เปิดหลากหลายข้อเสนอจากผู้ให้บริการ เวทีระดมความเห็นพัฒนา "หลักเกณฑ์บริหารกองทุนบัตรทอง"

09 Apr 2024

ร่วมอภิปรายเวที "ระดมความเห็นพัฒนาหลักเกณฑ์บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567" เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ฯ ขอความเป็นธรรมให้ รพ. เหตุต้องแบกรับค่าบริการจากอัตราจ่ายของ สปสช. ที่ไม่สะท้อนต้นทุนจริง ชมรม รพศ./รพท. เปิดมติ 7 ข้อเสนอต่อ สปสช. เพื่อหนุนการให้บริการดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทองของ รพ. ย้ำไม่ปรับอัตราจ่ายค่าบริการกลางปี ขณะที่ชมรม ผอ.รพช. ฝากดูแลต้นทุนบริการผู้ป่วยนอก พร้อมห่วงอนาคตงบเหมาจ่ายผู้ป่วยนอกอาจถูกกระจายลง รพ.สต.ที่ถ่ายโอนสู่ท้องถิ่น ขณะที่ ชมรม ผอ.รพ.สต. และผู้แทนคลินิกเอกชนใน กทม. เสนอให้ ปชช. มีรายได้ร่วมจ่าย เพื่อสมทบงบประมาณและให้ระบบยั่งยืน ด้าน สปสช. รับทุกความเห็น ข้อเสนอ รวบรวมเสนอต่อ บอร์ด สปสช.

เปิดหลากหลายข้อเสนอจากผู้ให้บริการ เวทีระดมความเห็นพัฒนา "หลักเกณฑ์บริหารกองทุนบัตรทอง"

ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ - เมื่อวันที 2 เมษายน 2567 ในเวทีการอภิปราย "ระดมความเห็นพัฒนาหลักเกณฑ์บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน" จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีผู้แทนหน่วยบริการในระบบสาธารณสุขที่ร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ร่วมการอภิปรายนี้ โดยมี ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ และมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สปสช. พร้อมด้วย รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร และ ดร.ดวงตา ตันโช กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ร่วมรับฟังการอภิปราย

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า ในระยะ 10 ปี สปสช. ได้ปรับเพิ่มงบประมาณจากปี 2557 จำนวน 1.54 แสนล้านบาท เป็น 2.17 แสนล้านบาท ในปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 โดยงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ขณะที่ชุดสิทธิประโยชน์ได้เพิ่มขึ้นตลอด ซึ่งพบว่ายังไม่มีการพูดถึงความเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการที่ต้องรับภาระการให้บริการเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถาบันทางการแพทย์หรือโรงเรียนแพทย์บางแห่ง ต้องแบกรับต้นทุนในการดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทองสูงถึง 500-700 ล้านบาท ขณะที่ สปสช. จ่ายเงินตามค่าบริการตามที่กำหนด ดังนั้นหากให้บริการมากโรงเรียนแพทย์ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง ตรงนี้เหมือนระเบิดเวลา ฉะนั้นอยากให้ สปสช. พิจารณาต้นทุนการบริการที่สะท้อนความเป็นจริงในทุก 3 -5 ปี เพื่อให้เป็นธรรมกับผู้ให้บริการ พร้อมเข้ามาสนับสนุนการให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ทั้งการลงทุนเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ช่วยให้หน่วยบริการไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง นอกจากนี้ สปสช. ควรเปิดเผยยอดงบประมาณ หรือกรณีมีเงินเหลือว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อให้หน่วยบริการทราบถึงการบริหารจัดการงบประมาณกรณีมีเงินเหลือ หรือได้รับเงินคืนด้วย

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี และในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่า จากมติที่ประชุมชมรม รพศ./รพท. มี 7 ข้อเสนอ ต่อ สปสช. ดังนี้ 1.ให้ สปสช. คำนึงถึงต้นทุนค่าบริการในทุกบริการ 2. สิทธิประโยชน์ใหม่ที่เพิ่มเติมต้องมีแหล่งเงินงบประมาณชัดเจน 3. ไม่อยากให้ปรับประกาศอัตราจ่ายค่าบริการกลางปี เว้นเป็นการปรับเพิ่ม 4.สัดส่วนกองทุนเฉพาะโรคต้องลดลงให้น้อยกว่าร้อยละ 5 จนกว่างบที่จ่ายจะไม่ต่ำกว่าต้นทุน 5.กรณีการให้บริการสูงกว่าเป้าหมาย ขอให้ สปสช. ร่วมรับความเสี่ยงกับหน่วยบริการ เพราะปีที่ผ่านมา รพ. หลายแห่งต้องเป็นหนี้รวม 2,600 ล้านบาท จากการให้บริการเกินเป้าหมาย 6. ขอให้ สปสช. ตระหนักว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลในการซื้อบริการสุขภาพให้ประชาชน ไม่ใช่องค์กรที่ซื้อข้อมูลการให้บริการเพื่อจ่ายค่าบริการ และ 7. สปสช. ควรปฏิรูปการบริหารจัดการฯ กระจายอำนาตไปที่ สปสช.เขต ให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่

"ในเรื่องต้นทุนการบริการ จากการศึกษาต้นทุนของ รพ. แต่ละระดับ เมื่อรวมค่าแรงแล้วในระยะ 5 ปี จะเฉลี่ยอยู่ที่ 13,142 บาทต่อ AdjRW แต่กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ประกันการจ่ายค่าบริการอยู่ที่ 8,350 บาท ขณะที่กองทุนประกันสังคมจ่ายอยู่ที่ 12,000 บาท ตรงนี้อยากให้ สปสช. พิจารณา และส่วนของการคีย์ข้อมูลขอให้เป็นการส่งผ่านระบบ Financial Data Hub เท่านั้น" ประธานชมรม รพศ./รพท. กล่าว

ดร.นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ในฐานะชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า สิ่งที่อยากเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือการบริหารกองทุนต่างๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายสาธารณสุข นอกจากช่องทางการบริหารในระดับเขตแล้ว หากลงในระดับจังหวัด หรือระดับอำเภอได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี โดยในส่วนของ สธ. มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งกลไกเหล่านี้หากขยายไปทั่วประเทศ ก็จะตอบโจทย์การดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ได้ ส่วนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นั้น ร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดที่ถ่ายโอนแล้ว 100% เกิดจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด หน่วยงานสุขภาพ รพ.สต. ในพื้นที่มีหารือร่วมกันและได้ผลสรุปที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้มีประเด็นที่ฝากไว้ คือ อยากให้มีความชันเจนในบริการผู้ป่วยนอก และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ รพ.สต. รวมถึงการจ่าย On top ให้บริการที่ทำให้ดี ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้การขับเคลื่อนโอนถ่าย รพ.สต. ทั่วไประเทศเดินหน้าไปได้

นพ.ศุภโชค ก่อวิวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ในฐานะรองประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กล่าวว่า ในมุมของ รพช. ที่มีภารกิจเน้นการส่งเสริมป้องกันโรค การคัดกรอง และบริการรักษาเบื้องต้นให้กับประชาชนพื้นที่ระดับอำเภอนั้น ที่ผ่านมาเราพึ่งพางบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เป็นหลัก โดย รพช. ไม่ค่อยมีการรักษาผู้ป่วยใน ดังนั้น จึงอยากให้พิจารณาเรื่องต้นทุนบริการผู้ป่วยนอกผ่านงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เพราะในอนาคตอาจมีการแบ่งงบเหมาจ่ายรายหัวประชากรไปยัง รพ.สต. ที่ถ่ายโอน ซึ่งจะผลกระทบต่อการบริหารจัดการต้นทุนของ รพช. ได้

ขณะที่ นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย ในฐานะผู้แทนชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ระบุว่า อนาคตอยากให้ สปสช. เข้ามาหนุนเสริมงบประมาณเพื่อให้เกิดการลงทุนทั้งอุปกรณ์ กำลังคน ฯลฯ เนื่องจากงบลงทุนที่ รพ. ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีจำกัด อย่างไรก็ดี ขอเป็นกำลังใจให้ สปสช. เพราะที่ผ่านมาก็เข้ามาดูแลสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพให้กับประชาชนได้อย่างดี แต่อีกด้านก็ต้องหันมามองผู้ให้บริการเพื่อให้พวกเราอยู่ได้ไม่ขาดทุน

ด้าน นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทุกวันนี้ทรัพยากรของ รพ.สต. มีจำกัดและเป็นปัญหามายาวนาน ซึ่ง รพ.สต. มีหน้าที่หลักในการดูแลสุขภาพประชาชนในระดับปฐมภูมิ จึงอยากมีการเสนอต่อรัฐบาลให้มีนโยบายร่วมจ่ายจากประชาชนที่มีรายได้ เพี่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นอกจากนี้ ว่าที่ ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ ราชแผน ผู้แทนคลินิกเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า คลินิกเอกชนเห็นด้วยกับข้อเสนอให้ประชาชนที่มีรายได้ร่วมจ่ายค่าบริการ อาจมาในรูปแบบการจัดสรรเงินเข้ากองทุนเฉพาะ หรือจ่ายตรงให้กับหน่วยบริการก็ได้ เชื่อได้ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงในระยะยาวให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ได้ ส่วน (ร่าง) ประกาศฯ ในมาตรา 46 ที่ระบุครอบคลุมค่าใช้จ่ายหน่วยบริการ และค่าตอบแทนบุคลากร ซึ่งระบุถึงหน่วยบริการของรัฐบาลอย่างเดียว แต่ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของคลินิกเอกชนที่มาดูแลประชาชน ลดภาระโรงพยาบาลด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเราอยากได้เงินเหมือนกัน นอกจากนี้อยากให้ สปสช. จัดการเพื่อให้คลินิกสามารถซื้อได้ในราคาเดียวกับโรงพยาบาล รวมถึงการสร้างเครือข่ายการบริการ ระหว่างโรงพยาบาล คลินิกเอกชน และหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ที่เป็นนวัตกรรมการบริการรูปแบบใหม่ อย่างเช่น ร้านขายยา ให้เป็นเส้นเลือดฝอยที่เชื่อมโยงกัน เพื่อให้การบริการต่อประชาชนมีความราบรื่น

ทั้งนี้ในช่วงท้าย ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สปสช. จะรวบรวมทุกความคิดเห็นทั้งหมดเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมมการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำและข้อคิดเห็นต่างๆ ที่จะนำไปสู่การให้บริการประชาชนที่ดีมีคุณภาพ และกองทุนมีความยั่งยืนต่อไป