James Dyson Award โครงการสำหรับนักเรียน นักออกแบบ ผู้มีไอเดียเปลี่ยนโลก เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ ชิงเงินรางวัลกว่า 2 แสนบาท พร้อมโอกาสในการแข่งขันบนเวทีระดับโลก

06 Mar 2024

James Dyson Award เปิดรับสมัครในประเทศไทยแล้ววันนี้ 6 มีนาคม - ปิดรับสมัครวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เปิดโอกาสให้นักเรียน นักประดิษฐ์ และวิศวกรไทย พาไอเดียไปสู่ระดับโลก

James Dyson Award โครงการสำหรับนักเรียน นักออกแบบ ผู้มีไอเดียเปลี่ยนโลก เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ ชิงเงินรางวัลกว่า 2 แสนบาท พร้อมโอกาสในการแข่งขันบนเวทีระดับโลก

การประกวดแข่งขัน James Dyson Award เปิดรับสมัครผลงานอย่างเป็นทางการแล้ววันพุธที่ 6 มีนาคม 2567 นี้ โดยเป็นปีที่ 3 ที่จัดการแข่งขันในประเทศไทย ภายในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาผลงานจากนักเรียนนักศึกษาไทยที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ ได้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาจากเยาวชนนักประดิษฐ์ในประเทศ ที่ส่งผลงานอย่าง KomilO ระบบตรวจจับการเป็นสัดในโคนม ที่มุ่งช่วยพัฒนาชีวิตของเกษตรกรโคนมในประเทศ ได้รับรางวัลชนะเลิศไปในปีแรก และปีที่ผ่านมาผลงานอย่าง O-GA เครื่องเพาะเลี้ยงสาหร่ายและผลิตน้ำมันที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเกษตรกร ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศไปในปีที่ผ่านมา กลับมาในปีที่ 3 ของการจัดประกวดในประเทศไทย James Dyson Award ก็ยังคงโจทย์การแข่งขันไว้เช่นเดิม นั่นก็คือ "ออกแบบอะไรก็ได้ ที่แก้ไขปัญหา" พร้อมรับผลงานจากนักเรียน นักศึกษา ด้านการออกแบบและวิศวกรรมแล้ว ตั้งแต่วันนี้จนไปถึง 17 กรกฎาคม 2567

ไอเดียของนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับโลก

James Dyson Award คือการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่จากคณะด้านการออกแบบหรือวิศกรรมศาสตร์ได้เข้าร่วมการแข่งขัน โดยมองหางานออกแบบที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาทุกรูปแบบตั้งแต่การวินิจฉัยโรคมะเร็ง ไปจนถึงภัยธรรมชาติ โดยจะมอบเงินรางวัลและโอกาสในการประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเองให้แก่ผู้ชนะในระดับนานาชาติและผู้ชนะด้านความยั่งยืน ผู้ชนะจากการประกวดในปีที่ผ่านมา อาทิ รถพยาบาลเคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเขตพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เครื่องมือสำหรับผู้ที่เป็นโรคต้อหิน สามารถตรวจความดันของตาได้โดยไม่สร้างความเจ็บปวด และเครื่องมือเพื่ออุดแผลสำหรับเหยื่อที่โดนแทง

รางวัล James Dyson Award ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 ปัจจุบันได้สนับสนุนนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ไปแล้วมากกว่า 400 คน ด้วยเงินรางวัลรวมกว่า 43.5 ล้านบาท โดยผู้ชนะในอดีตจำนวนกว่าสองในสามสามารถต่อยอดไอเดียไปสู่การใช้จริงในเชิงพาณิชย์ รางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศระดับนานาชาติและผู้ชนะเลิศรางวัลด้านความยั่งยืนจะได้รับเงินจำนวน 1,345,000 บาทเพื่อสนับสนุนในการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ ขณะเดียวกันเงินจำนวน 224,000 บาท จะถูกมอบให้ผู้ชนะเลิศในแต่ละประเทศที่จัดการแข่งขัน

เซอร์ เจมส์ ไดสัน ผู้ก่อตั้ง James Dyson Foundation และหัวหน้าวิศวกร กล่าวว่า "โลกของเราต้องการคนที่ลงมือแก้ไขปัญหามากกว่าคนที่มองเห็นปัญหาและไม่ทำอะไรเลย ทุกๆ ปี รางวัล James Dyson Award มอบพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่กล้าลงมือทำ ได้แสดงผลงานของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านการแพทย์ หรือด้านอื่นๆ มากมาย … เราสามารถเห็นถึงความสำเร็จในผลงานเหล่านี้ แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่ขับเคลื่อนคนเหล่านี้ไปสู่ความสำเร็จนั่นก็คือ ความผิดพลาด ไม่ว่าผลงานในปีนี้จะมุ่งแก้ไขปัญหาในด้านไหน เราเองต่างตั้งตารอว่าผลงานในปีนี้จะมาสิ่งใหม่ๆ อะไรมาบ้าง"

ผู้ชนะรางวัลระดับประเทศ จากประเทศไทย

O-GA ผลงานของทีมผู้ชนะรางวัล James Dyson Award ประจำปี 2566 ในประเทศไทยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเนื่องด้วยการเผยแพร่ของสื่อในประเทศไทย โดยทีมนักศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนาทางเลือกด้านพลังงานให้เกษตรกรชาวไทย ออกแบบเครื่องจักรแบบ All-In-One ทำหน้าที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายสำหรับสกัดเป็นน้ำมันไบโอดีเซล และเป็นเครื่องจ่ายน้ำมันแก่ผู้ใช้ มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมภายในประเทศอย่างยั่งยืน

สรวิศ อุปฌาย์ หนึ่งในสมาชิกทีมผู้ออกแบบ O-GA กล่าวว่า "เราดีใจมากที่ผลงานในห้องเรียนของทีมเราได้รับรางวัลชนะเลิศ และสามารถนำเสนอในระดับนานาชาติได้ ทำให้เห็นว่าคนไทยก็มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ไม่แพ้ใคร" นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการพัฒนาผลงานด้วยว่า "พวกเราจะนำรางวัลที่ได้ไปต่อยอดผลงาน โดยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมและชีววิทยา เพื่อพัฒนาให้ O-GA เป็นทางเลือกพลังงานใหม่สำหรับเกษตรกรไทยที่สามารถใช้ได้จริง"

ผู้ชนะเลิศทั่วโลกในอดีตที่ผ่านมา:

  • The Golden Capsule (เกาหลีใต้) - อุปกรณ์สำหรับการให้การรักษาผ่านทางหลอดเลือดดำ (Intravenous) ออกแบบมาเพื่อผู้ป่วยในเขตพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง สามารถรัดอุปกรณ์เข้ากับตัวผู้ป่วยและไม่ต้องพึ่งแรงโน้มถ่วงในขั้นตอนการทำงาน
  • HOPES (สิงคโปร์) - เครื่องมือที่สามารถตรวจความดันของตาได้ที่บ้านโดยไม่สร้างความเจ็บปวดและราคาประหยัด
  • PlasticScanner (เนเธอร์แลนด์) - อุปกรณ์สแกนสิ่งของเพื่อช่วยลดปัญหาพลาสติกล้นโลก ด้วยการระบุประเภทของพลาสติกสำหรับรีไซเคิล
  • BlueBox (สเปน) - อุปกรณ์ตรวจมะเร็งด้วยตัวเองที่บ้าน ออกแบบมาเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงตรวจมะเร็งเต้านมมากขึ้น
  • mOm incubators (สหราชอาณาจักร) - ตู้อบทารกแรกเกิดแบบพับเก็บได้ในราคาประหยัด ซึ่งประสบความสำเร็จในการช่วยชีวิตเด็กแรกเกิดในประเทศยูเครน

ผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศระดับประเทศจะถูกคัดเลือกโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาของ Dyson เพื่อเป็นผู้เข้ารอบ 20 อันดับแรกในการแข่งขันระดับนานาชาติ และสุดท้ายเซอร์ เจมส์ ไดสัน จะเป็นผู้คัดเลือกผู้ชนะรางวัลระดับนานาชาติด้วยตัวเอง 

James Dyson Award เปิดรับสมัครในประเทศไทยแล้ววันนี้ 6 มีนาคม 2567 และจะปิดรับสมัครวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ภายหลังจากนั้นจะประกาศผู้ชนะเลิศระดับประเทศในวันที่ 11 กันยายน 2567, รายชื่อผู้เข้ารอบ 20 อันดับแรกทั่วโลกในวันที่ 16 ตุลาคม 2567, และผู้ชนะเลิศระดับโลกในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสมัครและเกณฑ์การเข้าร่วมได้ที่ Jamesdysonaward.org