ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผย ดัชนีความเชื่อมันผู้ค้าปลีก (RSI - Retail Sentiment Index) เดือนมิถุนายนปรับลดลงต่อเนื่อง New Time Low ในรอบ 42 เดือน สะท้อนภาพกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง ขณะที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนชะลอการลงทุน เพื่อรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐอย่างเป็นรูปธรรม สมาคมฯ จึงขอเสนอ 2 แนวทางเร่งด่วน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ให้สามารถเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า "ครึ่งปีแรกที่ผ่านมาภาคค้าปลีกต้องเผชิญแรงกดดัน รอบด้าน ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง การบริโภคที่ชะลอตัว การลงทุนที่ลดลง และปัจจัยภายนอก อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยลดลง นโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าไทยจะสามารถเจรจาให้ลดลงต่ำกว่า 36% หรือใกล้เคียงกับประเทศในแถบเอเชียอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กในธุรกิจที่ต้องเปิดเสรี ได้หรือไม่ ซึ่งมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและการจ้างงานในระบบ รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ล้วนส่งผลต่อบรรยากาศการจับจ่ายและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือนมิถุนายนยังคงปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ ทุกภูมิภาค ทั้งยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ ความถี่ในการใช้จ่าย โดยคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 3 สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวและระมัดระวังในการจับจ่าย ถึงแม้จะมีสัญญานบวกจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ยังขาดเสถียรภาพทางการเมืองที่ชัดเจน ขณะที่ภาคเอกชนเฝ้ารอการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ และต้องการเห็นมาตรการฟื้นฟูที่ลงมือปฏิบัติได้จริงใน ช่วงครึ่งปีหลัง
สมาคมฯ จึงขอเสนอแนวทาง 2 แกนหลัก เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาสำคัญ ได้แก่
1. อัดฉีดเม็ดเงินรัฐอย่างตรงจุด เพื่อฟื้นกำลังซื้อทั่วประเทศ
- เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านงบล็อตแรก 1.15 แสนล้านจากกรอบงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน โดยควรกระจายการลงทุนครอบคลุมทั่วประเทศ ในด้านท่องเที่ยวควรเร่งมาตรการความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมกันนี้รัฐควรจัดสรรงบคงเหลืออีก 40,000-50,000 ล้านบาท เพื่อมุ่งกระตุ้นกำลังซื้อฐานรากให้มากขึ้นกว่านี้ และช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งมีมากกว่า 90% ของภาคธุรกิจทั้งหมด ครอบคลุม 50-70% ของการจ้างงานโดยรวม ผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
- ผลักดันโครงการ "Easy e-Receipt เฟส 2" หรือช้อปดีมีคืน ช่วงระหว่างกันยายน-ธันวาคมนี้ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในฤดูไฮซีซั่นและเทศกาลเฟสทีฟต่างๆ พร้อมดึงผู้ค้ารายย่อยเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเป็นธรรม โดยเสนอให้มีการ ปรับเงื่อนไขให้เข้าร่วมได้สะดวกขึ้น ด้วยการรวมสินค้าทั่วไปและสินค้า OTOP รวมถึงเพิ่มเติมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในวงเงินรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ มากกว่า 100,000 ล้านบาท จากเดิมราว 70,000 ล้านบาท
- เร่งเบิกจ่ายงบปี 2568 ให้แล้วเสร็จก่อน 30 ก.ย. 68 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดปีงบประมาณ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว พร้อม จัดทำร่างงบประมาณรายจ่าย ปี 2569 ให้เป็นไปตามกรอบเวลา เพื่อความต่อเนื่องของนโยบายและการดำเนินการอย่างราบรื่น
2. ดันแม่เหล็กท่องเที่ยวผ่าน Thailand Shopping Paradise ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ
- ทดลองมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทันที ณ ร้านค้า (Instant Tax Refund) สำหรับนักท่องเที่ยวที่มียอดซื้อ ขั้นต่ำ 3,000 บาท โดยอาจเริ่มจากร้านค้าสมาชิกในย่านช้อปปิ้งหลักของกรุงเทพฯ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
- ลดภาษีนำเข้า (Import Tax) สำหรับสินค้าในกลุ่ม แฟชั่น เสื้อผ้า น้ำหอม และเครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 20-30% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และลดแรงจูงใจในการซื้อสินค้าจากตลาดสีเทา
- พิจารณาจัดตั้งเขตปลอดภาษี (Free Tax Zone) ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และส่งเสริมการกลับมาเที่ยวซ้ำในระยะยาว
- จัดมหกรรมลดราคาสินค้าทั่วประเทศ ในรูปแบบเดียวกับ "Great Singapore Sale" (งานสิงคโปร์ลดทั้งเกาะ) โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างห้างค้าปลีก ร้านอาหาร โรงแรม และผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างบรรยากาศจับจ่ายทั่วประเทศ เป็นต้น
- เสนอขยายระยะเวลาวีซ่าของนักท่องเที่ยวรัสเซียจาก 30 วัน เป็น 45 วัน หลังสิ้นสุดโครงการเดิม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและกระจายรายได้ในภาคการท่องเที่ยว โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวจากรัสเซียถือเป็นกลุ่มคุณภาพที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงและมักนิยมพำนักระยะยาวในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทางภาครัฐกำลังดำเนินการในด้าน การปราบปรามธุรกิจ "นอมินี" สวมสิทธิ์โดยชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม และซูเปอร์มาร์เก็ต และการคุมเข้ม "สินค้านำเข้าราคาถูกไม่ได้มาตรฐาน" ทางสมาคมฯ มองว่ารัฐมาถูกทางและเริ่มเห็นผลลัพธ์บ้างแล้ว แต่ขอเสนอให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง
ทั้งนี้นอกจากมาตรการฟื้นเศรษฐกิจที่ทางสมาคมฯ พร้อมที่จะร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมแล้ว ทางด้านบทบาทของสมาคมฯ ยังให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และส่งเสริมค้าปลีกสีเขียว (Green Retail) โดยร่วมกับสมาชิกในเครือข่ายจัดโครงการ "Hug The Earth" (ฮักโลก) เพื่อรณรงค์การบริโภคอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจัดพื้นที่จำหน่าย "สินค้าฉลากรักษ์โลก" มากกว่า 20,000 รายการทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ สมาคมฯ ยังเดินหน้าเพิ่มโอกาส สร้างรายได้ ให้ผู้ประกอบการรายย่อยทั้งในกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีและเอสเอ็มอี ทั่วประเทศ ผ่านความร่วมมือกับห้างร้านกลุ่มค้าปลีกชั้นนำ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล จัดงานมหกรรมจำหน่ายสินค้าชุมชน, เดอะมอลล์ จัดเทศกาลผลไม้และของกินจากร้านดังทั่วไทย, โก โฮลเซลล์ เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้า OTOP จากทั่วประเทศ, ซีพี แอ็กซ์ตร้า จัดงานแม็คโคร โชห่วยออนทัวร์รวมมิตร เสริมศักยภาพร้านโชห่วยไทย, บิ๊กซี จัดเทศกาลผลไม้ไทย และท็อปส์ จัดโซนจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเชื่อว่าหากรัฐบาลผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีศักยภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ควบคู่กับความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งและเติบโต อย่างยั่งยืน.