เครียดเกินไป บั่นทอนสุขภาพจิต ระวัง "ภาวะการปรับตัวผิดปกติ"

27 Mar 2024

ความเครียดเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นจากความกดดันจากการทำงาน การเงิน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมไปถึงภาพลักษณ์การเปรียบเทียบจากคนในสังคม  ซึ่งหากสะสมความเครียดเป็นระยะเวลานาน ย่อมส่งกระทบทางลบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต จนอาจทำให้เป็นภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) หรือ ที่หลาย ๆ คนเรียนกว่า โรคเครียด

เครียดเกินไป บั่นทอนสุขภาพจิต ระวัง "ภาวะการปรับตัวผิดปกติ"

นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคเครียด หรือ ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) คือกลุ่มโรคทางจิตเวช มักเกิดขึ้นหลังจากที่เผชิญกับสถานการณ์ หรือสิ่งที่เข้ามากดดัน คุกคามต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดความเครียดสะสมหรือเครียดจัด และไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์ หรือการเข้าสังคม ซึ่งเมื่อร่างกายเกิดความเครียด จะหลั่งฮอร์โมนความเครียด 2 ชนิดที่เรียกว่า คอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีในทุกคน มากน้อยแตกต่างกันไป โดยแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดแตกต่างกัน

ความเครียดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

ปัจจัยภายใน เช่น การเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัว พัฒนาการตามวัย ทัศนคติ บุคลิกภาพ สารเคมีในสมองไม่สมดุลทำให้เครียด วิตกกังวล และเศร้าง่าย รวมถึงสุขภาพจิตของแต่ละคนที่มีความแข็งแรงน้อยลง ขาดการอดทนรอคอย การแบ่งปัน และการควบคุมอารมณ์

ปัจจัยภายนอก เช่น ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน การเรียน  ปัญหาทางการเงิน หนี้สิน การใช้ชีวิตประจำวัน ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทะเลาะกับคนในครอบครัวหรือแฟน ปัญหาการเมือง สังคม ความปลอดภัยในชีวิต การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือสัตว์เลี้ยง

อาการของภาวะการปรับตัวผิดปกติ สามารถแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ

  • ด้านอารมณ์ อาจรู้สึกวิตกกังวล หดหู่ ซึมเศร้า โมโหง่าย ร้องไห้ง่าย อารมณ์แปรปรวน
  • ด้านความคิด อาจคิดวนเวียนอยู่กับปัญหา สมาธิแย่ลง ตัดสินใจลำบาก
  • ด้านพฤติกรรม อาจสังเกตจากการแยกตัวจากสังคม ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
  • ด้านร่างกาย อาจมีอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ กินมากขึ้นหรือกินน้อยลง ปวดหัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย ใจสั่น เหงื่อออก หายใจไม่สะดวก

ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนหลังเจอกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดและอาการจะหายไปภายใน 6 เดือนหลังสิ้นสุดสถานการณ์ แต่หากอาการเป็นนานกว่า 6 เดือน จะส่งผลให้เกิดภาวะการปรับตัวผิดปกติเรื้อรัง อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่รุนแรง เช่น โรควิตกกังวล ซึมเศร้า และถ้าหากมีความคิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ควรรีบไปพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและหาวิธีในการจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน

การรักษาภาวะปรับตัวผิดปกติขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค มีทั้งการรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านเศร้า ยาระงับอาการวิตกกังวล ยานอนหลับ โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาตามความเหมาะสมของอาการ นอกจากนี้ การรักษาอีกส่วนที่สำคัญ คือ การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นวิธีการรักษาด้วยการพูดคุย มีทั้งการพูดคุยแบบบุคคล กลุ่ม หรือครอบครัว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจกับสาเหตุของความเครียดและผลกระทบที่เกิดขึ้น

นายแพทย์ณชารินทร์แนะนำวิธีการจัดการความเครียดว่า สามารถเริ่มจากการปรับความคิด ลดการยึดติด มีเหตุผล ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ไม่โทษตัวเองหรือโทษคนอื่น มองหาแนวทางแก้ไข, ฝึกมองแง่บวก การมองปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่บวกจะช่วยให้ให้เกิดกำลังใจแต่อาจต้องใช้เวลา, เรียนรู้การให้อภัย ยอมรับความจริงว่าไม่มีใครในโลกนี้สมบูรณ์แบบ ทุกคนเองก็เคยทำผิดพลาดทั้งนั้น ซึ่งการให้อภัยจะช่วยให้ผู้นั้นก้าวข้ามความโกรธ สามารถผ่อนคลายได้ และสามารถมีความสุขกับการทำงานได้ง่ายขึ้น, ดูแลรักษาสุขภาพ เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารมีประโยชน์, จัดเวลาส่วนตัว และฝึกทำอะไรให้ช้าลง คนที่มีสมาธิและสติที่ดีจะมีโอกาสรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ทำให้การควบคุมอารมณ์ทำได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดความเครียด และลดโอกาสในการพาตัวเองไปสู่สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดได้อีกด้วย

 

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit