ศิริราชกับความสำเร็จระดับโลก ครั้งแรกในการผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคล

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

ศิริราชกับความสำเร็จระดับโลก
ครั้งแรกในการผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคล
ด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติในโรงพยาบาล และใช้ในผู้ป่วยจริงได้สำเร็จ

ศิริราชกับความสำเร็จระดับโลก ครั้งแรกในการผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคล

น. ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานในงานแถลงข่าวครั้งแรกของโลก ศิริราชสามารถผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคล ด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติในโรงพยาบาล และใช้ในผู้ป่วยจริงได้สำเร็จ (World First: Siriraj Achieves Breakthrough in Point-of-Care Manufacturing of 3D-Printed Titanium Hip Sockets with Proven Clinical Success) โดยมี คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.มหิดล รศ. นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล พร้อมด้วย รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ ผศ. ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร หัวหน้าโครงการฯ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ร่วมงาน ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G โรงพยาบาลศิริราช ศิริราชกับความสำเร็จระดับโลก ครั้งแรกในการผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคล

โรคข้อสะโพกเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดจากการที่ผิวข้อสะโพกถูกทำลายจากหลายปัจจัย อาทิ ผู้ป่วยใช้ร่างกายอย่างหนักเป็นเวลานาน สะโพกผิดรูปแต่กำเนิด เกิดการติดเชื้อ รวมถึงมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการปวดในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย หรือบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ให้ผลการรักษาที่ดี ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวมีข้อจำกัดสำคัญ นั่นคือ ผู้ป่วยต้องมีกระดูกเบ้าสะโพกที่สมบูรณ์เพื่อให้ข้อสะโพกเทียมสามารถยึดติดได้อย่างมั่นคงในระยะยาว แต่ในกรณีที่มีอาการกระดูกเบ้าสะโพกแตกหรือสึกกร่อนร่วมด้วยนั้น ผู้ป่วยจะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ข้อเทียมชนิดปกติ อาจจะต้องยอมรับภาวะทุพพลภาพ ดังนั้น นวัตกรรมการผลิตสามมิติเฉพาะบุคคลจึงเป็นทางออกที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเทคโนโลยีนี้จะสามารถผลิตกระดูกเบ้าสะโพกเทียมที่เฉพาะเจาะจงกับบุคคลนั้นๆ เพื่อใช้ทดแทนกระดูกเบ้าสะโพกที่แตกหรือสึกกร่อน

ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคลจากไททาเนียมของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ว่า "ตลอดระยะเวลา 137 ปี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมให้ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับสากลตามพันธกิจหลักที่วางไว้ โดยในปีที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้จับมือกับ บริษัท เมติคูลี่ จำกัด พร้อมทั้งยังได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดตั้ง บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์สามมิติเฉพาะบุคคล นำมาใช้ร่วมกับกระบวนการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิตอล เพื่อให้การผ่าตัดที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุด

และในวันนี้โครงการดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ ศิริราชเป็นแห่งแรกในโลกที่มีการผลิตไททาเนียม สามมิติขึ้นภายในในโรงพยาบาล (Siriraj Faculty of Medicine is The First Factory in a Box at Hospital Point-of-Care in The World) โดยได้มีการนำไปใช้ในผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก และในอนาคตนวัตกรรมดังกล่าวจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องได้รับกระดูกทดแทนที่มีความเฉพาะเจาะจง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น พร้อมทั้งยังยกระดับวงการแพทย์ให้ก้าวไกลมากกว่าเดิม"

ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า "ตลอดกระบวนการรักษาด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคลใช้ระยะเวลาโดยประมาณ 2 สัปดาห์ เริ่มจากทำ CT Scan เพื่อให้ทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและวิศวกรจากบริษัท ออส ทรีโอ จำกัด นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ออกแบบกระดูกเบ้าสะโพกเทียมให้เหมาะกับผู้ป่วย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงตำแหน่งของเนื้อเยื่อและเส้นประสาทเป็นสำคัญ จากนั้นจึงทำการผลิตชิ้นส่วนจำลอง ก่อนเริ่มผลิตชิ้นส่วนจริงด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคล แล้วจึงนำไปใช้กับผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัด ซึ่งความก้าวหน้าของนวัตกรรมในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยที่เคยหมดหวังสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการแพทย์ไทย ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน"

นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนพื้นที่ติดตั้งเครื่องพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคลจากศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โดย รศ. นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า "นวัตกรรมการพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคลเป็นเทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนที่มีความซับซ้อนในการรักษา ในฐานะที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงให้การสนับสนุนพื้นที่ขนาด 60 ตารางเมตร ในการจัดตั้งเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต พร้อมทั้งยังผลักดันให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจนวัตกรรมดังกล่าว โดยผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ Facebook : ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล"


ข่าวคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล+อภิชาติ อัศวมงคลกุลวันนี้

ศิริราชมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2566 และ 2567 ให้แก่ นพ.มนตรี หนองคาย และ นพ.วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จัดงานประกาศผลพร้อมมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2566 และ 2567 โดยมี ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ผศ. นพ.สมุทร จงวิศาล ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท นพ.มนตรี หนองคาย แพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2566 และ นพ.วรวุฒิ พัฒนโภครัตนา แพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2567 ร่วมด้วย ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จัดตั้ง "รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท" ตั้ง

ศิริราชพยาบาล จัดกิจกรรม วันไตโลก ปี 2568

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ขอเชิญประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมวันไตโลก ปี 2568 "หมั่นดูแลไต ใส่ใจคัดกรอง ป้องกันโรคไต" ในวันพุธที่ 12 มีนาคม 2568 เวลา 09.00 15.30 น. ณ โถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ โรงพยาบาลศิริราช โดยมี ศ. นพ.อภิชาติ...

คณะผู้บริหารและทีมงานจากคณะแพทยศาสตร์ศิริ... เพอเซ็ปทรา โชว์ศักยภาพ AI ทางการแพทย์ในงานประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (PMAC) 2025 — คณะผู้บริหารและทีมงานจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยา...