งหรือนอน ขณะที่การออกแบบโครงสร้างของขาเตียงสนามกระดาษจะขัดล็อกเป็นช่องตารางสี่เหลี่ยมเท่ากัน เพื่อกระจายแรงรับน้ำหนักทุกด้าน ทำให้ขึ้นรูปได้เร็ว-พับเก็บเพื่อนำมาใช้ซ้ำได้ นอกจากนี้ยังออกแบบให้เตียงสูง 70 เซนติเมตร เหมาะกับการประกอบหัตถการในท่ายืน ลดความบาดเจ็บของบุคลากรทางแพทย์ที่ต้องยืนเป็นเวลานาน เตียงสนามกระดาษ ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะทำจากกระดาษรีไซเคิล เมื่อสิ้นสุดการใช้งานสามารถย่อยสลายได้

การพัฒนานวัตกรรมนี้ ยังยึดหลักการทำงานเชื่อมโยงเครือข่าย (Collaboration) กับหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมในการขยายการดำเนินโครงการดังกล่าวให้สำเร็จและบรรลุเป้าหมาย รวมถึงพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติมในอนาคต เช่น แผ่นเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือ เตียงทันตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สังคมไทยเป็นสังคมคุณภาพที่ยั่งยืน