ร่วมแสดงพลังขับเคลื่อนในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมดูแลระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ…กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร (ที่ 5 จากซ้าย) รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Forum on Finance for Biodiversity - Fin4Bio) ที่สำนักงานฯ ได้ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส บริษัท Blue Renaissance และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ณ C ASEAN พระราม 4 ในโอกาสนี้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย ดร.ปิยาภรณ์ ภาสกานนท์ (ที่ 2 จากซ้าย) หัวหน้าสายงานด้านการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร หนึ่งในองค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมพร้อมยืนยันเจตนารมณ์ของทรู ในฐานะเทคคอมปานีไทยที่ให้ความสำคัญและนำปัจจัยเรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพ มาใช้ในการวางแผนติดตั้งเสาสัญญาณทรู-ดีแทคทุกพื้นที่ทั่วไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ และไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้สุทธิ ภายในปี 2573 สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ SDGs "เป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน"
ดร.ปิยาภรณ์ ภาสกานนท์ หัวหน้าสายงานด้านความยั่งยืนองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า "การติดตั้งเสาสัญญาณที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของทรู คอร์ปอเรชั่น มีกระบวนการครอบคลุมตั้งแต่ 1.คัดเลือกพื้นที่ตั้งเสาสัญญาณ ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ในระบบนิเวศรอบพื้นที่เสาสัญญาณ 2.ประเมินและจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่เสี่ยง โดยนำไปประเมินเชิงลึกผ่านโปรแกรมมาตรฐานระดับโลก Biodiversity and Ecosystem Services Trends and Conditions Assessment Tool (BESTCAT) เพื่อทำการคัดกรองพื้นที่อ่อนไหว 3.ดำเนินตามแผนแก้ไข ป้องกัน เพื่อลดผลกระทบ โดยยึดหลักบรรเทาผลกระทบตามลำดับชั้น ตั้งแต่ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบ ลดผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ฟื้นฟูสภาพพื้นที่ด้วยการปลูกพรรณไม้ท้องถิ่น และชดเชยด้วยการปลูกต้นไม้นอกพื้นที่โครงการ และ 4. สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยรอบ เพื่อร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์เฝ้าระวังช้างป่าและเตือนภัยล่วงหน้า โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการบันทึกข้อมูลการปลูกต้นไม้ในสังคมยุคดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน WeGrow เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ และสร้างแหล่งที่อยู่อันอุดมสมบูรณ์ให้แก่สิ่งมีชีวิต โดยปัจจุบันมียอดการปลูกต้นไม้กว่า 6.2 ล้านต้นทั่วประเทศไทย และสามารถคำนวณปริมาณการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ที่ปลูกถึง 332,132 ตันคาร์บอนไดออกไซต์"