คปภ. และสภาผู้บริโภค ร่วมทบทวนมาตรการ Copayment มุ่งสร้างความเป็นธรรมด้านประกันภัยสุขภาพ ย้ำต้องไม่กระทบผู้บริโภค เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยนายอาภากร ปานเลิศ รองเลขาธิการ ด้านกำกับธุรกิจประกันภัย พร้อมด้วย นายคณานุสรณ์ เที่ยงตระกูล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และนายไพบูลย์ เปี่ยมเมตตา ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย ได้มีการหารือร่วมกับ ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) และเครือข่ายประชาชน นำโดย นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้มีค่าใช้จ่ายร่วม Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเมื่อครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งมีการเสนอให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสในการรักษาพยาบาล ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. (รัชดาภิเษก)

คปภ. และสภาผู้บริโภค ร่วมทบทวนมาตรการ Copayment มุ่งสร้างความเป็นธรรมด้านประกันภัยสุขภาพ ย้ำต้องไม่กระทบผู้บริโภค เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน

การหารือครั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาจได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้หลักเกณฑ์นี้ จึงขอให้สำนักงาน คปภ. ทบทวนและชะลอการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้มีค่าใช้จ่ายร่วม หรือ Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเมื่อครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย และมาเพื่อรับฟังการชี้แจงข้อมูลหลักเกณฑ์และเหตุผลการให้มีค่าใช้จ่ายร่วม Copayment ของสัญญาประกันภัยสุขภาพ จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

นายอาภากร ปานเลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์การเก็บค่ารักษาพยาบาลร่วม ได้มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รอบด้าน โดยหลักเกณฑ์ที่ออกมานั้นไม่เพียงแต่เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ในภาพรวม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการถูกปฏิเสธต่ออายุประกันสุขภาพของผู้เอาประกันภัยที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมสูง และเพื่อควบคุมต้นทุนประกันภัยจาก กรณีที่ 1 การเบิกจ่ายค่ารักษาแบบผู้ป่วยในด้วยโรคเล็กน้อย (Simple Disease) โดยไม่จำเป็นที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 3 ครั้ง และมีการเรียกร้องค่าสินไหมสูงตั้งแต่ 200% ของเบี้ยประกันภัยรายปี หรือกรณีที่ 2 มีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยในตั้งแต่ 3 ครั้ง และมีการเรียกร้องค่าสินไหมสูงตั้งแต่ 400% ของเบี้ยประกันภัยรายปี บริษัทประกันภัยสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายร่วม Copayment ในแต่ละกรณีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับความคุ้มครอง และหากเข้าทั้ง 2 กรณี สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายร่วม Copayment ได้สูงสุดไม่เกิน 50% ของค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับความคุ้มครอง เพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิประกันภัยสุขภาพอย่างเหมาะสมและควบคุมค่าใช้จ่ายโดยรวม

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับมาตรการ Copayment ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจ ที่คลาดเคลื่อนของผู้บริโภคอันมาจากการเสนอข้อมูลและชักจูงการขายของตัวแทนประกันภัย โดยย้ำว่า Copayment ในเงื่อนไขการ ต่ออายุสัญญาเมื่อครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ถูกบังคับใช้กับทุกกรมธรรม์ แต่เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการ ทำประกันสุขภาพ ทั้งนี้ จะไม่ได้มีการยกเลิกผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบเดิมที่มีมาก่อนหน้านี้ และเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในข้อมูลตามที่ปรากฏผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ สำนักงาน คปภ. จะเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมดำเนินบทลงโทษที่เด็ดขาด กับตัวแทนประกันที่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

โดยในตอนท้ายของการหารือ สภาผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชน ได้แสดงท่าทีที่เห็นด้วยและเข้าใจในหลักการของการเก็บ ค่ารักษาพยาบาลร่วมอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยสภาผู้บริโภคให้ความเห็นว่ามาตรการ Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญา เมื่อครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยจะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อมีการเบิกจ่ายค่ารักษาแบบผู้ป่วยในที่เข้าหลักเกณฑ์เท่านั้น สภาผู้บริโภค จึงขอความร่วมมือกับสำนักงาน คปภ. เพื่อติดตามและทบทวนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคจากการบังคับใช้มาตรการ Copayment เป็นระยะ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการพิจารณาควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรฐานการรักษาที่ชัดเจน เพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคสำหรับกรณีที่ผู้บริโภคถูกเสนอขายประกันด้วยการกดดันหรือเร่งรัดให้ตัดสินใจซื้อ Copayment หากผู้บริโภคถูกเสนอขายประกันโดยใช้วิธีการกดดันหรือเร่งรัดให้ตัดสินใจซื้อกรมธรรม์แบบ Copayment โดยไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน สามารถร้องเรียนให้มีการดำเนินการตามกฎหมาย กับตัวแทนหรือนายหน้าที่กระทำผิด และสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ได้ โดยติดต่อสำนักงาน คปภ. หรือ สายด่วน คปภ. 1186

"สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการ Copayment และผลิตภัณฑ์ ประกันภัยสุขภาพอื่น ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและลดความเข้าใจผิด นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบและควบคุมการขายประกันภัยสุขภาพ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลของตัวแทนประกันภัย เพื่อป้องกันการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนและการกดดันผู้บริโภคในการตัดสินใจ โดยสำนักงาน คปภ. และสภาผู้บริโภคจะร่วมกันหารือเกี่ยวกับการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ เพื่อป้องกันการตั้งราคาสูงเกินจริง และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ขอขอบคุณทุกฝ่าย ที่ร่วมกันหารือและจะนำข้อเสนอแนะทั้งหมดมาพิจารณา เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เป็นประโยชน์ ต่อผู้บริโภคในอนาคตต่อไป" รองเลขาธิการ ด้านกำกับธุรกิจประกันภัย กล่าวในตอนท้าย


ข่าวคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย+ธุรกิจประกันภัยวันนี้

คปภ. ผนึกกำลังจังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย ทีดีอาร์ไอ จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่งถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย"

คปภ. ผนึกกำลังจังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย ทีดีอาร์ไอ จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่งถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย" Kick off พื้นที่ต้นแบบความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ พ.ร.บ. ปี 2568 พร้อมจัดเวทีเสวนาถอดรหัส ถนน 304 เสนอบังคับใช้ กม. ออกมาตรการลดเสี่ยง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) จังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่ง ถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย" ภายใต้