"โฮเวิร์ด มาร์ค" แนะนักลงทุนปรับกลยุทธ์รับบริบทโลกการเงินเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่

22 Nov 2023

เมื่อเร็วๆ นี้ โฮเวิร์ด มาร์ค (Howard Marks) ผู้ก่อตั้งร่วมและประธานร่วม บริษัท โอ๊คทรี แคปิตอล แมเนจเมนท์ (Oaktree Capital Management) บริษัทจัดการสินทรัพย์ด้านการลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) ระดับโลก ได้ให้เกียรติร่วมงานเสวนา ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ครอบคลุมหัวข้อเกี่ยวกับการลงทุน, ภาวะเงินเฟ้อ, โอกาสการลงทุนในหุ้นจีน และเทคโนโลยี AI กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยโฮเวิร์ดเป็นกูรูด้านการลงทุนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 50 ปี และสร้างตำนานจนเป็นที่จดจำให้กับโลกการเงินการลงทุน

"โฮเวิร์ด มาร์ค" แนะนักลงทุนปรับกลยุทธ์รับบริบทโลกการเงินเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่

ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้ก่อตั้งร่วมและประธานร่วมของ Oaktree โฮเวิร์ดเป็นนักลงทุนที่โดดเด่นด้านการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกและมีสไตล์การลงทุนที่สวนทางตลาด (Contrarian Investing) ระหว่างการเยือนกรุงเทพฯ โฮเวิร์ดได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินที่มาร่วมงาน โดยเปิดเวทีเสวนาด้วยการหยิบยกบันทึกการลงทุนอันโด่งดังของตนเอง ที่ชื่อ "Sea Change"

Sea Change: โฮเวิร์ด พาผู้ร่วมเสวนาไปสำรวจแนวคิด "Sea Change" ที่พูดถึงผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ในโลกที่ส่งผลต่อภูมิทัศน์การลงทุน และแนะนำกลยุทธ์เพื่อปรับตัว เขาอธิบายถึงบริบททางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินและการรักษาโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ที่กล่าวมานี้สัมพันธ์กับแนวคิด "Sea Change" ที่หมายถึงการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่จากยุคเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Easy money) ซึ่งเป็นยุคที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำมากในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา ไปสู่ยุคที่อัตราดอกเบี้ยไม่อาจคงอยู่ในระดับดังกล่าว อย่างไรก็ดี โฮเวิร์ดคาดการณ์ถึงบริบทด้านการเงินการลงทุนที่ไม่เหมือนเดิมในช่วง 10 ปีข้างหน้า พร้อมย้ำถึงการปรับแนวคิดพื้นฐานเพื่อปรับตัวให้ทันต่อบริบทโลกการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีปัจจัยหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

การพิจารณาการกระจายความเสี่ยง: โฮเวิร์ดมีแนวทางการลงทุนที่ต่างไปจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งแนะนำให้ถือสินทรัพย์การลงทุนไว้ในตะกร้าใบเดียว แล้วคอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด สไตล์การลงทุนของโฮเวิร์ดนั้นเป็นไปอย่างระมัดระวัง เขามุ่งลงทุนโดยดึงเอาศักยภาพจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไปสู่การลงทุนในตราสารหนี้ผลตอบแทนสูง (High-yield bond) ที่มีความน่าสนใจในปัจจุบัน สอดคล้องกับแนวคิด Sea Change ที่สะท้อนถึงความสำคัญของการจัดสรรสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้เข้าสู่พอร์ตการลงทุนในอนาคต หากมองในช่วงปี 2555 ถึง 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทาย ขณะที่การลงทุนให้ผลตอบแทนต่ำ มาจนถึงปัจจุบันที่ทิศทางการลงทุนได้เปลี่ยนแปลงไป ตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงจึงมีโอกาสทำกำไรได้ดีกว่า โฮเวิร์ดยังกระตุ้นให้นักลงทุนประเมินแนวทางการลงทุนเชิงกลยุทธ์รอบใหม่เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นอย่างปลอดภัย

ภาวะเงินเฟ้อ: เมื่อถามว่า อีกนานแค่ไหนที่ภาวะเงินเฟ้อจะกลับสู่ภาวะปกติ โฮเวิร์ดให้ข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อและความท้าทายในการคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคต เขาให้ความเห็นว่า เงินเฟ้อกลายเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว และอยู่เหนือความคาดหมายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) โดยภาวะเงินเฟ้อรอบล่าสุดนั้นเกิดจากการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังวิกฤตโควิด ประกอบกับมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบของรัฐบาล ซึ่งมีการจ่ายเช็คออกไปในวงกว้าง แม้แต่คนที่ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตโควิดก็ยังได้รับเงินเยียวยา ทำให้มีเงินสะสมจมอยู่ในธนาคารมากขึ้น และเมื่อโควิดคลี่คลายลง ความต้องการใช้เงินจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจทั่วโลกยังทำให้กลไกการผลิตและการขนส่งหยุดชะงัก ส่งผลให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน โดยปัญหาจากอุปสงค์และห่วงโซ่อุปทานที่รุนแรงขึ้นยังเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่เป็นแรงกดดันนำไปสู่เงินเฟ้อ

โฮเวิร์ดได้วิเคราะห์ถึงมาตรการรับมือของเฟด พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการคาดการณ์ของเฟดในระยะแรกที่ว่า อัตราเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นชั่วคราว ก่อนที่จะมองเห็นสัญญาณการคงอยู่ของอัตราเงินเฟ้อในระยาว และเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2564 เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ โดยโฮเวิร์ดเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้ออาจปรับลดลงตามกลไกของมันเองจากการที่ผู้คนใช้จ่ายเงินส่วนเกินออกไป และการที่ห่วงโซ่อุปทานกลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบ

เมื่อพูดถึงแนวโน้มของเงินเฟ้อในอนาคต โฮเวิร์ดมองว่า ยังไม่อาจคาดเดาได้แน่นอน แม้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายประเทศได้ตั้งเป้าคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 2% แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย ปัจจัยต่าง ๆ เช่น กระแสโลกาภิวัตน์ที่เริ่มจางลง อำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้นของสหภาพแรงงาน และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีผลต่อประสิทธิภาพการผลิต ได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคต

โฮเวิร์ดยังระบุว่า เทคโนโลยี AI ยังเป็นปัจจัยเชิงบวกที่อาจช่วยลดอัตราเงินเฟ้อ โดยคาดการณ์ว่า เมื่อประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ก็ย่อมส่งผลให้มีสินค้าออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาแม้จะมีความไม่แน่นอน โฮเวิร์ดยังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ระดับ 2-3% จากบทบาทของ AI ในอนาคต และยอมรับว่า การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจได้แม่นยำเป็นเรื่องที่ยาก

โอกาสการลงทุนในประเทศจีน: ในวงเสวนาได้มีการพูดถึงประเทศจีน นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงผลกระทบต่อมุมมองการลงทุน โฮเวิร์ดกล่าวถึงประเด็นที่บางกลุ่มมองว่า จีนเป็นตลาดที่ลงทุนไม่ได้แล้ว แต่ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับเขา ซึ่งหากพิจารณาจากภูมิหลังในวงการของโฮเวิร์ด เขาประสบความสำเร็จจากการลงทุนในตลาดที่มีความท้าทาย โฮเวิร์ดเน้นย้ำว่า โอกาสมักเกิดขึ้นพร้อมกับความไม่แน่นอนและความสงสัย และยังแสดงความเชื่อมั่นว่า แม้จีนจะถูกตีตราเช่นนั้น แต่จริง ๆ แล้วยังเป็นตลาดที่เข้าไปลงทุนได้ เขาชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจ เป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรนับล้านจากชนบทสู่เมือง และความต้องการสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน โฮเวิร์ดยอมรับถึงความเสี่ยง และเผยว่า การที่จีนเข้าไปมีส่วนร่วมในประชาคมการค้าโลกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย Oaktree Capital ได้ลงทุนในหุ้นจีนมาตั้งแต่ปี 2541 และลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) มาตั้งแต่ปี 2558 อย่างรอบคอบ เขาได้ให้ข้อสรุปว่า การลงทุนในตลาดหุ้นจีนยังคงดำเนินต่อไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการต่อรองราคาที่ส่งผลต่อ "ส่วนเผื่อความปลอดภัย" (Margin of Safety - MOS) ที่ชวนให้เข้าซื้อก็ต่อเมื่อค่าส่วนเผื่อของหุ้นจีนอยู่ในระดับที่สูงกว่าตลาดอื่นๆ

ตลาดหุ้นสหรัฐ: โฮเวิร์ดได้แชร์มุมมองถึงตลาดหุ้นสหรัฐที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งเกินคาดเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งในตอนแรกนั้น หลายคนเชื่อว่า อุปสงค์ที่อ่อนแอจะนำไปสู่ภาวะถดถอย โดยมีแรงกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง สวนทางกับที่คาดการณ์ไว้ และถึงแม้ผลการดำเนินงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่เขาก็ย้ำว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะถดถอย

โฮเวิร์ดยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงการบาลานซ์มุมมองเชิงบวกและเชิงลบที่มีต่อตลาด ซึ่งมุมมองบวกนั้นมาจากความเชื่อมั่นที่ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เฟดลดการใช้นโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด และเป็นไปได้ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อพยุงเศรษฐกิจ แม้ว่าหุ้นสหรัฐจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่โฮเวิร์ดก็มองว่า หากย้อนดูในอดีต หุ้นสหรัฐแม้จะขยับสูงขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถือว่าสูงมากนัก โดยชี้ให้เห็นว่า แม้อัตราส่วน P/E เฉลี่ยในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 19 หรือ 20 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 16 แต่ก็ไม่ถึงระดับที่เคยสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงปี 2000 ซึ่งตอนนั้น ค่า P/E แตะถึงระดับ 32 ส่งผลให้ตลาดร่วงหนักกว่า 60% โดยโฮเวิร์ดสรุปว่าแม้หุ้นสหรัฐจะมีมูลค่าค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่ถือว่ามีสูงเกินไปในปัจจุบัน

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit