องค์พิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย รณรงค์ต้านเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม คิกออฟแคมเปญ "บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม"

07 Nov 2023

องค์พิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย รณรงค์ต้านเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม คิกออฟแคมเปญ "บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม" แทคทีม มารีญา พูลเลิศลาภ และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตร ผนึกพลังทีม "พายซัพ" ล่องแม่น้ำสามสาย ดีเดย์ แม่น้ำสายแรก "บางปะกง"

องค์พิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย รณรงค์ต้านเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม คิกออฟแคมเปญ "บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม"
  • องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยรายงานการตรวจหาเชื้อดื้อยาจากสิ่งแวดล้อมบริเวณฟาร์มเลี้ยงสุกรและไก่ พบเชื้อดื้อยาจากแหล่งน้ำและดิน อันเนื่องมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์มากเกินความจำเป็น
  • คิกออฟแคมเปญ "บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม" เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของชุมชน และสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยของเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำพร้อมลงพื้นที่จัดกิจกรรม พายซัพ ล่องแม่น้ำสายหลัก นำร่องสายน้ำสายแรก แม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา สายน้ำสายที่ที่สอง แม่น้ำนครชัยศรี จ.นครปฐม และแม่น้ำสายที่สาม แม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร
  • เรียกร้องภาครัฐ ยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำเสริมสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้น พร้อมควบคุมและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อการป้องกันโรคโดยไม่จำเป็นอย่างเข้มงวดโดยเร่งด่วน

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย World Animal Protection จึงได้จัดแคมเปญ "บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม" ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา อาสาสมัคร ตลอดจนเยาวชนให้มีส่วนร่วมสร้างสังคมตระหนักถึงปัญหาและภัยของเชื้อดื้อยาเพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยในชุมชน พร้อมเผยผลตรวจเชื้อแบคทีเรียดื้อยาล่าสุดในแหล่งน้ำรอบฟาร์มอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ผ่านกิจกรรมพายซัพบอร์ดในวันที่ 4 พ.ย. 2566 นำร่องแม่น้ำสายแรกแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จากนั้นในวันที่ 11 พ.ย. 2566 จะล่องแม่น้ำสายที่สอง แม่น้ำนครชัยศรี จ.นครปฐม และปิดท้ายกิจกรรมในวันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่แม่น้ำสายที่สาม แม่น้ำเจ้าพระยา จ.กรุงเทพฯ

จากรายงานล่าสุดขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ในเดือน ต.ค. 2566 พบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำสาธารณะและบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรรม อาทิ ฟาร์มสุกร และฟาร์มไก่ ใน จ.นครราชสีมา จ.ฉะเชิงเทรา และจ.นครปฐม ไม่ต่างจากผลตรวจ 4 ปีก่อน และเป็นที่น่าวิตกอย่างมากที่ยังคงพบเชื้อดื้อยา เช่น E.coli และ Klebsiella อยู่ในกลุ่มยาที่นิยมใช้ในฟาร์มอุตสาหกรรม เช่น Ampicillin, Amoxy-clavulanate และ Tetracycline ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาโรคผู้ป่วยที่ติดเชื้อต่างๆ เช่น ในทางเดินปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ ภาวะติดเชื้อที่หู ในกระแสเลือด รวมถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งหากคนได้รับเชื้อดื้อยาและเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 38,000 คน และติดเชื้อปีละ 88,000 ครั้ง นำไปสู่การรักษาที่โรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวันต่อปี ค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท และมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 40,000 ล้านบาท*(ข้อมูลจาก https://amrthailand.net)

ครั้งแรกของสอง Celebrity สองสาย จับมือ ร่วมต้าน"เชื้อดื้อยา มหันตภัยเงียบในอุตสาหกรรมสัตว์ฟาร์ม "มารีญา พูลเลิศลาภ และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตร ร่วมกิจกรรม "พายซัพ"

มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า "มารีญาคิดว่าภัยจากเชื้อยาเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้ามแต่กลับแฝงตัวได้อย่างน่ากลัวมากค่ะ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเราเคยสุ่มสำรวจแหล่งน้ำรอบๆฟาร์มอุตสาหกรรมในประเทศไทยซึ่งพบการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมในฟาร์มอุตสาหกรรม โดยต้นตอของปัญหามาจากการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมที่ย่ำแย่ ดังนั้นมารีญาและองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงได้ร่วมจัดกิจกรรม "บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม" เพื่อหวังให้เราทุกคนช่วยกันปรับปรุงโครงสร้างระบบอาหารของเราใหม่ ไม่เลี้ยงสัตว์อย่างทรมาน ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตสัตว์ฟาร์มให้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดวิกฤติดจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาพร้อมทั้งส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ และสุขภาพของคน รวมถึงยังสามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วยค่ะ"

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานชมรมพายเรือเพื่อแม่น้ำและ Thammasat Fleet กล่าว "แม่น้ำคือชีวิตของเรา เราใช้น้ำจากแม่น้ำทำการเกษตร เราใช้น้ำจากแม่น้ำทำน้ำประปา เรากินปลากินกุ้งจากแม่น้ำ แต่เรากลับปล่อยน้ำเสีย ปล่อยสารพิษต่างๆ ทั้งทางอุตสาหกรรมและทางการเกษตรลงแม่น้ำ แล้วสารพิษพวกนี้มันจะไปไหน มันก็กลับมาสู่ตัวเรา ตอนนี้เชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนลงมาในแม่น้ำลำคลองและสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อสุขภาพของเราเป็นอย่างมาก แล้วแม่น้ำบางปะกงก็เป็นแม่น้ำที่มีการใช้สารเคมีในการเกษตรและยาปฏิชีวนะในฟาร์มสัตว์ และส่งผลต่อสุขภาพของพวกเรา

ผมจึงดีใจที่ได้กลับมาที่แม่น้ำบางปะกงอีกครั้ง ผมจัดกิจกรรมชวนคนพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำภาคกลางมาครบทุกสายแล้ว แต่ไม่มีที่ไหนที่จัดกิจกรรมแล้วรู้สึกมีความสุขเท่ากับที่แม่น้ำบางปะกง เพราะผมเป็นคนลุ่มน้ำบางปะกง แม่น้ำบางปะกงเป็นบ้านเกิดของผม ผมเชื่อว่าพวกเราจะสามารถจุดประกายให้คนลุ่มน้ำบางปะกงได้รับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำบางปะกงของเราเพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไข และจะได้นำไปสู่ความตื่นตัวของสังคมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำสายอื่นๆ ต่อไป"

สวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่ในฟาร์มอุตสาหกรรมเป็นต้นตอที่สำคัญของวิกฤตเชื้อแบคทีเรียดื้อยา รัฐต้องงยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้นอย่างเร่งด่วน

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดเผยว่า "แม้ว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ แต่ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาจากฟาร์มสัตว์ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผล "การตรวจหาแบคทีเรียดื้อยาที่สำคัญจากสิ่งแวดล้อมบริเวณฟาร์มเลี้ยงสุกรและไก่ เดือนตุลาคม 2566" ในครั้งนี้ ยังคบพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่แทบไม่ได้แตกต่างจากการตรวจเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา การพบเชื้อเหล่านี้ก่อความกังวลต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในพื้นที่รอบๆ ฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งบ่งชี้ว่าสวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่ ต้นตอสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะแบบเกินความจำเป็นในฟาร์ม ยังคงไม่ได้รับความสำคัญมากเท่าที่ควร การส่งเสริมให้มีการใช้สารทดแทนยาปฏิชีวนะก็ไม่ได้แปลว่าสวัสดิภาพสัตว์จะดีขึ้น ดังนั้นองค์กรฯ จึงเรียกร้องต่อภาครัฐให้ความสำคัญด้านการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม และการบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรค เพื่อแก้ไขถึงวิกฤตด้านสุขภาพที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่อย่างเร่งด่วน"

เราจำเป็นต้องเริ่มวันนี้ เดี๋ยวนี้ ก่อนที่เชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรมจะคร่าชีวิตเราหรือคนใกล้ตัวเรา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทโดยตรงในเรื่องนี้ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน ได้แก่

  • ยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้น ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำในการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล (FARMS: Farm Animal Responsible Minimum Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะลดลง
  • ควบคุมและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดโดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันการเข้าถึงยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงจัดให้มีการพัฒนาความรู้ ด้านการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม เพื่อหยุดปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะที่เป็นวิกฤตสุขภาพของคนไทยในขณะนี้
  • ดำเนินการภายใต้แนวคิด "หลักสวัสดิภาพหนึ่งเดียว" (One Health, One Welfare Concept) โดยมีการบูรณาการและการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
  • จัดทำกลไกเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ในการติดตามและตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ร่วมติดตามความเคลื่อนไหวในกิจกรรมของโครงการ "บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม" ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด
เดือนพฤศจิกายนนี้ และติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/Ban-AMR-Campaign เฟสบุ๊ค World Animal Protection Thailand องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

องค์พิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย รณรงค์ต้านเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม คิกออฟแคมเปญ "บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม"