นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกประเภท รวมทั้งการกวดขันไม่ให้จำหน่ายยาเสพติด สารเสพติดและควบคุมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยาเสพติดทุกประเภทบริเวณโดยรอบโรงเรียนสังกัด กทม. ว่า สนศ. ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยเฉพาะสถานการณ์ทางสังคมที่มีการจำหน่ายยาเสพติดในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น เยลลี่กัญชา ยาเสพติดที่มีลักษณะคล้ายตัวการ์ตูน หรือ Art Toy ยาเสพติดในรูปแบบขนมที่อาจดึงดูดความสนใจของเด็กและเยาวชน โดย กทม. ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกที่โรงเรียนในสังกัด ประกอบด้วย การตรวจสอบและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ สำนักงานเขต เจ้าหน้าที่เทศกิจในพื้นที่ เพื่อตรวจตราพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียนอย่างเคร่งครัดและระมัดระวังการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การเฝ้าระวังในช่วงเวลาเสี่ยง การตั้งจุดตรวจกระเป๋านักเรียนในช่วงเวลาเช้าและสอดส่องดูแลในช่วงเย็นที่นักเรียนเดินทางไปและกลับจากโรงเรียน เพื่อลดความเสี่ยงการเข้าถึงยาเสพติด ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องกันที่จำเป็นสำหรับพื้นที่โดยรอบโรงเรียนที่อาจเกิดการลักลอบจำหน่ายยาเสพติด รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย หากพบเห็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด สนศ. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมาย โดยไม่ให้ลักลอบจำหน่าย หรือกระทำผิดทางยาเสพติดเกิดขึ้นในพื้นที่โรงเรียนโดยเด็ดขาด และการดูและช่วยเหลือนักเรียนระหว่างที่อยู่ในโรงเรียน ครูที่ปรึกษาและครูที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนสอดส่องดูแลติดตามสถานการณ์และประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หากมีนักเรียนที่แสดงอาการเสี่ยง หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่จะใช้ยาเสพติด หรือเข้าถึงเยลลี่กัญชา ยาเสพติดที่มีลักษณะคล้ายตัวการ์ตูน หรือ Art Toy โดยอาจรู้เท่าทันหรือไม่ก็ตาม จะให้คำปรึกษาจากครูที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา หรือในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจะประสานส่งนักเรียนไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ หรือโรงพยาบาล เพื่อรับการดูแลต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังวางแนวทางป้องกันและดูแลนักเรียนจากการเข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดในโรงเรียนในสังกัด กทม. โดยดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ การติดตามพฤติกรรมนักเรียนอย่างใกล้ชิด โดยครูประจำชั้นจะติดตามและสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิต เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้การตัดสินใจที่ดีและป้องกันการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด อีกทั้งส่งเสริมการสร้างสำนึกในตัวนักเรียนให้มีความเข้าใจถึงผลกระทบของการใช้ยาเสพติด การพิจารณาลงโทษอย่างเหมาะสม หากพบการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจะลงโทษตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อย่างเป็นธรรม โดยจะพิจารณาจากลักษณะการกระทำผิดและพฤติกรรมของนักเรียน พร้อมทั้งจัดการดูแลและให้ความช่วยเหลือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้นักเรียนสามารถฟื้นฟูตัวเองและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนการให้ความช่วยเหลือและการปรับพฤติกรรม โรงเรียนได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย เพื่อให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษากับนักเรียนที่มีปัญหาด้านยาเสพติด ทั้งด้านการบำบัดและการฟื้นฟูพฤติกรรม เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวและกลับมามีชีวิตที่มีคุณภาพ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีโอกาสเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ดีขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการเข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีการเสริมสร้างความรู้และความตระหนักให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเกี่ยวกับพิษภัยและโทษของยาเสพติดทุกประเภทผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับช่วงวัย รวมถึงสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนสอดส่องดูแลพฤติกรรมของนักเรียนอย่างใกล้ชิด โดยจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนเข้าใจถึงพิษภัยและโทษของยาเสพติด ผ่านหลักสูตรที่สอดแทรกในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและกิจกรรมพิเศษ เช่น การจัดโครงการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก จัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิต เพื่อส่งเสริมทักษะการตัดสินใจที่ดี เช่น การเสวนา การแข่งขันวาดภาพ หรือการทำสื่อรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การจัดประกวดนวัตกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมทั้งสนับสนุนให้โรงเรียนร่วมกับหน่วยงานภายนอกจัดกิจกรรมเสริมทักษะและความรู้ให้แก่นักเรียนเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และมีส่วนร่วมเรียนรู้และสร้างสรรค์วิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหายาเสพติด ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการติดตามพฤติกรรมของนักเรียน โดยโรงเรียนจะประสานกับผู้ปกครองและชุมชนสอดส่องดูแลการดำเนินชีวิตของเด็กนักเรียนอย่างใกล้ชิด จัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดและกระตุ้นให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมป้องกันการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยขอความร่วมมือผ่านการประชุมผู้ปกครองและกลุ่มไลน์ของชั้นเรียนโดยมีครูที่ปรึกษาเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนได้รับการศึกษาและการดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัด กทม. ปลอดภัยจากยาเสพติดทุกประเภทและสามารถเติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพในสังคมได้อย่างมั่นคง