อาจารย์วารสารฯ มธ. แนะ "สื่อ" นำเสนอข่าวเซนซิทีฟต้องสร้างวิจารณญาณ มากกว่าปลุกเร้าอารมณ์ร่วม

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

อาจารย์วารสารฯ มธ. แนะ "สื่อ" นำเสนอข่าวเซนซิทีฟต้องสร้างวิจารณญาณ มากกว่าปลุกเร้าอารมณ์ร่วม หนุนแนวทางสร้างปัญญา ที่มาพร้อมการเสิร์ฟข่าวไว กระตุ้นการเสพข่าวสารอย่างเท่าทัน

อาจารย์วารสารฯ มธ. แนะ "สื่อ" นำเสนอข่าวเซนซิทีฟต้องสร้างวิจารณญาณ มากกว่าปลุกเร้าอารมณ์ร่วม

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แนะหลักการนำเสนอข่าวในยุคที่แข่งขันการนำเสนอข่าวด้วยความรวดเร็ว และใช้ข้อมูลที่แตกต่าง ชูแนวทางการใช้สื่อเพื่อสร้างสังคมแห่งปัญญา โดยไม่กระตุ้นอารมณ์หรือสร้างความเข้าใจผิดในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เช่น ข่าวสิทธิมนุษยชนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชี้การนำเสนอข่าวต้องยึดหลักการเป็นกลางและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ตรวจสอบข้อเท็จจริง และหลีกเลี่ยงการใส่อารมณ์ที่อาจกระตุ้นความรู้สึกหรืออคติ เพื่อให้ผู้รับสารสามารถตัดสินใจด้วยวิจารณญาณที่สมดุล พร้อมแนะการใช้ระบบแฟคเช็คในการตรวจสอบก่อนนำเสนอข่าว จะช่วยยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ โดยเฉพาะข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคมสูง เช่น ข่าวอาชญากรรม หรือเหตุการณ์สำคัญระดับชาติ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้รับสารเปิดรับข่าวสารจากหลายแหล่งและใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวที่กระตุ้นอารมณ์ อาจารย์วารสารฯ มธ. แนะ "สื่อ" นำเสนอข่าวเซนซิทีฟต้องสร้างวิจารณญาณ มากกว่าปลุกเร้าอารมณ์ร่วม

นายกมลวัฒน์ ประพฤติธรรม อาจารย์พิเศษประจำโครงการวารสารศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ (B.J.M.) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในสังคมปัจจุบัน ข่าวสารสามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่าย และสื่อมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน แต่มักพบว่ามีการเสนอข่าวที่กระตุ้นอารมณ์หรือสร้างความเข้าใจผิด โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความละเอียดอ่อน เช่น สิทธิมนุษยชน การทูต หรือข้อพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การรับข่าวสารอย่างมีอคติหรือมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนั้น การนำเสนอข่าวจึงควรคำนึงถึงหลักจรรยาบรรณและการทำข่าวอย่างเป็นกลาง เพราะในสังคมยุคนี้เมื่อผู้รับสารมีแนวโน้มเลือกเสพข่าวที่สอดคล้องกับความเชื่อ สื่อมักผลิตข่าวสารเพื่อตอบสนองความเชื่อและความคาดหวังเหล่านั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดการสะท้อนอารมณ์ที่เกินความจำเป็น การรายงานข่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใส่อารมณ์ที่อาจกระตุ้นความรู้สึกหรืออคติ โดยเฉพาะประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อให้ประชาชนสามารถพิจารณาและตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

"ยกตัวอย่าง กรณีการรายงานข่าวเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ สื่อที่นำเสนอข่าวในลักษณะที่ไม่ให้ข้อมูลครบถ้วน อาจทำให้ผู้รับสารที่ไม่ทราบข้อมูลทั้งหมดและรู้สึกมีอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น และการนำเสนอข่าวที่เต็มไปด้วยความเอนเอียง (Bias) จะส่งผลต่อการรับรู้ของผู้รับสาร เนื่องจากข่าวที่ถูกนำเสนอส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาแรกมาจากสื่อตะวันตกที่มีทัศนคติและมุมมองต่อประเด็นนี้อย่างชัดเจน หากสื่อไทยนำเสนอข่าวโดยไม่พิจารณาความหลากหลายของมุมมอง หรือไม่ได้รับข้อมูลที่มีความเป็นกลาง อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและอคติในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่รู้จักชาวอุยกูร์ ความเข้าใจผิดอาจทำให้ผู้รับสารมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องได้ และสำหรับผู้ที่รู้จักชาวอุยกูร์บ้างแล้ว การนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ยิ่งเป็นการเติม 'เชื้อเพลิง' ให้กับความขัดแย้งและสร้างความแตกแยกในสังคม ดังนั้น สื่อควรใช้วิธีการนำเสนอข่าวที่เป็นกลางโดยการหาข้อมูลจากแหล่งที่มาที่หลากหลาย รวมถึงการแสดงข้อเท็จจริงจากหลากมุมมอง เพื่อให้ประชาชนได้รับความเข้าใจที่ครบถ้วนและสามารถตัดสินใจได้ด้วยวิจารณญาณที่ดี"

นายกมลวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำเสนอข่าวที่ดียังควรยึดหลักความเป็นกลางและอ้างอิงข้อมูลจากหลายแหล่งอย่างรอบด้าน อีกทั้งการสะท้อนมุมมองที่แตกต่างยังจะช่วยให้ผู้รับสารได้รับข่าวที่เข้าใจประเด็นต่าง ๆ ได้ดีขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการนำเสนอข่าวคือ การใช้ภาษาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการกระตุ้นอารมณ์เกินความจำเป็น เนื่องจากภาษาของสื่อมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้รับสารอย่างมาก โดยเฉพาะในข่าวที่มีเนื้อหาที่ละเอียดอ่อน เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวความรุนแรง หรือข่าวการสูญเสีย ต้องเลือกใช้คำศัพท์และโทนเสียงที่เหมาะสม รวมทั้งนักข่าวไม่ควรตั้งคำถามที่ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ต้องตอบด้วยอารมณ์หรือสร้างความสะเทือนใจ เช่น การถามถึงความรู้สึกหลังเกิดเหตุร้ายหรือความสูญเสีย หรือการเล่าเรื่องที่เน้นสร้างอารมณ์มากกว่าการนำเสนอข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่สะท้อนความจริงในแง่ของเหตุการณ์ แต่กลับสะท้อนความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวโดยตรง ทั้งนี้ การนำเสนอข่าวอย่างเป็นกลางและปราศจากอารมณ์ที่ไม่จำเป็น ไม่เพียงช่วยป้องกันไม่ให้สื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความขัดแย้ง แต่ยังช่วยส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคมอีกด้วย

"ในด้านข้อจำกัดของการนำเสนอข่าวในปัจจุบันยังคงมีอยู่หลายประการ เช่น เรื่องข้อมูลที่ยากที่จะพิสูจน์หรือข้อมูลที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน สิ่งนี้สามารถนำระบบแฟคเช็ค (Fact-Checking) หรือ ระบบตรวจสอบข้อเท็จจริง มาใช้ได้ จะช่วยให้ข่าวที่เผยแพร่ไปสู่สาธารณะมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ข่าวยังใหม่และข้อมูลยังไม่ได้รับการยืนยัน นักข่าวจะต้องนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาด้วยข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ได้และหลีกเลี่ยงการเติมรายละเอียดที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน และในกรณีสำคัญอย่างข่าวที่มีผลกระทบสูง เช่น ข่าวอาชญากรรม หรือเหตุการณ์สำคัญระดับชาติ การใช้ระบบแฟคเช็คเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูลเป็นวิธีที่สามารถช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของข่าวปลอมและช่วยให้สื่อสามารถรักษามาตรฐานการนำเสนอข่าวที่มีคุณภาพได้

ในส่วนของการเรียบเรียงการนำเสนอข่าว สื่อมวลชนควรตัดประเด็นที่ลึกซึ้งและไม่สามารถยืนยันได้ออกไป ก่อนที่จะนำเสนอเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากต้องรับผิดชอบต่อการเผยแพร่ข้อมูลและต้องมั่นใจว่าเมื่อข้อมูลออกไปสู่สาธารณะแล้ว การนำเสนอข่าวนั้นจะสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้รับสารได้ โดยไม่ทำให้เกิดความสับสนหรือการแพร่กระจายของข่าวปลอม"

นอกจากนี้ ในด้านการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา และครอบคลุมหลายมิติของเรื่องราว ทำให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์และข่าวที่เจาะลึก ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถแยกแยะข้อเท็จจริงจากการตีความที่ผิดพลาดได้ ตัวอย่างเช่น กรณีข่าวน้ำเสียที่บางครั้งการนำเสนอข่าวเริ่มต้นด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยการระบุว่าน้ำเสียมาจากโรงงานทั้งที่ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจน เมื่อมีข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องปรากฏขึ้น ผู้รับสารอาจไม่ได้ติดตามหรือมักจะไม่กลับมาดูข่าวใหม่ที่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ส่งผลให้ความเข้าใจผิดของประชาชนในสังคมยังคงแพร่กระจายอยู่ ดังนั้น สื่อควรนำเสนอข่าวด้วยความละเอียดรอบคอบ และเน้นการให้ข้อมูลจากหลายมุมมองเพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจและประเมินข่าวสารได้อย่างมีเหตุผล

ทั้งนี้ การที่ผู้รับสารสามารถเท่าทันอารมณ์ของตนเองขณะเสพข่าวเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับข่าวที่มีความละเอียดอ่อน การตั้งสติและตั้งคำถามว่า 'ข่าวนี้จริงหรือไม่' เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ก่อนจะตัดสินใจเชื่อข่าวนั้น โดยไม่ให้ความรู้สึกส่วนตัวหรือความตื่นเต้นจากข่าวมาครอบงำเหนือเหตุผล การรอคอยและประเมินข่าวอย่างมีสติจะช่วยหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของข่าวที่จงใจสร้างกระแส กระตุ้นอารมณ์หรือสร้างอคติ นอกจากนี้ การเปิดรับข่าวสารจากหลายด้าน และการใช้ระบบแฟคเช็คเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง จะช่วยให้ประชาชนสามารถประเมินข่าวสารได้อย่างรอบคอบและมีเหตุผลมากขึ้น

"สุดท้าย การทำข่าวควรมุ่งเน้นที่การให้ข้อมูลอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย แต่อย่าให้ความสนุกหรือความตื่นเต้นมาเป็นปัจจัยหลักในการนำเสนอข่าว เพราะอาจทำให้ข่าวนั้นเสียความหมายหรือบิดเบือนเนื้อหาไปจากความเป็นจริง ในทางกลับกันการเสพข่าวสารในยุคนี้ไม่ใช่แค่การรับข้อมูล แต่เป็นการพัฒนาวิธีคิดและวิจารณญาณที่ดี เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลที่มีอคติและอารมณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงยึดมั่นในแนวทางการศึกษาที่เสริมสร้างความเข้าใจและการคิดเชิงวิพากษ์ให้กับประชาชน เพื่อสร้างสังคมที่มีความรอบรู้และมีสติในการบริโภคข่าวสาร" นายกมลวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย


ข่าวคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน+มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันนี้

"ซีพี ออลล์" ร่วมรำลึกพระคุณครู ต่อเนื่องปีที่ 17 จัดเสวนา พร้อมเปิดตัวโฆษณา "เชิดชูครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง"

บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ จัดงาน "รำลึกพระคุณครู" เนื่องในโอกาสวันครูแห่งชาติ ประจำปี 2568 โดยทางซีพี ออลล์ ได้จัดขึ้นทุกวันที่ 16 มกราคมของทุกปี ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 17 พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา "เชิดชูครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง" เพื่อสะท้อนจิตวิญญาณของความเป็นครู ภายในงานยังได้จัดเสวนาในหัวข้อ ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยมี รศ.ดร.นันทพร วงษ์เชษฐา อาจารย์พิเศษคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ครูนกเล็ก-จีรภัทร์ สุกางโฮง ครูระดับชั้นประถม

เปิดหลักสูตรด้านการรู้เท่าทันสื่อ เพิ่มขี... TU-RAC เตรียมความพร้อมครูไทย (ระดับประถมศึกษา) ในโลกยุคดิจิทัล — เปิดหลักสูตรด้านการรู้เท่าทันสื่อ เพิ่มขีดความสามารถเด็กไทย ฉลาดทันสื่อ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ...

สมาคมวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ขอเชิญศิษย์เ... สมาคมวารสาร มธ. ชวนวิ่งการกุศล "JC Virtual Run 2022 วิ่งแบ่งปันเพื่อเธอ" — สมาคมวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ขอเชิญศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้ที่สนใจเข้าร่ว...

Bidmath ในฐานะผู้นำที่ให้คำปรึกษาด้านการท... Bidmath ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งเสริมการศึกษาด้านเทคโนโลยีและข้อมูล — Bidmath ในฐานะผู้นำที่ให้คำปรึกษาด้านการทำโฆษณาและให้ข้อมูลแบบ Programmati...

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยขอแสดงความยินดีกับศ... ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแต่งตั้งคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย — มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยขอแสดงความยินดีกับศาสตราจารย์คนใหม่ คณะนิเทศศาสตร์รองศาสตราจารย์ ด...

มนต์ฤดี อัครราช (กลาง) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่... ภาพข่าว: โออิชิ กรุ๊ป สนับสนุนการศึกษา — มนต์ฤดี อัครราช (กลาง) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการศึกษา...