"ยะลา" เป็นพื้นที่พหุสังคม ที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนา ทั้งยังเป็นพื้นที่ซึ่งเคยเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ทว่าเมืองยะลาก็สามารถพัฒนาสู่เมืองสุขภาวะ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งยังตั้งเป้าลดภาวะโลกร้อน ลดอุณหภูมิของเมืองปีละ 2 องศา ภายใต้ผู้นำที่ชื่อว่า นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา หนึ่งในวิทยากรงาน Active City Forum: Activate City for Healthier Life "ขยับเมือง ขยับชีวิต"
ความโดดเด่นของเมืองยะลา ซึ่งสามารถจัดการพื้นที่สีเขียวที่มีถึง 17 ตารางเมตรต่อคน เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะนำให้เมืองควรมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตรต่อคน นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงสุขภาวะของประชาชน
การเปิดพื้นที่และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดให้มีสภาประชาชน และลงพื้นที่พบปะประชาชน เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ โดยคำนึงถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้ แม้ในช่วงที่เกิดความไม่สงบ เมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย ก็ปรับกลยุทธ์เป็นการฟื้นฟูเมืองในหลายด้าน โดยใช้ต้นทุนที่มีอยู่ จากการเป็นเมืองที่มีผังเมืองที่ดี พื้นที่สีเขียว ดินที่อุดมสมบูรณ์ที่ทำให้ผลไม้ยะลามีรสชาติดี รวมถึงต้นทุนทางการศึกษาและวัฒนธรรมจากความเป็นพหุสังคมของทั้งคนไทย คนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยมลายูมุสลิม
"เรามองเมืองในอนาคตว่าต้องแข่งขันด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ทุนมนุษย์ และระบบการสื่อสาร เราจึงพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ซึ่งยะลาก็อยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวและเสริมว่าล่าสุดทางเทศบาลนครยะลาได้จัดซื้อที่ดิน 150 ไร่นอกเขตเทศบาล เพื่อชดเชยการเติบโตของเมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎควบคุมความสูงของอาคารที่อยู่ใกล้พื้นที่สาธารณะไม่ให้สูงเกิน 15 เมตร ป้องกันปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island) ในย่านกลางเมือง ผลจากการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรในเขตเทศบาลเมืองยะลา ที่แต่เดิมชอบทำกิจกรรมและออกกำลังกายกลางแจ้งอยู่แล้ว ยิ่งมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่องาน Active City Forum นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เมืองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทุกอย่างเริ่มต้นที่เมือง ที่ผ่านมารัฐส่วนกลางยังเข้าใจผิดเพราะใช้ส่วนภูมิภาคในการดำเนินการ ฉะนั้นถ้าเมืองมีความเข้มแข็ง มีความเข้าใจ จะทำให้เมืองมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เข้าใจว่าหน้าที่ของเมืองต้องเอื้อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี (Well Being) ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต
ทั้งนี้ งาน Active City Forum: Activate City for Healthier Life ได้รับความร่วมมือจาก สสส. we!park และภาคีจัดขึ้นวันที่ 21-23 มีนาคม 2568 ที่ห้าง EMSPHERE ชั้น G จะมีการนำเสนอแนวคิดและตัวอย่างการพัฒนาเมืองจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ โดยนายกฯ เมืองยะลา จะมาร่วมเสวนาในหัวข้อความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในเมือง อันนำไปสู่เมืองสุขภาพดี ในวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2568 เวลา 13.00-14.30 น.ร่วมกับวิทยากรอีก 4 คน ได้แก่ 1) Dr.Matt Benson จาก Think City International ประเทศมาเลเซีย 2) น.ส.อิสริยา เฉลิมศิริ นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนระดับชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ 3) น.ส.จินนา ตันศราวิพุธ จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่จะกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเมืองที่ส่งเสริมสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน นับเป็นโอกาสสำคัญ ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้แนวทางการพัฒนาเมืองให้เอื้อต่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือ ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงานได้ที่ https://www.ticketmelon.com/thaimice หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook: https://www.facebook.com/wecreatepark/
จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ที่เกิดจากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 36 ปี บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA ตระหนักถึงความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน จึงได้จัดทำโครงการ "TOA ไม่ทิ้งกัน สู้ภัยน้ำท่วม" โดยร่วมกับเทศบาลนครยะลา โดย นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา, กอ.รมน.ภาค 4 สน.
สกสว.ยื่นมือแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ เกษตรกรใต้เสียหายหนัก 4 แสนล้านบาท
—
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางก...