สำนักงานตลาด กทม.เร่งตรวจสอบการปล่อยเช่าช่วงแผงค้า เตรียมนำระบบสารสนเทศจัดเก็บข้อมูลแผงค้าในตลาดนัดจตุจักร

23 Feb 2024

นายศุภพิพัฒน์ บัลนาลังก์ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์การบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร ทั้งอัตราค่าเช่าแผงค้าราคาสูง ปัญหาการนำแผงค้าไปปล่อยเช่าช่วง ค่าปรับการค้างชำระว่า การเปิดทำการค้าในตลาดนัดจตุจักรมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย เข้ามาทำการค้า โดยเกณฑ์การคิดค่าเช่าแผงค้าในปัจจุบันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดค่าเช่าไว้ในอัตรา 1,800 บาท/แผงค้า/เดือน ส่วนอัตราค่าเช่าช่วงได้กำหนดไว้ในแต่ละครั้งที่มีการเช่าช่วง กำหนดค่าธรรมเนียมไว้ร้อยละ 20 ของค่าอัตราค่าเช่าช่วง/เดือน อย่างไรก็ตาม สงต.ยังไม่มีการกำหนดเพดานค่าเช่าช่วงไว้ แต่ในสัญญาใหม่ที่กำหนดค่าธรรมเนียมไว้ร้อยละ 20 ของค่าอัตราค่าเช่าช่วง เพื่อต้องการทราบว่า ค่าเช่าช่วงที่แท้จริงในปัจจุบันมีอัตราเท่าไหร่ โดยผู้เช่าและผู้เช่าช่วงต้องมาทำบันทึกข้อตกลงแจ้งให้ สงต.ได้รับทราบ หากตรวจสอบพบว่า ผู้ค้ารายใดไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด

ส่วนกรณีการร้องเรียนมีการนำแผงค้าให้บุคคลอื่นเช่าช่วงในอัตรา 55,000 บาท/เดือน/แผงค้า สงต.จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่า ผู้ค้ารายใดได้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ปัจจุบัน สงต.อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลผู้ที่นำแผงค้าไปเช่าช่วง โดยจะนำเทคโนโลยีระบบสารสนเทศเข้าไปจัดเก็บข้อมูลแผงค้าภายในตลาดนัดจตุจักรทั้งหมด เพื่อสำรวจฐานข้อมูลแผงค้าให้เป็นปัจจุบันทั้งผู้เช่าและผู้เช่าช่วง หลังจากนั้นจึงจะได้กำหนดมาตรการดำเนินการกับผู้ค้าที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบต่อไป

สำหรับการชำระค่าเช่าแผงค้า เดิมใช้วิธีออกใบเสร็จรับเงิน แต่ปัจจุบันคณะกรรมการบริหาร สงต.ได้เพิ่มช่องทางการรับชำระเงิน โดยวิธีชำระผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ของทุกธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการค้าทุกแผงค้า กรณีค่าปรับผิดนัดชำระค่าเช่าตามสัญญาเดิมให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 5 ต่อวัน (90 บาท) ส่วนในสัญญาฉบับใหม่ คณะกรรมการบริหาร สงต.ได้ปรับเปลี่ยนอัตราค่าปรับผิดนัดชำระค่าเช่าแผงค้ารายเดือน คงเหลือในอัตรา 300 บาท/เดือน/แผงค้า

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนไปซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนผู้มาซื้อสินค้าที่ตลาดนัดจตุจักรลดลงมากกว่าร้อยละ 50 สงต.จึงมีแผนการพัฒนาส่งเสริมตลาด เช่น จัดกิจกรรมในวันสำคัญต่าง ๆ จัดให้มีดนตรีในตลาด (เสาร์-อาทิตย์) จัดจำหน่ายสินค้าปลอดสารพิษ (ตลาดสีเขียวทุกวันศุกร์) เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีผู้มาใช้บริการที่ตลาดนัดจตุจักรเพิ่มขึ้น