"CBS Cafe by PTG สาขาแรก เกิดจากวิสัยทัศน์และความตั้งใจของ คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTG และท่านคณบดี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการสร้างต้นแบบการเรียนรู้โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติแบบ CBS's Mastering-based Learning ภายใต้การสนับสนุนอย่างมากจาก PTG ทำให้ CBS มั่นใจและมุ่งมั่นที่จะเป็นมากกว่า Business School ด้วยการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยแรกของโลก ที่พร้อมจะเป็น The Real Business in The Schools" รศ.ศรัณย์ ชูเกียรติ ประธานกรรมการ บริษัท จุฬา บิซิเนส เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด

บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) และบริษัท จุฬา บิซิเนส เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ประกาศความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ผ่านการลงนามสัญญาร่วมทุนจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม ในการพัฒนาต้นแบบการเรียนรู้ธุรกิจร้านกาแฟแบบครบวงจร ภายใต้โครงการ "กิจการร่วมค้า CBS Cafe by PTG" เปิดโอกาสให้นิสิตได้สัมผัสประสบการณ์การดำเนินธุรกิจจริงในทุกมิติ เตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการหรือผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพในอนาคต โดยนำกำไรสุทธิทั้งหมดจากการดำเนินงานไปใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคม สะท้อนความมุ่งมั่นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมควบคู่การพัฒนาศักยภาพของนิสิตอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
นายรังสรรค์ พวงปราง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการเงินและความยั่งยืน บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "วิสัยทัศน์ของ พีทีจี คือการเชื่อมให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงชีวิตที่ 'อยู่ดี มีสุข' ในทุกด้านของชีวิต โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสการเติบโตร่วมกับพันธมิตรและชุมชนในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ พีทีจี ยังร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และการฝึกปฏิบัติงานจริงอย่างต่อเนื่อง สำหรับความร่วมมือกับในครั้งนี้จึงเป็นจุดร่วมของทั้งสององค์กรในการส่งเสริมการศึกษาเชิงปฏิบัติและการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม ต่อยอดสู่การพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน"
รศ.ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ สร้างผู้นำที่มีคุณธรรมและความเชี่ยวชาญ โดยมีเป้าหมายสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยปัญญานวัตกรรมและจิตวิญญาณแห่งการรับใช้สังคม ความร่วมมือกับ พีทีจี ในครั้งนี้จึงสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการปฏิรูประบบการเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถนะของกำลังคนในทุกระดับ พร้อมพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาและวิจัยให้เทียบเท่าระดับสากล"
นายอนันต์ รัตนมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด กล่าวว่า "กิจการร่วมค้า CBS Cafe by PTG นี้ เป็นโมเดลที่ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการที่ผ่านมา เป็นศูนย์การเรียนรู้ธุรกิจแบบบูรณาการที่ผสมผสานระหว่างความเชี่ยวชาญทางธุรกิจจากภาคเอกชนกับองค์ความรู้ทางวิชาการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการดำเนินธุรกิจร้านกาแฟ การกำหนดโครงสร้างองค์กรและระบบบริหารจัดการ รวมไปถึงการจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน และการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นจริง ซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการหรือผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพในอนาคต" นายอนันต์ กล่าวเสริม
รศ.ศรัณย์ ชูเกียรติ ประธานกรรมการ บริษัท จุฬา บิซิเนส เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ภายใต้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการเป็น "The Real Business in the School" เปิดเผยว่า "Chula Business Enterprise (CBE) ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ ผ่านความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่าย ในการนำองค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจของ CBS ที่มีในรั้วมหาวิทยาลัย ไปสร้างกิจการเพื่อสังคม ที่มีโมเดลธุรกิจใหม่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน สำหรับ "กิจการร่วมค้า CBS Cafe by PTG" นับเป็นกิจการเพื่อสังคมแรกของ CBE ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เป็นกิจการเพื่อสังคม ที่มีโมเดลธุรกิจแบบ "Ed-Enterprise" ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับพันธกิจทางการศึกษาในการสร้างต้นแบบของการเรียนรู้แบบ CBS's Mastering-based Learning ที่สร้างประสบการณ์ให้นิสิตได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะจากการดำเนินธุรกิจจริง"
น้องข้าวโอ๊ต ศตพร ดีสมจิตร นิสิตรุ่นพี่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาบอกเล่าความประทับใจที่ได้ร่วมเรียนรู้ธุรกิจกับ CBS Cafe by PTG "การมี Sandbox ให้เราลองทำธุรกิจเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก โครงการนี้จึงเป็นสถานที่ที่ทำให้เราได้เรียนรู้และลองทำ โดยมีที่ปรึกษาเป็นผู้ใหญ่เก่งๆ มากมายคอยช่วยตรวจสอบและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ทำให้เราไม่เสี่ยงเกินไป เรียกได้ว่าเป็นโอกาสที่ไม่ได้หากันง่ายๆ นอกจากนี้ได้มีโอกาสลองทำกาแฟพันธุ์ไทย ได้ไปเรียนฝึกทำกาแฟที่สำนักงาน เราพบว่าแม้แต่การทำกาแฟก็ไม่ง่ายเลย พนักงานต้องละเอียดมากๆ ประสบการณ์นี้ทำให้เราเข้าใจพนักงานมากขึ้น และเป็นรากฐานที่ดีในการเป็นนักธุรกิจในอนาคต เพราะการที่เราเข้าใจ
ตั้งแต่ระดับพนักงานภาคปฏิบัติเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆ และอย่างน้อยต่อให้เราไม่ได้เป็นนักธุรกิจในอนาคต เราก็ได้เป็นพลเมืองที่ดีและเป็นบัณฑิตที่มี Empathy ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน"
น้องบี ณัฐริกา อาจหาญ ศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าประสบการณ์ที่เคยร่วมเรียนรู้ในโครงการฯ นี้ "วิชา Gen Ed เป็นที่ฮอตฮิตที่คนแย่งกันลงเรียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความต้องการของคนรุ่นใหม่คือมีความสนใจด้านธุรกิจ ซึ่งการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงทำให้เราเห็นภาพของทฤษฎีที่เราเรียนมาอย่างชัดเจนมากขึ้น ทำให้เห็นภาพว่ากระบวนการมันเป็นอย่างไร ทฤษฎีต่างๆ สามารถใช้ได้จริงหรือไม่ อย่างประสบการณ์ทำงานที่พันธุ์ไทยเราก็มองว่าคงไม่ง่ายที่จะได้ลองเป็นคน Manage Store ต้นทุน หรือดูระบบหลังบ้าน เรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการสะสมประสบการณ์ แม้ตอนนี้จะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างแต่ในอนาคตมันจะเชื่อมกันเอง ขอบคุณพันธุ์ไทยที่มอบโอกาสดีๆ ให้กับทางคณะและรุ่นน้องของหนู หวังว่าโครงการนี้จะเป็นโอกาสที่ช่วยยกระดับทางการศึกษาที่ดีให้คณะของเราเป็น Real Business School ที่ไม่ใช่แค่เรียนแต่ได้มีโอกาสลงมือทำจริง"
"กิจการร่วมค้า CBS Cafe by PTG นับเป็นการสานต่อเจตนารมณ์และวิสัยทัศน์ที่เริ่มต้นไว้ให้เกิดรูปธรรมและยั่งยืน เป็นต้นแบบของกิจการเพื่อสังคม ในการทำธุรกิจ ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อหวังผลกำไรทางธุรกิจ แต่เป็นการสร้างสรรค์สังคม โดยเฉพาะการเรียนรู้ของเยาวชน ที่จะเป็นกำลังหลักของชาติในอนาคตความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นการร่วมกันดำเนินธุรกิจและสนับสนุนนโยบายให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และเป้าหมายการปฏิบัติงานของกิจการร่วมค้า เช่น การจัดหาและให้การสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน ให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ในการส่งเสริมการศึกษาเชิงปฏิบัติและการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม อันสะท้อนวิสัยทัศน์ของทั้งสององค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป พร้อมนำกำไรสุทธิทั้งหมดจากการดำเนินงานไปใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคม สอดคล้องกับนโยบายของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของนิสิตในทุกมิติอย่างยั่งยืน" รศ.ศรัณย์ กล่าวสรุป