คปภ. จัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย ครั้งที่ 1/2568

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

คปภ. จัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย ครั้งที่ 1/2568 ชี้แจงทำความเข้าใจหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาประกันภัย กรณีครบรอบปีกรมธรรม์

คปภ. จัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย ครั้งที่ 1/2568

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย ประจำปี 2568 เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาประกันภัย กรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยของสัญญาประกันภัยสุขภาพ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน ประกอบด้วย สภาธุรกิจประกันภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 1 สำนักงาน คปภ. (รัชดาภิเษก)

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) ในเงื่อนไขการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งการร่วมจ่ายจะมีผลบังคับใช้เฉพาะในปีถัดไป หากผู้เอาประกันภัยเข้าหลักเกณฑ์ ดังนี้

กรณีที่ 1 การเคลมเป็นผู้ป่วยใน ด้วยกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Disease) และไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ให้ต้องรักษาตัวแบบผู้ป่วยใน และมีการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรวมตั้งแต่ 200%

กรณีที่ 2 การเคลมเป็นผู้ป่วยใน ที่ไม่รวมโรคร้ายแรง และการผ่าตัดใหญ่ ที่มีการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรวมกันตั้งแต่ 400% โดยในแต่ละกรณีให้กำหนดสัดส่วน Copayment ได้สูงสุดไม่เกิน 30% และหากเข้าทั้งกรณีที่ 1 และกรณีที่ 2 กำหนดสัดส่วน Copayment ได้สูงสุดไม่เกิน 50% ของค่ารักษาที่ได้รับความคุ้มครองในปีถัดไป ซึ่งการกำหนดสัดส่วนดังกล่าวเป็นการกำหนดเป็นขั้นสูงสุด การจะกำหนดสัดส่วนเป็นเท่าใดในแต่ละกรณีจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบริษัท โดยสำนักงาน คปภ. จะทำหน้าที่กำกับการคิดเบี้ยประกันภัยสุขภาพ และดูแลเงื่อนไขการร่วมจ่ายให้มีความเป็นธรรม

โดยที่ประชุมเห็นชอบให้บริษัทประกันภัย สามารถเพิ่มเงื่อนไขการมีส่วนร่วมจ่ายได้ใน 3 กรณี เพื่อควบคุมพฤติกรรมการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดการใช้สิทธิในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลโดยมิชอบ นอกจากนี้ ได้หยิบยกประเด็นเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับ Copayment เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการ อย่างต่อเนื่อง ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกันโดยใช้ช่องทาง Social Media ต่าง ๆ ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Copayment อย่างถูกต้องและทั่วถึง ควบคู่กับการปรับรูปแบบการสื่อสารโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย นอกจากนี้ จะต้องสื่อสารไปยังตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และไม่นำเสนอข้อมูลที่ ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน หากตรวจพบว่ากระทำ อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตได้ ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะนำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากที่ประชุมมาปรับใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้การควบคุมการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลและการมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) มีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาวต่อไป


ข่าวคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย+ธุรกิจประกันภัยวันนี้

คปภ. ผนึกกำลังจังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย ทีดีอาร์ไอ จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่งถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย"

คปภ. ผนึกกำลังจังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย ทีดีอาร์ไอ จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่งถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย" Kick off พื้นที่ต้นแบบความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ พ.ร.บ. ปี 2568 พร้อมจัดเวทีเสวนาถอดรหัส ถนน 304 เสนอบังคับใช้ กม. ออกมาตรการลดเสี่ยง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) จังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่ง ถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย" ภายใต้